E. J. Bellocq



โสเภณีของ เบลลอค ( E. J. Bellocq ) ตำนานภาพถ่ายแห่งสตอรี่วิล ( Storyvill )


Untitled Works (2012)
by Poomkamol Phadungratna (ภูมิกมล ผดุงรัตน์)



บทที่ 23
ระหว่างความเป็นภาพถ่ายสารคดี ..Portrait บันทึกเรื่องราว
ชีวิตส่วนตัว และความเป็นศิลปะภาพถ่ายเชิงความคิด
โสเภณีของ เบลลอค ( E. J. Bellocq )
ตำนานภาพถ่ายแห่งสตอรี่วิล ( Storyvill )



การค้นพบผลงานของ เบลลอค (E. J. Bellocq) เป็นช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์
ศิลปะภาพถ่ายอันน่าตื่นเต้น งานของเขาอาจดูเหมือนภาพพอทเทรตธรรมดา
ที่ดูดีมีคุณภาพในระดับยอมรับได้ เหมือนไม่มีความพิเศษในแง่เทคนิค..ไม่ใช่การ
หักเหทางสุนทรียศาสตร์ แต่มีมิติของความเป็นส่วนตัว เป็นเสมือนบทกวี..ถูกเก็บ
ไว้ในห้องมืดมิด ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นหมายถึงใคร หรือเพื่ออะไร..แต่มีความ
งดงามที่ผู้คนสามารถเติมเต็มจินตนาการ สามารถสัมผัสถึงความรู้สึกนั้นในมิติของ
ตนเอง งานศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวส่วนตัวมักจะเป็นเช่นนี้เสมอ ไม่มีใครสามารถ
ล่วงรู้ได้ชัดเจนว่า เบลลอค..ถ่ายภาพชุดนี้ขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ใด เราจึงไม่
สามารถระบุให้ชัดเจนว่า นี่เป็นภาพถ่ายสารคดี เป็นแค่รูปพอทเทรต หรือเป็น
บันทึกส่วนตัวของเขา และความไม่รู้ชัดนี้เองที่ทำให้งานของเบลลอคยังคงดึงดูด
ความสนใจของผู้คนยาวนานหลายทศวรรษ ..เป็นเสมือนบทกวีปริศนา

เบลลอคบันทึกภาพโสเภณีไว้เป็นจำนวนมาก

ช่างภาพผู้ลึกลับจากเมืองนิวออร์ลีน (New Orleans) มลรัฐหลุยเซียน่า
ประเทศสหรัฐอเมริกา มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ไม่มีใครทราบความเป็นมา
ของเขาอย่างแน่ชัด เล่าลือกันว่าเขาเป็นช่างภาพเชิงพาณิชย์ที่ปราศจากชื่อเสียง
เป็นคนแปลกและไม่ค่อยมีฝีมือด้านภาพถ่ายเท่าใด บ้างก็ว่าเขาเป็นช่างภาพที่
ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ มีแม้กระทั่งข่าวลือว่าเขาเป็นคนหลังค่อมที่มีชีวิต
แปลกประหลาดในมุมมืดท่ามกลางสาวงามเมืองนิวออร์ลีน ..แต่ความจริงแล้ว
ไม่มีใครรู้จักเบลลอคจริงๆเลยสักคน ชีวประวัติของเขา..หลายเรื่องที่เคยถูกเผย
แพร่ตีพิมพ์ก่อนหน้าปี ค.ศ. 2000 จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถืออย่างยิ่ง มีเพียงแค่
ผลงานเท่านั้นที่พิสูจน์ความเป็นตัวตนของเบลลอค

หลังจาก MOMA พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ นิวยอร์ค (Museum of Modern
Art, New York) นำผลงานของเขาออกแสดงในปี ค.ศ. 1970 เป็นครั้งแรก
ภาพถ่ายของเหล่าหญิงสาวที่สังคมประณามว่าต่ำต้อยกว่าสามัญชนทั่วไป ได้
สร้างความตื่นตะลึงแก่วงการศิลปะและปัญญาชนคนเมืองทั้งหลาย เบลลอคมิได้
นำเสนอภาพชีวิตรันทด มิได้นำเสนอเรื่องราวทางเพศ หรือการเสพสังวาสใดๆ
แต่ภาพที่ปรากฏคือมนุษย์ที่มีชีวิตมีเลือดเนื้อ มีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรีเฉกเช่นคนอื่นๆ
แม้ในสภาพที่เปลือยเปล่า พวกเธอยังแลดูเป็นธรรมชาติปราศจากการเสแสร้ง
ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า พวกเธอมีความคุ้นเคยกับช่างภาพผู้นี้อย่างมาก

