documentary : reinterpretation

A Manchu bride, Beijing (1871-2) / An old Cantonese woman, Guangzhou, 1868-70
photographs by John Thomson

Reinterpretation : documentary photography
ภาพถ่ายสารคดีเชิงวิเคราะห์
การตีความหมายภาพถ่ายสารคดี ตามแนวคิดโพสต์โมเดิร์น
ช่างภาพและกรอบทางวัฒนธรรม


บทความ : ภูมิกมล ผดุงรัตน์ / article : Poomkamol Phadungratna

กำเนิดเทคโนโลยีการถ่ายภาพเปลี่ยนแปลงวิธีการรับรู้ของมนุษย์ ขานรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในสังคมตะวันตก
โครงสร้างสังคมใหม่ก่อให้เกิดชนชั้นกลางขึ้น ขณะชนชั้นสูงและศาสนจักรเสื่อมอำนาจ

ภาพถ่ายกลายเป็นศิลปะราคาถูก ที่ชนทุกชั้นสามารถเข้าถึง

จอห์น ชาเคาสกี้ ( John Szarkowsky )
อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ นิวยอร์ค ( Museum of Modern Art, New York ) เคยกล่าวว่า
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่คนยากจนสามารถมีภาพครอบครัวตนเองเก็บไว้ครอบครอง เพราะ
โลกในยุคก่อนภาพถ่ายต้องว่าจ้างจิตรกรมาเขียนภาพ ซึ่งต้องใช้เงินมาก ภาพถ่ายในยุคเริ่มต้นจึงเปรียบเสมือน
กลไกหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนช่องว่างทางสังคม


นอกจากภาพทิวทัศน์ ภาพของญาติพี่น้อง ผองเพื่อน และคนรัก
ภาพถ่ายจากต่างแดนยังเป็นที่นิยมของชาวตะวันตกสมัยนั้นอีกด้วย นับแต่ปี ค.ศ.1850 ช่างภาพจำนวนมากออก
เดินทางท่องโลก บันทึกสิ่งแปลกตา ในดินแดนห่างไกล ภาพเหล่านั้นกระตุ้นเร้าจินตนาการ ความใฝ่ฝันในโลกที่
มิอาจสัมผัสได้ จนเวลาผ่านเลยภาพถ่ายเหล่านั้นยิ่งเพิ่มคุณค่าทางวิชาการ เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นข้อมูลทาง
มานุษยวิทยา

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เสนอมุมมองที่แตกต่างออกไป
หากวิเคราะห์งานเหล่านี้ในเชิงสังคม วัฒนธรรม มุมมองของศิลปะหลังสมัยใหม่ ( postmodernism ) แน่นอนว่า
คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของภาพสารคดีดังกล่าว มิได้เสื่อมถอยลงแต่ประการใด เพียงแต่แรงขับเคลื่อนทางสังคม
อันก่อให้เกิดผลงานภาพ่าถยเหล่านั้น อาจมิใช่สิ่งที่น่าชื่นชมนัก

ยกตัวอย่าง โครงการภาพถ่ายชนเผ่าพื้นเมืองในออสเตรเลีย ปี ค.ศ.1870
ซึ่งรัฐบาลอังกฤษเป็นผู้ว่าจ้าง ช่างภาพได้รับคำสั่งให้บันทึกชนพื้นเมือง ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง ทุกภาพมี
เครื่องวัดความสูงเป็นฉากหลัง คล้ายรูปติดบัตรประชาชน หรือบันทึกอาชญากรตามสถานีตำรวจ วัตถุประสงค์เพื่อ
การศึกษา เพื่อข้อมูลทางวิชาการ การกระทำเช่นนี้อาจเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ปกครองอาณานิคมจะเก็บข้อมูลของ
ชนเผ่าภายใต้การปกครอง แต่สำหรับมุมมองชาวตะวันตกปัจจุบัน หลายฝ่ายเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และ
เหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างที่สุด

นักคิดโพสต์โมเดิร์นมองว่าศตวรรษที่สิบเก้า ยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการล่าเมืองขึ้น ยุโรปมีความเชื่อมั่น
ในศักยภาพความยิ่งใหญ่ของชนชาติตนเอง การล่าเมืองขึ้นมิใช่ความต้องการขยายอาณาเขต แต่คือการขยายตลาด
ขยายแหล่งทรัพยากร การยึดครองดินแดน ( ของชนชาติอื่น ) คือการสร้างความมั่นคง เพื่อรักษาแหล่งทรัพยากร
นั้นไว้ ทั้งยังปกป้องเส้นทางขนส่งของตน อย่างไรก็ตาม การเข้าครอบครองดินแดนซึ่งอยู่ห่างไกลจำต้องใช้งบประมาณ
จำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องมีเหตุผลพอเพียง ต้องเป็นเหตุผลที่ประชาชนในชาติยอมรับได้ สิ่งนี้เรียกว่าความชอบธรรม

