Eugene Atget


works by Eugene Aget


Eugene Atget ยูจีน อาเช่ (1857-1927)

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารณัฐนลิน
บทความโดย ภูมิกมล ผดุงรัตน์ article : Poomkamol Phadungratna

ประวัติของ Eugene Atget ยูจีน อาเช่ (ค.ศ. 1857-1927)

ในสมัยก่อน ยูจีน อาเช่ จะมาเป็นช่างภาพนั้น ไม่มีใครทราบรายละเอียดชีวิตของเขามากมายนัก
เขาเกิดในปี ค.ศ.1857 ที่เมือง Liboure ใกล้กับ Bordeaux เป็นเด็กกำพร้าแต่วัยเยาว์ เคยทำงานรับจ้างทั่วไป และ
เป็นกะลาสีเรือในเวลาต่อมา จากนั้น..ช่วงปี ค.ศ. 1880 เขาเริ่มหันเหสู่งานละคร และย้ายมาอยู่ปารีสในปี ค.ศ. 1890
ตอนนั้นเองที่เริ่มรู้ตัวว่าท่าทางคงเอาดี ด้านการแสดงไม่ได้ จึงหันมาสู่งานทัศนศิลป์ แต่ก็ยังรู้ตัวอีกว่าตนเองไม่เคย
ผ่านการศึกษาทางศิลปะอย่างจริงจัง คงจะแข่งขันกับคนที่เรียนมาสายนี้โดยตรงลำบาก ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เขาจึงหัน
เข้าหาสื่อทัศนศิลป์อีกแขนงหนึ่ง ที่ให้ความเสมอภาคกับมวลมหาประชาชนธรรมดา นั่นคือ -- ศิลปภาพถ่าย

แน่นอนว่าในอาชีพช่างภาพยังคงต้องแข่งขันดิ้นรน..
ต่อสู้กับช่างภาพ - ศิลปินอื่นๆอย่างดุเดือดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
แต่ภาพถ่ายในยุคนั้น ทุกคนเริ่มต้นที่จุดใกล้เคียงกัน ไม่มีความรู้พอๆกัน หรือคนที่รู้ก็รู้ไม่มากไปกว่าคนอื่นสักเท่าใด
เรียกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความเสมอภาคทางปัญญา หรือพูดง่ายๆให้ฟังเกินเลยไปบ้างก็คือโง่เท่าเทียมกัน
่หมายความว่างานภาพถ่ายในศตวรรษที่ 19 เพิ่งเริ่มต้นและกำลังเรียนรู้ ทุกคนจึงมีโอกาสเริ่มต้นเท่าๆกัน

ยูจีน อาเช่ อดีตกะลาสีเรือ นักแสดงละครเร่ จึงตัดสินใจหันมาเรียนการถ่ายรูปกับเขาบ้าง

ระหว่างปี ค.ศ. 1898 และ 1914
เขารับงานจากหน่วยราชการหลายแห่ง รวมทั้ง Les Monuments historiques และ Carnavalet Museum ซึ่ง
ต้องการเก็บหลักฐานภาพถ่ายของนครปารีส ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความเปลี่ยนปลงมาจากการ
ขยายตัวของประชากรและเศรษฐกิจ ตึกเก่าๆในเขตประวัติศาสตร์เริ่มเกะกะ ขวางหูขวางตา และถูกรื้อทิ้งทำลาย
โดยเทศบาลเมืองปารีส แต่ด้วยวัฒนธรรมตะวันตก เมื่อคิดจะทำลายอะไรสักอย่าง ก็ยังอุตส่าห์อนุรักษ์คุณค่าเดิม
ไว้ ..ด้วยการบันทึกภาพประวัติศาสตร์จำนวนมากมาย

หลังจากงานบันทึกประวัติศาสตร์นครปารีสแล้ว
เขายังรับงานประเภทเดียวกันอีกหลายครั้ง ถึงแม้ว่างานรับจ้างในช่วงหลัง จะไม่ใช่งานภาพถ่ายสารคดีที่ชัดเจนนัก
แต่ดูเหมือน เขาจะค้นพบสไตล์การทำงานของตนเองแล้ว ดังนั้นไม่ว่านายจ้างต้องการอะไร ยูจีน อาเช่ก็จะถ่ายภาพ
ในแบบที่เขาถนัด กล่าวว่าเขามีวาระซ่อนเร้นอยู่เสมอ..ในการทำงาน