เอิร์นเนส เบลลอค (Ernest Bellocq หรือ E.J.Bellocq) เสียชีวิตเมื่อปี
ค.ศ. 1949 ชายชราวัยเจ็ดสิบ ร่างกายย่อมเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ตาเฒ่า
เบลลอคเดินหกล้มหัวคะมำบนถนน Barrone ..บาดเจ็บถึงขั้นต้องหามส่ง
โรงพยาบาล หนึ่งอาทิตย์หลังจากนั้นจึงเสียชีวิต ..บาทหลวง ลีโอ เบลลอค
น้องชายของเขาเฝ้าดูแลจนวาระสุดท้าย ทรัพย์สินของเบลลอคมีไม่มาก
ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้เก่าๆและชำรุดทรุดโทรม ชีวิตของเบลลอคเองดูเหมือนจะ
เลือนหายไป เว้นแต่ภาพถ่ายที่เขาไม่เคยให้ใครชม นั่นคือ เพลทกระจกขนาด
8 x 10 นิ้ว จำนวนแปดสิบเก้าชิ้น ( glass negative plates ) และด้วย
เหตุผลที่ยังไม่มีใครทราบ ว่าทำไม..เนกาทีฟชุดนี้จบลงที่ร้าน Sal Ruiz’s Antique
Shop ซึ่งเป็นร้านขายของเก่าในเมืองนิวออร์ลีน ..จนกระทั่งวันหนึ่ง
แลรี่ บอเรนสไตน์ (Larry Borrenstein) และ อัล โรส (Al Rose) นักสะสม
ของโบราณ ได้ซื้อเนกาทีฟเหล่านี้เอาไว้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1966 โดยประมาณ
ช่างภาพ ลี ฟีแลนเดอร์ (Lee Friedlander) ซื้อเนกาทีฟเก่าของเบลลอคจาก
แลรี่ บอเรนสไตน์อีกทอดหนึ่ง เนกาทีฟเหล่านั้นอยู่ในสภาพย่ำแย่ เพราะความเก่า
ความชื้น และผลจากพายุเฮอริเคน..ที่มักจะถล่มภูมิภาคนั้นอยู่เสมอ ด้วยความ
พยายามของ ลี ฟีแลนเดอร์ ซึ่งพยายามอัดขยายเนกาทีฟเหล่านั้นอย่างสุดฝีมือ
โดยอาศัยเทคนิคแบบโบราณเพื่อใกล้เคียงกับยุคสมัยของเบลลอคเท่าที่จะทำได้
เช่นกระบวนการ gold chloride toned printing-out paper ขณะเดียวกัน
จอห์น ชาเคาสกี้ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ นิวยอร์ค เล็งเห็นคุณค่า
ในงานชุดนี้ จึงเลือกนำออกแสดงเผยแพร่ต่อสาธารณะชน นับเป็นเวลาสิบห้าปี
หลังจากตาเฒ่าเบลลอคเสียชีวิต และกว่าหกสิบปีหลังจากเขาสร้างงานชุดนี้ขึ้นมา
ชีวิตของเบลลอคที่เลือนหายไปกับเวลา กลับคืนชีพและสู่ความเป็นอมตะ