และความชอบธรรมของยุโรปสมัยนั้น คือการสร้างแนวคิดว่าตนกำลังนำความเจริญ
ไปเผยแพร่แก่ชนชาติที่ต่ำต้อยกว่า ชนชาติที่พวกเขาเรียกว่าคนเถื่อน และแนวคิดเช่นนี้ปลูกฝังหยั่งรากลึกมาจนปัจจุบัน

จอห์น พูลท์ซ ( John Pultz ) กล่าวในหนังสือ Photography and the Body
ว่าทางทฤษฎีจิตวิเคราะห์ มนุษย์ต้องอาศัยการเปรียบเทียบเพื่อค้นหาตัวตนของเขาเอง
เช่น เพศชายต้องหาข้อเปรียบเทียบกับเพศหญิงเพื่อให้รู้สึกถึงความแตกต่าง และสร้างความมั่นใจกับความเป็นชายของ
ตนเอง เช่นเดียวกันชาวยุโรปต้องอาศัยการเปรียบเทียบกับอารยธรรมอื่นๆ เพื่อสร้างภาพที่เด่นชัดของตน และภาพถ่าย
เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับเผยแพร่ หรือตอกย้ำมิติอันแตกต่างนี้

แน่นอนว่าลำพังคำบอกเล่าปากต่อปาก เมื่อเทียบกับภาพถ่ายแล้ว ภาพถ่ายย่อมสร้างความน่าเชื่อถือมากกว่าเสมอ
ภาพถ่ายกับการล่าอาณานิคม จึงกลายเป็นของคู่กันไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่ชนชั้นปกครอง และกลุ่มทุนเก็บเกี่ยวผลผลิตจากอาณานิคม สะสมมรดกวัฒนธรรมจากดินแดนในครอบครอง
( โบราณวัตถุต่างๆในพิพิธภัณฑ์ ) คนทั่วไปก็สามารถเก็บสะสมภาพถ่ายหรือภาพตีพิมพ์ในหนังสือ ซึ่งมีราคาถูก
ภาพถ่ายเป็นสื่อสำหรับสะสมความทรงจำ เสี้ยวเวลาในอดีตของแต่ละคน แม้กระทั่งเวลา สถานที่ที่ไม่เคยรู้จักก็ยัง
สามารถครอบครองไว้ในจินตนาการ เห็นสิ่งนั้นชัดเจนราวกับได้พบด้วยตนเอง เก็บสะสมเอาไว้เป็นความทรงจำของตน

ความเปลี่ยนแปลงในอารยธรรมตะวันตกช่วงศตวรรษที่สิบเก้า
ทั้งระบบเศรษฐกิจ การเมือง ไปจนถึงการปกครองแบบรัฐสมัยใหม่ ส่งผลกระทบต่ออารยธรรมอื่นอย่างทั่วถึง


การกำเนิดของเทคโนโลยีการถ่ายภาพ และระบบสื่อสิ่งพิมพ์สมัยใหม่ยิ่งช่วยสนับสนุนความเปลี่ยนแปลงให้ขยายวง
กว้างขึ้นไปอีก สิ่งเหล่านี้ห่างไกลจากประสบการณ์ของชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย อาฟริกา หรือ อเมริกา
แม้กระทั่งรัฐโบราณในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม พม่า และสยาม ยังต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับกระแสความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
เมื่อระบบเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของยุโรปเดินทางมาถึงจุดที่จะต้องจัดสรร แบ่งปันทรัพยากร ( ของโลก ) ในกลุ่ม
ชนชาติพวกเขาเอง

ผลกระทบต่ออารยธรรมอื่นบนโลกใบนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังเช่นท่าทีชาวยุโรปต่อประเทศจีนก็เปลี่ยนไป
เมื่อจีนเป็นทั้งตลาดและผู้ส่งสินค้าออกรายใหญ่ของโลกขณะนั้น ซ้ำยังได้เปรียบดุลการค้ายุโรปเสมอมา ดังนั้นความ
เสมอภาคระหว่างชนชาติ และความเคารพยำเกรงต่อราชวงศ์ของจีน จึงแปรเปลี่ยนเป็นท่าทีก้าวร้าว บีบคั้นทุกวิถีทาง
ถึงขั้นก่อสงครามกันเลยทีเดียว และสาเหตุความขัดแย้งมิได้เริ่มจากจีน แต่เป็นการแข่งขันกันเองในหมู่ชนชาติตะวันตก

หรือสงครามระหว่างอังกฤษกับพม่า
ครั้งแรกเริ่มจากการที่พม่าวางอำนาจ ก่อกวนผลประโยชน์อังกฤษในอินเดียบ่อยครั้ง ( ส่งผลให้พม่าเสียดินแดนตอน
ใต้ทั้งหมด ) แต่ครั้งที่สองนั้นเพราะพม่าพยายามดึงฝรั่งเศสเข้ามาคานอำนาจ ทำให้อังกฤษอ้างความชอบธรรมที่จะ
กำจัดราชวงศ์พม่าอย่างขุดรากถอนโคน แล้วครอบครองดินแดนส่วนที่เหลือ