ส่วนตัวแล้ว ยูจีน อาเช่ เป็นคนที่สนใจงานวรรณกรรมเป็นอย่างมาก ซ้ำยังมีพื้นฐานด้านการแสดงอีกด้วย
หลังจากการศึกษาภาพรวมผลงานทั้งหมด นักประวัติศาสตร์ในยุคปัจจุบันมองว่า ยูจีน อาเช่ น่าจะมองงานภาพถ่าย
ของเขาเป็นโครงการใหญ่โครงการเดียวกัน เพราะเนื้อหาของภาพนั้นจะมีเอกภาพและมีประเด็นหลักอยู่

แน่นอนว่าคงไม่มีใครทายใจเขาได้ว่าคิดอะไร..
ในเมื่อเจ้าตัวเสียชีวิตไปร่วมร้อยปีแล้ว แต่ภาพถ่ายก็สามารถเล่าเรื่องราว หรือแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกได้ด้วย
ตัวเอง ความรู้สึกนั้นวนเวียนอยู่กับสถานที่ ที่เขาคุ้นเคย บ่งบอกความรักความผูกพันต่อวิถีชีวิตนั้นอย่างที่สุด
และสิ่งที่เขาเลือกบันทึกภาพไว้ สำหรับชาวตะวันตกในศตวรรษที่ 19 เป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยที่ไม่สำคัญอะไรเลย
เช่นภาพของร้านค้าข้างถนน อาคารโบราณที่หมดสภาพ ชีวิตชาวบ้าน ภาพมวลมหาประชาชนธรรมดา..ที่ไม่ใช่ชนชั้น
ศักดินา เป็นแค่คนธรรมดาที่อยู่รอบๆตัวของเขา

ภาพถ่ายธรรมดาเหล่านี้กลายเป็นบันทึกชีวิตชนชั้นที่คงอยู่ตลอดไป
และยูจีน อาเช่ ถ่ายภาพเหล่านี้ด้วยวิธีธรรมดาเช่นกัน คือคมชัด ไม่มีเทคนิคพิเศษแต่งเติมใดๆ ที่เราเรียกกันว่า straight
photography ไม่มีการสอดแทรกแนวคิดทางการเมือง ..เน้นความเหมือนจริง..อย่างสุดขีด

สิ่งที่เหมือนจริงมากเกินไป คมชัดมากเกินไปสามารถให้ความรู้สึกในมุมกลับได้เช่นกัน คือความรู้สึกเหนือจริง
เนื้อหาและความรู้สึก ที่ภาพถ่ายของยูจีน อาเช่ นำเสนอนั้น ทำให้ศิลปินกลุ่มลัทธิ surrealism ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
พากันชื่นชม ยกย่องให้ภาพถ่ายของยูจีน อาเช่ เป็นงานsurrealists ที่สุดยอดแห่งยุคสมัย ทั้งๆที่ตัวเขาก็ไม่ได้
รู้จักงานศิลปะ surrealism ไม่สนใจด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร ..เขาก็แค่ถ่ายภาพในแบบของตัวเขาเอง..เท่านั้น

อีกประเด็นน่าสนใจ
ยูจีน อาเช่ จะถ่ายภาพวัตถุหรือสถานที่หนึ่ง ด้วยมุมกล้องแตกต่างไป
เขาจะถ่ายภาพใกล้ close up เพื่อเก็บรายละเอียด ถ่ายมุมระยะกลาง ระยะไกล และกลับไปถ่ายซ้ำในช่วงต่างเวลา
ต่างสภาพแสง นั่นคือวิธีการเดียวกันกับที่เราถ่ายภาพยนตร์ในปัจจุบัน คือ ผู้กำกับจะต้องถ่ายฉากเดียวกันเก็บไว้
หลายๆมุม เพื่อใช้เวลาตัดต่อ (เพราะไม่มีใครทายได้ว่าเวลาอยู่ในห้องตัดต่อแล้ว จำเป็นต้องใช้มุมไหนบ้าง) สำหรับ
ช่างภาพยุคปลายศตวรรษที่ 19 การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่ล้ำสมัยเอามากๆ