นับตั้งแต่วันที่วิญญาณเบลลอคก้าวสู่ทำเนียบศิลปินช่างภาพผู้มีชื่อเสียง
ผู้คนที่ไม่เคยคิดเหลียวแลเขา..ต่างออกหน้าออกตา เรียงกันออกมาอ้างตนว่า
รู้จักคุ้นเคยกับตาเฒ่าเบลลอค และด้วยเนื้อหาของงานภาพถ่ายของเขานั้นสร้าง
ความฉงนแก่สังคม จึงกลายเป็นความอยากรู้อยากเห็น ช่างภาพผู้นี้มีเบื้องหลัง
ความเป็นมาอย่างไร ทำไมเขาจึงเลือกถ่ายภาพโสเภณี ทำไมพวกเธอจึงแลดูคุ้นเคย
กับเขานัก ทำไมเขาจึงเข้าหาแหล่งข้อมูลได้อย่างง่ายดาย …และเนกาทีฟบางชิ้น
ทำไมหน้าตาของนางแบบถูกขูดทำลาย - ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ใครเป็นคนทำ ..คำถามมีมากมาย
และเมื่อมีคำถามมากมาย ..คนเราย่อมหาคำตอบได้มากมายเช่นกัน

ในเมื่อชีวประวัติของเบลลอคปราศจากหลักฐานเอกสารอ้างอิง
เรื่องราวของเขาจึงมาจากคำบอกเล่าของผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ขณะนั้น จริงบ้าง
โกหกบ้าง เข้าใจผิดบ้าง บางเรื่องจินตนาการกันเอาเอง เช่นเบลลอคเป็นคน
หลังค่อม หาแน่นอนอะไรไม่ได้เลย จนกระทั่งปี ค.ศ. 2002 ที่นักเขียนชาวนิวออร์ลีน
ชื่อว่า เรกซ์ โรส (Rex Rose) บุตรชายของ อัล โรส (Al Rose) คนที่ซื้อเนกาทีฟ
ของเบลลอคมาจากร้านขายของเก่า ได้ตีพิมพ์งานวิจัยประวัติแท้จริงของช่างภาพ
เอิร์นเนส เบลลอค ..งานวิจัยของ เรกซ์ โรส มีความน่าเชื่อถือมากกว่าฉบับอื่นๆ
ประการแรกเขาอาศัยเอกสารราชการ เช่น ทะเบียนประวัติ บันทึกผู้ป่วยจาก
โรงพยาบาล หลักฐานเอกสาร หนังสือพิมพ์เก่าๆสมัยนั้น - อีกประการหนึ่ง เรกซ์ โรส
มีความคุ้นเคยกับเมืองนิวออร์ลีนอย่างที่สุด

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่านิวออร์ลีน มีวัฒนธรรมที่ต่างจากเมืองอื่นๆในสหรัฐฯ
พื้นเพเดิมเมืองนี้มาจากผู้ตั้งรกรากชาวฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1718 ในฐานะ
อาณานิคมของฝรั่งเศส เป็นเมืองหลวงของอาณานิคมหลุยเซียน่า (Louisiana
Colony) ความผันผวนทางการเมืองในยุโรปส่งผลให้อาณานิคมนี้ต้องเปลี่ยนมือ
สู่อังกฤษ และสเปน จนกระทั่งเข้าร่วมสหพันธรัฐ กลายเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา
ทางด้านวัฒนธรรมของเมืองนิวออร์ลีน ผสมผสานระหว่างฝรั่งเศสและวัฒนธรรม
ชนพื้นเมือง ในขณะที่เมืองส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเติบโตมาจากวัฒนธรรมอังกฤษ
ดังนั้น ความคิดอ่านของผู้คนในนิวออร์ลีน..และในภูมิภาคนี้ จึงค่อนข้างแตกต่างไป
จากภูมิภาคอื่นๆในสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน

ตำนานเพลงแจ๊ส (Jazz) และ..บลูส์ (Blues) เริ่มต้นที่นี่

ประมาณปี ค.ศ. 1898 เมืองนิวออร์ลีนประกาศให้เขตสตอรี่วิล (Storyville)
หรือย่านโคมแดง (Red Light District) สามารถเปิดการค้าบริการทางเพศได้
อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้
นอกจากข้ออ้างเรื่องการลดปัญหาอาชญากรรม และการควบคุมจำนวนโสเภณี
ช่วงเวลาเดียวกันนั้น เบลลอคเริ่มมีชื่อเสียงด้านการถ่ายภาพ ในฐานะช่างภาพ
มือสมัครเล่น (from The Last Days of Ernest J. Bellocq by Rex Rose,
an article in Exquisite Corpse , issue 10 , A Journal of Letters and Life)