รัฐโบราณคุ้นเคยกับการเมืองระหว่างรัฐต่อรัฐ ผูกพันธมิตรกับอาณาจักรต่างๆ เพื่อใช้คานอำนาจรัฐคู่แข่ง แต่กับการเมือง
ที่โยงใยเครือข่ายเศรษฐกิจระดับโลกเช่นนี้เพิ่งเคยปรากฏ ขอบเขตการเมืองระหว่างรัฐยุคใหม่นั้นกว้างไกล และเกิดขึ้น
อย่างรวดเร็วเกินกว่าที่รัฐโบราณจะตั้งตัวได้ทัน อีกทั้งความเข้าใจในประเพณีวัฒนธรรมยังแตกต่างกันอีกด้วย ดังเช่น
การแพ้สงครามอังกฤษครั้งแรก แม้พม่าต้องเสียดินแดนใต้ลุ่มน้ำอิระวดีทั้งหมด แต่พม่ากลับไม่ได้เดือดร้อนใจนัก
เพราะอังกฤษไม่ได้เรียกส่วยบรรณาการ พม่าไม่ต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองให้อังกฤษ ในกรอบความคิดของรัฐโบราณ
จึงไม่ใช่การพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ทำให้ราชวงศ์พม่ามีกำลังใจที่จะวางอำนาจกับอังกฤษต่อไป อันนำสู่สงครามครั้งต่อมา

ความแตกต่างระหว่างการเมืองแบบรัฐโบราณ และการเมืองของรัฐสมัยใหม่นั้น
ความสัมพันธ์กับสังคมมีบทบาทอย่างสูง เงื่อนไขการเมืองของรัฐโบราณขึ้นอยู่กับชนชั้นปกครองเท่านั้น
ประชาชนอยู่ในฐานะไพร่
แต่สำหรับรัฐสมัยใหม่แล้ว จำเป็นต้องโน้มน้าวประชาชนให้เห็นดีเห็นงามตามไป
กับรัฐบาลด้วย แม้บางครั้ง จะต้องโกหกกันบ้างก็ตามที จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลยที่ความเสมอภาคระหว่างอารยธรรมจะ
กลายเป็นความดูแคลน การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่เคยมีมาในอดีต จะกลายเป็นการสร้างภาพตอกย้ำความแตกต่าง
ทางวัฒนธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้คือเงื่อนไขเพื่อสร้างความชอบธรรม ความชอบธรรมในการเข้าไปจัดสรร แบ่งปันผล
ประโยชน์บนแผ่นดินของชนชาติอารยธรรมอื่น สื่อที่ดีที่สุดในศตวรรษที่สิบเก้าคือภาพถ่าย ที่จะแสดงให้เห็นถึงสภาพ
แท้จริงของอารยธรรม "ที่ถูกระบุว่าป่าเถื่อน" และจำเป็นต้องยึดครองเพื่อ "ยกมาตรฐานชีวิตของคนเหล่านั้น"

การก่อสงครามของอารยธรรมตะวันตกจำเป็นต้องสร้างเงื่อนไขความชอบธรรมขึ้นมาก่อนเสมอ เงื่อนไขหนึ่งคือ
ผลประโยชน์ตามความเป็นจริง อีกเงื่อนไขหนึ่งคือ เหตุผลที่จำต้องอธิบายกับประชาชน และเงื่อนไขข้อหลังนี้เองที่ต้อง
ปรุงแต่งอย่างสวยงาม ให้เข้ากับจริตของสังคมในช่วงเวลานั้นๆ

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์เช่นนี้มิได้ลดคุณค่างานสารคดียุคนั้นแต่อย่างใด
ภาพถ่ายเหล่านั้นยังคงคุณค่าในตัวเองเสมอ เป็นทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์
เป็นทั้งความทรงจำ และช่างภาพที่ต้องเสี่ยงอันตราย เดินทางท่องโลกเพื่อผลงาน
ชั้นเยี่ยม คงไม่มีเวลามานั่งนึกถึงการเมืองระหว่างประเทศเช่นนี้ หากแต่สื่อทุกแขนง
ศิลปะทุกชิ้น ท้ายที่สุดแล้วย่อมกลายเป็นกลไกทางสังคม การเมือง วัฒนธรรมเสมอ




ช่างภาพและกรอบทางวัฒนธรรม

มอริส คอลลิส ( Maurice Collis ) นักเขียนชาวไอริชเปรียบเทียบในหนังสือ Lords of the Sunset ว่า
จักรวรรดิอังกฤษเหมือนบ้านหลังใหญ่ เต็มด้วยของสะสมจากทั่วทุกมุมโลก บางชิ้นเป็นที่ชื่นชมของผู้ครอบครอง
บางชิ้นเก็บซุกไว้จนลืมเลือน เขาเกริ่นนำเพื่อโยงถึงเรื่องราวในรัฐฉาน หรือเมืองไท ( ไทยใหญ่ ) อันเป็นเนื้อหาใน
หนังสือของเขา เปรียบรัฐฉานเสมือนดินแดนที่ถูกลืม ( มีรายละเอียดในหนังสือตำนานนักเดินทาง เปิดบันทึกโลก
ตะวันออกของจิระนันท์ พิตรปรีชา สำนักพิมพ์สารคดี ) คอลลิสใช้ชีวิตในฐานะข้าราชการอังกฤษประจำพม่า ตั้งแต่
หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมาจนก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนรัฐฉานนั้นเป็นประเทศเอกราชภายใต้ความคุ้มครอง
ของอังกฤษ ข้อเขียนและภาพถ่ายของเขา มิได้ส่อถึงการดูถูกชาวพื้นเมืองแต่ประการใด