บั้นปลายชีวิตของเขายากลำบากด้วยปัญหาความยากจน
แต่ก็ได้รับความเคารพและเอื้อเฟื้อจากเด็กรุ่นหลัง..เป็นครั้งคราว
เขาสนิทสนมกับช่างภาพชาวอเมริกัน เบอนิส แอบบอท Berenice Abbott (ตอนนั้นเธอยังเป็นผู้ช่วยของ Man Ray)
ส่วนตัวของ แมนเรย์ ( Man Ray ) ก็รู้จักคุ้นเคยกับยูจีน อาเช่ อยู่ไม่น้อย - แมน เรย์เคยซื้อกล้องรุ่นใหม่ให้อาเช่
เพราะเห็นว่าของโบราณที่ใช้อยู่นั้น มันหนักเกินไปสำหรับคนแก่ แต่แน่นอนว่ายูจีน อาเช่ ไม่เคยนำกล้องใหม่ออกมา
ใช้เลย (เพราะใช้ไม่เป็น) และแมน เรย์ คนนี้นี่เองที่นำงานของอาเช่ไปตีพิมพ์ในหนังสือ จนเป็นที่เกรียวกราวในหมู่
ศิลปินก้าวหน้าแห่งยุคสมัย โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังสร้างงาน surrealism

สมัยนั้น สังคมศิลปิน นักคิด นักเขียน นักข่าว นักการเมือง จะใช้ชีวิตวนเวียนในสถานที่ใกล้กันเสมอ ทำให้พวกเขา
รู้จักคุ้นเคยซึ่งกันและกันพอสมควร ในแวดวงสังคมตะวันตกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2
จะมีเรื่องราวความสัมพันธ์ของศิลปิน ช่างภาพ นักเขียน ที่รู้จักคุ้นเคยกันเป็นชุมชนใหญ่ แม้จะมาจากพื้นเพต่างกัน
เป็นช่วงเวลาและบรรยากาศอุดมคติอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่นเรื่องราวของนักเขียน เฮนรี่ มิลเลอร์ ที่เดินทางมา
ปารีส รู้จักกับ เฮมมิงเวย์ แล้วก็ไปมีสัมพันธ์สวาทกับ อันนาอิส นิน นักเขียนสาวสวยอีกคนหนึ่ง ขณะที่อันนาอิสก็ไป
มีอะไรๆกับ จูน มิลเลอร์ (เมียของเฮนรี่) และพวกเขาก็จะสนิทสนมกับ บราไซ ช่างภาพแนว street photo ผู้นิยมถ่าย
ภาพกลางคืน ..และในแวดวงเดียวกัน ปิคัสโซ่ ก็มักจะอยู่ใกล้กับคนกลุ่มนี้เสมอ ส่วนศิลปิน surrealists ก็ไม่ใช่
คนอื่นคนไกล แล้วยังโยงใยถึงโรงเรียนบาวเฮ้าส์ในเยอรมัน ที่มีแนวคิดทางการเมืองต่อต้านพรรคนาซีอย่างรุนแรง
เรียกว่าทวีปยุโรปในตอนนั้นเป็นชุมชนศิลปินขนาดใหญ่เลยก็ว่าได้

ความสัมพันธ์เชิงเอื้ออาทร ระหว่าง เบอนิส แอบบอท กับ ยูจีน อาเช่ และแมนเรย์
ตามสภาพจริงขณะนั้น ยูจีน อาเช่ เป็นคนแก่ เป็นช่างภาพโบราณที่ตกยุคก็ว่าได้
แต่ผลงานของเขาก็ยังเป็นที่ชื่นชม เคารพนับถือในหมู่ศิลปินรุ่นใหม่ๆ ลักษณะของชุมชนสัมพันธ์ที่คนยุคปัจจุบันจะ
ไม่ค่อยมีโอกาสสัมผัสเท่าใดนัก

เมื่อยูจีน อาเช่ เสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม ค.ศ 1927
เบอนิส แอบบอท ได้ซื้อและเก็บรักษาผลงานทั้งหมดของยูจีน อาเช่ไว้ (ยกเว้นส่วนที่เป็นสมบัติของรัฐบาลฝรั่งเศส)
เธอได้ทำการอัดขยายภาพ..ด้วยวิธีการแบบเดียวกับที่อาเช่เคยทำไว้
กระทั่งในปี ค.ศ. 1968 พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (นิวยอร์ค) ได้รวบรวมจัดหมวดหมู่ต้นฉบับเนกาทีฟและภาพถ่าย
ทั้งหมดของ ยูจีน อาเช่ เพื่อตีพิมพ์ ..และจัดแสดงนิทรรศการ - ปัจจุบันผลงานภาพถ่ายของ ยูจีน อาเช่ ถือเป็นสมบัติ
ล้ำค่า (และหวงแหน) ของประเทศฝรั่งเศส ขณะที่ผลงานชุดที่ดีที่สุดของเขากลับอยู่ในสหรัฐอเมริกา





Comments