ครอบครัวของเบลลอคเป็นชนชั้นสูงของชุมชน
นั่นย่อมหมายถึงเขาต้องมาจากพื้นฐานครอบครัวที่ค่อนข้างเคร่งศาสนา และ
คุ้นเคยกับศิลปะวัฒนธรรม ปี ค.ศ. 1902 เขาเบนเข็มสู่อาชีพช่างภาพอย่างเต็มตัว
ขณะที่น้องชายหันไปเป็นบาทหลวง ย่านสตอรี่วิลอยู่ห่างจากบ้านเบลลอคเพียงแค่
หนึ่งช่วงถนนเท่านั้น ไม่มีใครทราบว่าเขาเริ่มบันทึกภาพโสเภณีย่านโคมแดงตั้งแต่
เมื่อใด หรือเพื่อวัตถุประสงค์ใด หากพิจารณาจากภาพถ่าย..นอกจากพวกเธอจะ
เต็มใจแล้ว พวกเธอยังรู้จักคุ้นเคยกับเขาอย่างมากอีกด้วย ในทางกลับกัน เขาเอง
ย่อมสนิทสนมกับพวกเธอมากเช่นกัน บางทฤษฎีกล่าวว่างานนี้อาจเป็นการจ้างวาน
ในฐานะที่เป็นช่างภาพอาชีพ ซึ่งเจ้าของกิจการสถานบริการอาจจ้างให้เขาถ่ายภาพ
พวกเธอสำหรับเสนอลูกค้า หรือใช้เก็บเป็นฐานข้อมูล (แบบเดียวกับที่สถานอาบอบ
นวดในเมืองไทยทำ) แต่ทฤษฎีนี้ไม่น่าเป็นไปได้ ..และนักประวัติศาสตร์ศิลปะ
ส่วนมากไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะภาพเหล่านี้ถูกเก็บเป็นความลับส่วนตัวของช่างภาพ
อีกอย่างหนึ่ง งานเชิงพาณิชย์ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความพิถีพิถันมากถึงขั้นนั้น
บางทฤษฎีกล่าวว่าน่าเป็นรสนิยมทางเพศ หรือความชอบส่วนตัวของช่างภาพเอง
ในลักษณะของ fetishism ซึ่งอาจเป็นไปได้ แต่ทว่าจำนวนภาพที่มีมากมาย ( 89
ชิ้นที่ค้นพบ ) หลากหลายรูปแบบ ทั้งภาพเปลือยเปล่า ทั้งพอทเทรตแบบธรรมดา
ทั้งภาพแบบจัดฉาก จัดวาง ทั้งภาพที่ดูผ่อนคลายตามธรรมชาติ และระยะเวลาใน
การสะสมงานเหล่านี้ บ่งชี้ว่างานนี้ต้องเป็นมากกว่าการตอบสนองความต้องการ
ทางเพศของช่างภาพเพียงอย่างเดียวแน่นอน และประการสำคัญที่สุดคือหญิงสาว
ในภาพถ่ายถูกนำเสนอในลักษณะของมนุษย์ธรรมดา ไม่ใช่วัตถุทางเพศ ไม่ใช่ดารา
ที่หรูหรา แต่เป็นคนธรรมดาที่มีชีวิต จิตวิญาณและเกียรติยศ สิ่งนี้บ่งชี้ว่าช่างภาพ
น่าจะมีความผูกพัน ยกย่องนางแบบของเขาอยู่พอสมควร และความผูกพันที่
ถ่ายทอดผ่านภาพนี่เองกระทบใจคนดู แน่นอนว่าไม่มีใครรู้ใจเบลลอค ไม่มีใครบอก
ได้ว่าเขาคิดอะไร..และพวกเธอคิดอย่างไรกับเขา แต่ทว่าความเป็นธรรมชาติ
ของหญิงสาว ซึ่งบ่งบอกถึงความผูกพันใกล้ชิดระหว่างตัวแบบและช่างภาพ สร้าง
ความรู้สึกงดงามขึ้นในใจของคนดู ..ในทางสังคม อาชีพของพวกเธอย่อมถูกปฏิเสธ
พวกผู้ชายมักชอบประณามหยามเหยียด (ขณะที่แห่กันไปใช้บริการ)ความเป็นตัวตน
ของคนในวิชาชีพนี้มักถูกมองข้าม และทดแทนด้วยอคติ ตำนานความชั่วร้ายต่างๆ
นาๆ แต่ทว่าภาพถ่ายของเบลลอคมองผ่านอคติเหล่านี้เสียสิ้น เบื้องหน้าเขามี
เพียงผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง

ทางวัฒนธรรม สหรัฐอเมริกาช่วงปี 1970 ช่วงที่ผลงานเบลลอคออกแสดง
นิทรรศการ สังคมกำลังอยู่ในกระบวนการปฏิวัติวัฒนธรรม อยู่ระหว่างการต่อสู้
เพื่อความเสมอภาคทางชนชั้น ศาสนา และเผ่าพันธ์ุ.. เมื่อภาพถ่ายของเบลลอค
ขึ้นแขวนบนผนังของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ซึ่งเปรียบเสมือนวิหารทางวัฒนธรรม
ชนชั้นอาชีพที่ถูกกำหนดให้ต่ำต้อยมิได้ถูกมองข้ามอีกต่อไป แม้สังคมอาจตื่นเต้น
กันแค่ระยะเวลาสั้นๆ แต่เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งดีงามที่อาจมาถึงสักวันหนึ่ง เป็นการ
จุดประกายความหวัง ความรัก และความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันให้แก่สังคม

ความหมายทางวัฒนธรรมเช่นนี้ที่ทำให้ศิลปะมีคุณค่าต่อชีวิต

เบลลอคถ่ายภาพนางแบบของเขาในสถานบริการ ในสตูดิโอ ในที่พักอาศัย
เรกซ์ โรส กล่าวว่ามีภาพที่เบลลอคตามไปถ่ายในโรงพยาบาล ซึ่งสันนิษฐาน
ว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาน่าจะเกินเลยกว่าช่างภาพและนางแบบ หรือเกิน
กว่าหญิงบริการกับลูกค้า ซึ่งเป็นแค่การคาดเดาเท่านั้น อย่างไรก็ตามอาจไม่ใช่
เรื่องแปลกเลย ที่เบลลอคจะมีความสัมพันธ์พิเศษกับสาวๆเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็น
เพราะวิชาชีพของเขา หรือวิธีการทำงานของเขา อาชีพอย่างนักเขียน นักข่าว
ช่างภาพ ช่างภาพสารคดี ต้องคลุกคลีอยู่กับผู้คนเพื่อเข้าถึงแหล่งข้อมูล หลาย
ครั้งต้องมารู้จักกันในสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา อันนำสู่ความสนิทสนม ความเห็นใจ
แม้กระทั่งความเข้าใจกัน จึงไม่ยากเลยที่คนทำอาชีพนี้จะติดกับดักแห่งความ
ผูกพันกับแหล่งข้อมูลของเขาเอง ต่างกับหลายอาชีพที่แม้ต้องพบคนมากมาย
แต่แค่คบหาอย่างฉาบฉวย

ในกรณี..เนกาทีฟบางชิ้นถูกทำลายเฉพาะใบหน้ามีการคาดคะเนเบื้องต้นว่า
เป็นฝีมือของบาทหลวงลีโอ น้องชายเบลลอคเพื่อปกปิดสถานะของหญิงสาว
ทั้งนี้เมื่อย่านโคมแดงปิดบริการไปแล้ว ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่แต่งงาน บางคน
ก้าวสู่สถานะใหม่ทางสังคม บางคนก้าวไปเป็นเป็นชนชั้นสูง อย่างไรก็ตาม
ข้อสันนิษฐานนี้ไม่น่าเป็นไปได้ จริงอยู่ที่สาวสตอรี่วิลหลายคนได้ดิบได้ดีในสังคม
เมืองนิวออร์ลีน แต่กระนั้น ลี ฟีแลนเดอร์ กล่าวว่าการขูดขีดเนกาทีฟให้เสียหาย
ขั้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้พื้นผิวจะเปราะบาง แต่การขูดขีดจะให้ผลเสียหายอีก
แบบหนึ่ง ส่วนเนกาทีฟของเบลลอคนั้นเสียหายในแบบที่พื้นผิวหลุด อันน่าจะเกิด
จากกระบวนการล้าง - เมื่อเนกาทีฟยังเปียกอยู่อาจวางทับกัน จนพื้นผิวที่เปียก
หลุดติดออกมา ..ขณะที่ เรกซ์ โรส เห็นว่าบาทหลวงลีโอ ไม่น่ามีแรงจูงใจในการ
ทำลายเนกาทีฟ หากจะทำแล้ว ทำไมต้องทำลายเฉพาะใบหน้า ทำไมไม่เผาทิ้งเสีย
ทั้งหมด