ตรงกันข้าม..
เขากลับแสดงความชื่นชมวัฒนธรรม ประเพณีไทยใหญ่อย่างออกหน้าออกตา

ช่างภาพ หรือนักเดินทาง ศตวรรษที่สิบเก้าถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ
ส่วนมากออกท่องโลกด้วยความมุ่งมั่น ในสมัยนั้นไม่มีคู่มือท่องเที่ยว หรือตำราเรียนภาษาต่างประเทศ พวกเขาต้อง
เรียนรู้สิ่งรอบตัวจากประสบการณ์ ต้องลองผิด ต้องลองถูก หลายครั้งที่ต้องคาดเดาเอาเอง แล้วทีนี้ความเห็น หรือ
ข้อมูลของพวกเขานั้นสามารถเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด
คำบอกเล่าของช่างภาพกับสิ่งที่อยู่ในภาพ คือเรื่องราวเดียวกันหรือไม่
หรือในความเป็นจริงมีอะไรมากกว่านั้น เพราะอย่างไร ภาพถ่ายก็สามารถบันทึกได้แค่เสี้ยววินาทีหนึ่งของเวลาเท่านั้น
บอกเล่าเรื่องราวต่อเนื่องก็ไม่ได้ ทุกอย่างจำกัดอยู่แค่ในกรอบสี่เหลี่ยม แค่เสี้ยวหนึ่งของเวลาบันทึกผ่านภาพถ่ายเป็น
แค่การมองผ่านทัศนคติส่วนตัวของช่างภาพเท่านั้น ..หรือไม่

มนุษย์เป็นผลผลิตของสังคม สังคมหล่อหลอมแนวคิดผ่านการศึกษา ผ่านศาสนา และสื่อมวลชน
จึงแน่นอนที่สุดว่าการมองโลกของพวกเขาต้องอยู่บนพื้นฐาน หรือกรอบทางวัฒนธรรมตนเอง หรือมองโลกผ่านอคติ
ของตนเอง เมื่อเดินทางสู่ดินแดนอารยธรรมอื่น เขาย่อมอาศัยอคติ หรือกรอบวัฒนธรรมตนเองเป็นเครื่องตัดสิน
วัฒนธรรมที่แตกต่าง ผลที่ได้ย่อมมีทั้งความแปลกใจ ความชื่นชม ตื่นตระหนก หรือเหยียดหยาม ขึ้นอยู่กับพื้นฐาน
ประสบการณ์ของแต่ละคน และในชีวิตคนเราย่อมมีทั้งรัก ทั้งชังควบคู่กัน

หนังสือ กว่าจะรู้ค่า…คนไท ในอุษาคเนย์ ของ ธีรภาพ โลหิตกุล
ช่างภาพสารคดีชาวไทย เล่าถึงบันทึกของ ดร. วิลเลียม คลิฟตัน ด็อดด์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ซึ่งเดินทางมาสยาม
ช่วงปี ค.ศ.1886 และเกิดความสนใจในประวัติชนเผ่าไท หมอสอนศาสนาผู้นี้พักอยู่ที่เชียงรายเป็นเวลานาน เดินเท้าสู่
เชียงตุง เลยขึ้นไปจนถึงเชียงรุ่ง ในสิบสองปันนา กลายเป็นผลงานหนังสือ The Tai Race : The Elder Brother of the
Chinese ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1923 บันทึกของเขากล่าวถึงความประทับใจ ความโอบอ้อมของคนไท เมืองสยาม และ
ความสง่างามของไทขึน เมืองเชียงตุง แต่กลับมีทัศนคติแง่ลบกับคนไทลื้อ สิบสองปันนาอยู่มาก

หากตีความตามเนื้อผ้า อาจเข้าใจว่าชาวไทลื้อนั้นด้อยกว่าคนไทเผ่าอื่นๆ แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือ ..
หากพิจารณาตามสภาพความเป็นจริงและวัตถุประสงค์ของ ด็อดด์ จะเห็นว่าเขามาเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ และเหตุที่
เขาไม่ค่อยสบอารมณ์ ก็เพราะคนไทลื้อไม่ค่อยยอมฟังเขาเท่าใด โดยเฉพาะเรื่องศาสนา เชียงรุ่งในอดีตถือเป็น
อาณาจักรคนไทที่มีอำนาจ และศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า จึงไม่แปลกเลยที่ผู้คนจะไม่ใยดีกับทัศนคติทาง
ศาสนาของด็อดด์ ขณะที่ไทขึน เมืองเชียงตุงอยู่ในอาณาจักรไทยใหญ่ และอยู่ใต้ความคุ้มครองของจักรวรรดิอังกฤษ
ผู้คนคุ้นเคยกับทัศนคติแบบตะวันตกอยู่บ้างแล้ว จึงไม่มีการโต้แย้งเกิดขึ้น