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมเรื่องราวของเบลลอคจึงเต็มไปด้วยข่าวลือข่าวลวง
ความจริงแล้วเรื่องราวของเมืองนิวออร์ลีนเองเต็มไปด้วยความลึกลับ ซับซ้อนและ
ซ่อนเงื่อนอยู่ไม่น้อย เป็นวิถีของเมืองนี้ซึ่งเมืองเก่า สังคมเก่ามักเป็นเช่นนี้เสมอ
อัล โรส บิดาของ เรกซ์ โรส เคยเขียนว่าช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มีการ
ลอบทำลายหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเก็บไว้ตามที่ต่างๆ รวมทั้งใน
หอสมุด ทั้งหนังสือพิมพ์ ภาพถ่ายหลายชุดถูกทำลาย ราวกับว่ามีใครกำลัง
พยายามลบประวัติของใครบางคนออก (Al Rose , Storyville New Orleans
Being an Authentic Illustrated Account of the Notorious Red Light
District, The University of Alabama Press 1974) จึงไม่น่าแปลกเลยที่
เรื่องราวของ เบลลอค ผู้รู้จักสตอรี่วิลดีกว่าใครๆจะปนเปื้อนด้วยข่าวลือสารพัด

ผลงานของเบลลอคมีแค่เนกาทีฟ ไม่มีใครเคยเห็นภาพที่เขาอัดขยายเอง
นับแต่ปี ค.ศ. 1970 เรื่อยมาจึงมีเพียงภาพที่ลี ฟีแลนเดอร์เป็นผู้อัดขยาย
แต่ต่อมามีการค้นพบ silver prints อีกชุดหนึ่งซึ่งอัดขยายมาก่อนหน้า และน่าจะ
เป็นฝีมือของ อัล โรส งานชุดนี้นำออกแสดงในนครนิวยอร์ค (Julie Saul Gallery,
February 2002) นั่นหมายความว่าก่อนแลรี่ บอเรนสไตน์จะขายเนกาทีฟให้
ลี ฟีแลนเดอร์ พวกเขาได้อัดภาพเบลลอคขายกันแล้ว อย่างไรก็ตามภาพเหล่านั้น
ไม่มีหมายเลขกำกับ และไม่มีราคาในตลาดประมูลเท่าใด งานศิลปะ ศิลปะภาพถ่าย
โดยเฉพาะศิลปินมีชื่อเสียง ต้องมีหมายเลข พร้อมรายละเอียดกำกับ เช่น อัดขยาย
เมื่อใด ใครเป็นผู้อัดขยาย และอัดขยายมากี่ชิ้น เพื่อนำไปแสดงในแกลเลอรี่ หรือ
หอศิลป์หรือตลาดประมูล งานที่ไม่มีรายละเอียดเหล่านี้อาจมีค่าแค่ของปลอม
ซึ่งกรณีนี้เมื่อหอศิลป์ โฟโตกราฟเฟอร์ แกลเลอรี่ใน ลอนดอน (Photographers’
Gallery , London) มีแผนนำงานของเบลลอคขึ้นแสดงในเดือนมิถุนายน 2002
หอศิลป์เข้าใจปัญหาดี แม้นไม่แน่ใจว่าภาพใดเป็นงานเบลลอคแท้ๆ แต่ยังคง
ประเมินค่าภาพเบลลอคชุดนี้ ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า













Comments