ทัศนคติของนักเดินทาง ขึ้นอยู่กับพื้นฐานหรือกรอบคิดทางวัฒนธรรมดั่งเดิมของตนเอง
พวกเขาเข้าใจโลกผ่านกรอบความคิดนี้เสมอ การทำงานของช่างภาพก็หนีไม่พ้นกรอบที่ว่านี้เช่นกัน
สิ่งที่ช่างภาพเลือกบันทึก มุมมองที่จับจ้องล้วนสะท้อนความรู้สึกนึกคิดต่อสภาวะนั้นๆทั้งสิ้น


ปรัชญาการทำงานของช่างภาพมีอยู่หลายแนวคิดด้วยกัน นักวิชาการส่วนมากมีความเห็นตรงกันว่าช่างภาพสารคดี
โดยเฉพาะสารคดีเกี่ยวกับชีวิตและสังคม มักโน้มเอียง มีใจผูกพันกับสิ่งที่ตนบันทึก บางคนกล่าวถึงขั้นว่าพวกเขา
มีอุดมการณ์และความห่วงใยในมนุษยชาติ พยายามใช้ภาพถ่ายบ่งชี้ความอยุติธรรมในสังคม คำกล่าวเช่นนี้ แม้จะ
เป็นคำกล่าวที่เยินยอช่างภาพจนเกินเลยไปบ้าง แต่ก็เป็นแนวคิด หรือปรัชญาแนวหนึ่งของช่างภาพสารคดี

อย่างไรก็ตาม อีกแนวคิดหนึ่งคือช่างภาพไม่ควรผูกพัน ไม่ควรมีอคติส่วนตัวกับงานที่ทำเลย
ไม่ควรเสนอความคิดเห็นใดๆ แต่ควรปล่อยให้ภาพบอกเล่าด้วยตัวเอง เพราะการเข้าไปวุ่นวายกับสิ่งที่เป็นอยู่ นำสู่การ
เสแสร้งและปรุงแต่ง ซึ่งเท่ากับบิดเบือนความจริง กระบวนการคิดลักษณะนี้เกิดจากลัทธิศิลปะสมัยใหม่ ( modernism )
ช่างภาพที่อาศัยปรัชญานี้ในการทำงานมี เอ็ดเวิร์ด เวสตัน ( Edward Weston ) วอคเกอร์ อีวานส์ ( Walker Evans )
กอร์ดอน พาร์ค ( Gordon Park ) ลี ฟีแลนเดอร์ ( Lee Friedlander ) แกรี่ วินโนแกรน ( Gary Winogrand ) เป็นต้น
แนวคิดนี้ถือว่าความงามมีอยู่แล้วในสรรพสิ่งทั้งมวล และสามารถบันทึกผ่านภาพถ่ายโดยไม่ต้องปรุงแต่ง บันทึกอย่าง
ตรงไปตรงมา ความงามคือสิ่งที่เป็นอยู่จริงเท่านั้น ไม่ใช่งามเพราะความเห็น หรือความรู้สึกของช่างภาพ

ปรัชญาการถ่ายภาพเป็นเพียงแนวทาง
แต่ในที่สุดแล้ว ช่างภาพในฐานะมนุษย์ย่อมไม่อาจหลีกหนีตัวตนของเขาเอง
ตัวตนที่หล่อหลอมจากวัฒนธรรม และเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของชนชาติตนเอง
ช่วงศตวรรษที่สิบเก้า การขยายตัวของสังคมใหม่ รัฐสมัยใหม่ มีส่วนทำให้รัฐโบราณ
อารยธรรมพื้นเมืองดั่งเดิมทั่วโลกต้องสูญหาย หรือแปรเปลี่ยนไป นอกจากภาพถ่าย
ท่องเที่ยวจะเป็นที่นิยมแห่งยุคแล้ว ภาพชนเผ่าที่กำลังสาบสูญยังเป็นที่นิยมอีกด้วย

เช่นภาพถ่ายชนพื้นเมืองเดิมอเมริกัน
ของ อดัมส์ คลาก โวแมน ( Adams Clark Vroman ) และ เอ็ดเวิร์ด เคอติส ( Edward Curtis ) ทางด้านการตลาด
สิ่งเหล่านี้คือของสะสม ชีวิตและวิญญาณที่หายไปกับกาลเวลา เหลือแค่ความทรงจำ จินตนาการบนแผ่นกระดาษ
อัด ขยาย เพื่อวางขายในราคาย่อมเยา ส่วนในเชิงวิชาการถือเป็นข้อมูลอันล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ คนรุ่นหลังสามารถ
นำมาตีพิมพ์ขายทำกำไรได้ไม่รู้จบ

อีกหนึ่งในช่างภาพผู้ฝากผลงานทรงคุณค่าไว้มากมาย
จอห์น ทอมสัน ( John Thomson ) ชาวอังกฤษ รอนแรมจากบ้านเกิดสู่สิงคโปร์ผ่านไปอินเดีย ทำมาหากินด้วย
อาชีพช่างภาพ และลงเรือมาเมืองสยามในปี ค.ศ.1865 ตรงกับรัชกาลที่สี่ บันทึกภาพชีวิตไทยไว้มากมาย และด้วย
ความเอื้อเฟื้อจากราชสำนักไทย เขาได้มีโอกาสเดินทางต่อไปยังเขมรอันเป็นวัตถุประสงค์หลักของเขา ผลงานชุด
เมืองเขมรและเมืองสยามนี่เองทำให้ ทอมสัน เป็นที่ยอมรับในวงการของอังกฤษ จากนั้นเดินทางต่อไปยังเวียดนาม
และจีน จนได้หนังสือชุด Illustration of China and Its People ( พิมพ์ปี ค.ศ. 1873 – ค.ศ. 1874 )

หนังสือตำนานนักเดินทาง เปิดบันทึกโลกตะวันออก จิระนันท์ พิตรปรีชา กล่าวถึงผลงานทอมสันว่า ภาพโรงยาฝิ่นจีน
สั่นสะเทือนความรู้สึกชาวตะวันตก ตอกย้ำจุดอัปยศของอังกฤษ ที่นำฝิ่นอินเดียไปขายคนจีน จนติดกันงอมแงมทั้งเมือง
( ขายฝิ่นเพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้ากับจีน ) แต่นั่นเป็นมุมมองทั่วไปของคนที่ไม่ได้เป็นช่างภาพ

ในมุมมองของช่างภาพ ไม่ว่ามาจากวัฒนธรรมใด จะมีความเหมือนอยู่อย่างหนึ่งคือ ความอยากรู้อยากเห็น อยากดูไป
เสียทุกซอกทุกมุม ยิ่งห้ามยิ่งพยายาม ยิ่งลำบากยิ่งดิ้นรน ภาพโรงยาฝิ่น ภาพนักโทษประหาร ภาพสั่นอารมณ์เหล่านี้
หากวิเคราะห์จากมุมมองของช่างภาพเกิดจากความอยากรู้แทบทั้งสิ้น ส่วนผลกระทบหรือการตีความของสังคม ล้วน
แตกต่างกันไปตามกาลเวลาและวัฒนธรรม

หลายครั้งที่สายตาอย่างช่างภาพสร้างความขุ่นข้องใจแก่คนพื้นเมือง
สมัยหนึ่ง คนไทยรู้สึกเจ็บใจนักที่ช่างภาพฝรั่งเผยแพร่ภาพชีวิตในสลัมกรุงเทพ ภาพหญิงบริการตามแหล่งท่องเที่ยว
หรือภาพที่บ่งบอกความด้อยพัฒนา ( ในสายตาของคนไทยด้วยกันเอง ) คนอเมริกันก็เคยเจ็บแค้นกับความสอดรู้สอดเห็น
ของช่างภาพประเภทนี้มาแล้วเช่นกัน ในปี ค.ศ. 1959 หนังสือ The Americans ของ โรเบิร์ต แฟรงค์ ( Robert Frank )
ออกวางตลาดในอเมริกา รวมงานภาพถ่ายชีวิตชาวอเมริกันช่วงทศวรรษนั้น บันทึกเรื่องราวผู้คนบนท้องถนน ร้านอาหาร
ระเบียงบ้าน ทั้งในเมืองเล็กและเมืองใหญ่ เป็นงานภาพสารคดีที่งดงามชุดหนึ่งทีเดียว แต่ทว่า เสียงตอบรับจากสังคม
อเมริกันยุคนั้นมิได้ชื่นชมต่อภาพเหล่านี้เลย คนจำนวนมากเห็นว่า แฟรงค์นำเสนอความอัปลักษณ์ ยากจนเพื่อประจาน
อเมริกา

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกอยู่ในยุคสงครามเย็น แบ่งเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ และฝ่ายทุนนิยม
ประเทศอเมริกาในฐานะผู้นำโลกเสรี มีความมั่นใจในอารยธรรมตนเองอย่างเต็มเปี่ยมและกำลังพัฒนาประเทศในทิศทาง
ใหม่ โครงการก่อสร้างถนน ทางด่วนขนาดใหญ่ผุดขึ้นในนิวยอร์ค และลามไปทั่วประเทศ เพื่อตอบรับการขยายตัวของ
อุตสาหกรรม การผลิตรถยนต์ ส่งผลให้โครงสร้างทางวัฒนธรรม ชุมชนเมืองเปลี่ยนรูปไปอย่างมาก ชนชั้นกลางย้ายออก
จากใจกลางเมือง ไปอยู่อาศัยตามแถบชานเมือง ( ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ ) ขณะที่ตัวเมืองกลับเสื่อมโทรมลง วิถีชีวิตแบบ
ใหม่เผยแพร่ผ่านสื่อโฆษณาต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับว่านี่แหละคือ วิถีแบบอเมริกัน

วิถีชีวิตที่ว่านี้คือ ลักษณะครอบครัวที่ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก ในบ้านขนาดเล็กและกลาง มีสนามหน้าบ้านและสัตว์เลี้ยง
ประเภทสุนัข หรือแมว คุณพ่ออยู่ในฐานะผู้นำครอบครัว ตอนเช้าใส่สูท แต่งตัวเรียบร้อยเพื่อขับรถไปทำงานในเมือง
คุณแม่ตื่นเช้าเตรียมอาหาร ทำงานบ้าน และนั่งดูโทรทัศน์ สนทนากับเพื่อนบ้านหลังจากสามีและลูกออกไปปฏิบัติภาระกิจ
ประจำวัน ส่วนเด็กๆตื่นเช้า นั่งทานอาหารพร้อมพ่อ แม่ ก่อนออกไปรอรถโรงเรียนมารับ การตกแต่งบ้านนั้นต้องมีอุปกรณ์
อำนวยความสะดวกต่างๆที่วางขายในท้องตลาด เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำร้อน ทุกคนในบ้านเป็นคนรักชาติและ
เคร่งศาสนา ไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ ตั้งใจทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาสถานะภาพของครอบครัว เมื่อถึงเทศกาลทางศาสนา
ครอบครัวที่อยู่ห่างไกลต้องกลับมาพบปะ ซื้อของขวัญให้กันเสมอ เช่น วันขอบคุณพระเจ้า ( Thanksgiving ) และ
เทศกาลคริสต์มาส - ช่างเป็นครอบครัวอุดมคติ

แต่ในความเป็นจริงแล้วสามารถทำเช่นนั้นกันได้ทุกคนหรือไม่
สื่อโฆษณา ละครโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ต่างๆ ช่วยตอกย้ำอุดมคตินี้จนกลายเป็นค่านิยมในการดำรงชีวิตแบบอเมริกัน และ
แน่นอนว่าภาพของคนขี่ช้าง คุณพ่อจูงควายออกไปทำนา ชุมชนบ้านไม้ริมแม่น้ำอาจกลายเป็นภาพของความด้อยพัฒนา
ไปเลย หากปักใจเชื่อว่าวิถีชีวิตชานเมืองคือวิถีชีวิตที่ดีที่สุด

แม้คนอเมริกันช่วงต้นสงครามเย็นจะไม่ได้กินดีอยู่ดีถ้วนหน้า แต่พวกเขาก็เชื่อมั่นในอุดมคติดังกล่าว
เมื่อภาพถ่ายของ โรเบิร์ต แฟรงค์ ในหนังสือ The Americans นำเสนอสิ่งตรงกันข้าม
ผู้คนในภาพหลายคนหน้าตาเคร่งเครียด อมทุกข์ สวมเสื้อผ้าไร้รสนิยม บ้านช่องเก่าซอมซ่อ สภาพกลางเมืองทรุดโทรม
และน่ากลัว ส่วนบรรยากาศบ้านจัดสรรชานเมืองก็ค่อนข้างแห้งแล้ง ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ ชนบทยังคงเป็นชนบทเช่นเดิม
ถนนสายยาวข้ามระหว่างเมืองตัดผ่านความเวิ้งว้าง

สิ่งเหล่านี้ในสายตาของช่างภาพคือความน่าตื่นเต้น น่าติดตาม
โดยเฉพาะในสายตาชาวยุโรปอย่างโรเบิร์ต แฟรงค์ ( สภาพแวดล้อมในยุโรปแตกต่างจากอเมริกา )

แต่ทว่าสิ่งที่น่าสนใจในสายตาช่างภาพนั้น บางครั้งหมายถึงสิ่งที่ไม่เจริญหูเจริญตาในความเห็นคนทั่วไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกคนเชื่อว่าภาพถ่ายนำเสนอความจริงเสมอ และความจริงบางอย่างก็ยากที่จะยอมรับได้

ความจริงบางอย่างทำให้เกิดความรู้สึกอับอาย เมื่อสังคมอับอายก็มักกล่าวโทษช่างภาพหรือสิ่งที่อยู่ในภาพ
ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นใดก็ตาม และหากคิดต่อไปว่า ทำไมจึงต้องอับอาย หรือเสียหน้ากับสิ่งที่เป็นอยู่จริงในชีวิต
มนุษย์ทั่วไป ความยากจนเป็นเรื่องปกติของทุกอารยธรรม ในเมื่อไม่มีสังคมไหนที่มีแต่คนรวย ไม่มีใครแต่งตัวสวย
ตลอดเวลา และภาพถ่ายสามารถบันทึกสิ่งเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งหลายครั้งสิ่งที่เป็นอยู่จริงแตกต่างจากภาพ
ในจินตนาการ กรณี The Americans ของโรเบิร์ต แฟรงค์ ก็เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้านหนังสือเล่มนี้เป็นไปเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น
เมื่อสังคมอเมริกันเองก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ เริ่มตั้งแต่การเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคทาง
ชนชั้นและเผ่าพันธุ์ สิทธิสตรี การต่อต้านสงครามเวียดนาม เสรีภาพทางการแสดงออก ความยำเกรงในอำนาจรัฐกำลัง
เสื่อมถอยลง ซึ่งทั้งหมดนำสู่ศิลปะในรูปแบบใหม่ ดนตรียุคใหม่

แม้กระทั่งภาพถ่ายสารคดีที่ทวีความเข้มข้นตรงไปตรงมา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เรื่อยจนถึงปี ค.ศ. 1990 และปัจจุบัน
ไม่มีการประนีประนอมทางความคิด ไม่มีการถนอมน้ำใจคนดู ขณะเดียวกันสังคมเริ่มมีความหลากหลายและยอมรับสิ่ง
ต่างๆได้มากขึ้นกว่าอดีต

เมื่อสังคมอเมริกันเริ่มเปลี่ยนไปสู่แนวคิดเสรีนิยมมากขึ้น มีทัศนคติที่หลากหลาย ในบางครั้งหักมุมอย่างคาดไม่ถึง
งานภาพถ่ายที่ดิบเถื่อน แสดงออกซึ่งความรุนแรงและโหดร้ายของชีวิต จึงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อีกต่อไป และการ
โต้แย้งทางความคิด ถกเถียงเรื่องขอบเขต เรื่องจุดยืนของสื่อศิลปะยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น

ภาพผู้ป่วยโรคเอดส์ ของ นิโคลาส นิกสัน ( Nicholas Nixon ) ( ปี ค.ศ. 1987 )
หรือภาพของการแสดงออกซึ่งรสนิยมทางเพศ ที่รุนแรงกว่ามาตรฐานสังคมทั่วไป ของ โรเบิร์ต เมเปิ้ลทรอป
( Robert Mapplethrope ) เป็นตัวอย่างหนึ่ง

นอกจากนั้นยังมีงานศิลปิน / ช่างภาพแฟชั่น ริชาร์ด อวาดอน ( Richard Avedon )
ซึ่งพิมพ์หนังสือชื่อ In The American West ในปี ค.ศ. 1985 รวมภาพพอทเทรต ( portrait ) ผู้คนหลากหลายอาชีพ
ในแถบภาคตะวันตกของอเมริกา แม้ชาวบ้านในหนังสือจะแลดูแปลกประหลาด ผิดธรรมดาเป็นอย่างยิ่ง แต่สังคม
มิได้รู้สึกรังเกียจ มิได้อับอายกับภาพที่ปรากฏเหมือนดังยุคที่หนังสือโรเบิร์ต แฟรงค์วางตลาด

หากแต่คำวิจารณ์กลับกลายเป็นเรื่องของความเหมาะสม
เกิดคำถามขึ้นว่าตัวแบบในภาพนั้นทราบหรือไม่ว่าตนเองจะถูกนำเสนอในลักษณะที่พิลึกขนาดนี้
เพราะในความคิดคนทั่วไป เมื่อถูกทาบทามโดยช่างภาพอาชีพชื่อดัง พวกเขาย่อมคิดว่าภาพของตนจะต้องสวยงาม
ดูมีรสนิยมเสมอ พวกเขาจะทราบก่อนหรือไม่ว่าต้องมาเป็นตัวประหลาดบนหน้าหนังสือ เพื่อสร้างความร่ำรวยแก่
ช่างภาพและสำนักพิมพ์ แน่นอนว่าคุณภาพงานของริชาร์ด อวาดอน นั้นยอดเยี่ยมไม่มีที่ติ ภาพถ่ายขาวดำที่สวยงาม

แต่ความงามทางศิลปะมิใช่ประเด็นโต้แย้งในเรื่องนี้
ประเด็นอยู่ที่ คนในภาพถ่ายนั้นทราบหรือไม่ว่าตนเองต้องกลายเป็นตัวประหลาด
และเหมาะหรือไม่ที่ช่างภาพ หรือนายทุน สำนักพิมพ์จะหากินกับความไม่ปกติของชาวบ้าน
หากเพื่อศิลปะแล้ว ควรมีขอบเขตหรือไม่ เมื่อเทียบกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ช่างภาพมองโลกผ่านกรอบวัฒนธรรมของตนเองเสมอ สังคมมองภาพถ่ายด้วยกรอบนี้เช่นกัน
เมื่อเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลง ความคิดของผู้คนย่อมเปลี่ยนแปลงตาม และการตีความสิ่งที่เป็นอยู่
ย่อมแตกต่างไปตามยุคสมัย ทุกอย่างล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน การศึกษา หรือการทำความเข้าใจในงาน
ศิลปะภาพถ่ายแต่ละยุค แต่ละประเภท จึงมิอาจมองข้ามเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไปได้เลย


ภาพถ่ายสารคดีและแนวคิดโพสต์โมเดิร์น / ภูมิกมล ผดุงรัตน์ / ตุลาคม 2545
Documentary and Postmodern Interpretation / Poomkamol Phadungratna / October 2002
ช่างภาพและกรอบทางวัฒนธรรม / ภูมิกมล ผดุงรัตน์ / ตุลาคม 2545
Photographers Within Their Own Cultural Interpretations / Poomkamol Phadungratna / October 2002





Comments