NEW YORK SCHOOL and NEW STREET PHOTOGRAPHY


photographs by Robert Frank


NEW YORK SCHOOL and NEW STREET PHOTOGRAPHY
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารณัฐนลิน / แก้ไขล่าสุด ปี 2553
บทความโดย ภูมิกมล ผดุงรัตน์ article : Poomkamol Phadungratna

ความหมายของคำว่า ภาพถ่ายข้างถนน / สตรีท โฟโตกราฟฟี่ ( Street Photography )

อ้างอิงหนังสือ Photo Speak ( Gilles Mora , Abbe Ville Press ) ความหมายเดิมของคำว่า สตรีท โฟโตกราฟฟี่
( street photography ) กล่าวถึงช่างภาพพอทเทรตข้างถนน รับถ่ายภาพราคาย่อมเยา ซึ่งธุรกิจประเภทนี้หายสาบสูญ
ไปเพราะการกำเนิดกล้องถ่ายภาพขนาดเล็ก (ถ่ายเองถูกกว่า) และนั่นคือความหมายดั้งเดิมของคำนี้
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน สตรีท โฟโตกราฟฟี่ หรือ ภาพถ่ายข้างถนน
หมายถึงภาพถ่ายสารคดีประเภทหนึ่ง ( documentary ) ซึ่งเน้นเรื่องราวชีวิตในเมือง ชีวิตประจำวันบนท้องถนน

New York School การทำงานแบบกลุ่มสกุลช่างนิวยอร์ค

ถึงแม้ว่าสกุลช่างนิวยอร์ค ยังคงบันทึกเหตุการณ์ตามสภาพจริงที่เกิด โดยมิได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ในภาพ
แต่ทว่าช่างภาพให้ความสำคัญต่อ "ความเป็นมนุษย์" มากเป็นพิเศษ (humanist and subjective approach) ทำให้
มุมมองของภาพมิได้ยืนอยู่บนความเป็นกลางเท่าใด ..พวกเขาในฐานะช่างภาพมิใช่แค่คนผ่านทาง แต่เป็นประจักษ์พยาน
ผู้มีอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวในภาพ พวกเขาสนใจในความสับสน วุ่นวายของสังคมเมือง

จากแนวคิดนี้เอง ทำให้รูปแบบของภาพต่างจากงานสารคดีทั่วไป
องค์ประกอบภาพมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น มีฉากหน้าที่โผล่เข้ามาอย่างบังเอิญ มีฉากหลังที่หักมุมในบางครั้ง และ
บางส่วนของภาพเป็นแค่เงาลางๆ หรือปล่อยให้ขาดความคมชัด (out of focus) เนื้อของภาพ (grain) ดูค่อนข้างหยาบ
ซึ่งสะท้อนบรรยากาศชีวิตบนท้องถนนได้อย่างชัดเจน สามารถถ่ายทอดความวุ่นวายลงบนภาพนิ่งสองมิติได้อย่างดี
นับเป็นการหักเหทางสุนทรียศาสตร์ครั้งสำคัญทางประวัติศิลปภาพถ่าย และการหักเหดังกล่าวเกิดขึ้นจากแนวคิด
(concept) ที่มีต่อโลกรอบตัวของช่างภาพ ประกอบกับเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพขนาดเล็ก ( 35 mm. ) ฟิล์มความไว
แสงสูง ช่วยให้พวกเขาทำงานอย่างรวดเร็ว บางครั้งสามารถยกกล้อง และกดชัตเตอร์โดยไม่ต้องมองเลย วิธีการนำเสนอ
เช่นนี้กลายเป็นต้นแบบของงานภาพถ่ายข้างถนนยุคต่อมา

กล่าวกันว่าแนวคิดของสกุลช่างนิวยอร์ค มีความใกล้ชิดกับปรัชญาแบบ existentialism
เช่นงานเขียนของ อัลแบร์ กามูร์ (Albert Camus) ชอง พอล ซาร์ต (Jean Paul Sartre)
ซึ่งมิใช่เรื่องแปลกเลยเมื่อพวกเขาต่างเป็นคนร่วมสมัยเดียวกัน นอกจากนั้นแนวทางภาพถ่ายยังขานรับแนวคิดแบบ
decisive moment หรืออาจแปลเป็นไทยได้ว่าวินาทีแห่งการตัดสินใจ ของอองรี คาทิเอ เบรซง (Henri Cartier Bresson)
ช่างภาพสารคดี ชาวฝรั่งเศส ซึ่งมองภาพถ่ายในฐานะสื่อที่เล่นกับ จังหวะ เวลา บวกประสบการณ์ช่างภาพ ในการนำเสนอ
เรื่องราวชีวิตที่เคลื่อนไหวอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง (และจับแช่ลงบนกรอบภาพนิ่งสองมิติ) อองรี คาทิเอ เบรซง มองว่า
ช่างภาพกับอุปกรณ์ของเขาต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน คนมองเหมือนที่กล้องเห็น กล้องเห็นเหมือนที่คนมองเห็น เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว
จึงสามารถจับเวลาและเหตุการณ์ที่ไม่เคยหยุดนิ่งได้ ปรัชญานี้ถือเป็นอิทธิพลทางความคิดของโลกตะวันออก เช่น
ศาสนาพุทธ นิกายเซน (zen) ของญี่ปุ่น (ปรัชญาศาสนาสะท้อนในงานศิลปะงานจิตรกรรมภู่กันของญี่ปุ่นและจีนก็อาศัย
หลักการเดียวกันนี้)

อย่างไรก็ตาม การที่ช่างภาพสกุลช่างนิวยอร์คคุ้นเคยกับปรัชญาเหล่านี้
มิได้หมายความว่าพวกเขาจำต้องใช้หลักการเหล่านี้เป็นตัวตั้งเสมอ ..
แนวคิดอาจเพียงแค่ นำมาใช้สนับสนุนสิ่งที่พวกเขาเชื่ออยู่แล้วแต่เดิม


อีกประการหนึ่ง คำว่าสกุลช่างนิวยอร์ค / New York School นั้นเป็นชื่อที่สังคมกล่าวขาน
แต่พวกเขาไม่เคยมาตั้งกลุ่มกันอย่างเป็นทางการ ช่างภาพกลุ่มนี้มี โรเบิร์ต แฟรงค์ (Robert Frank)
เฮเลน เลอวิท (Helen Levitt) ซิด กรอสแมน (Sid Grossman) บรูซ เดวิดสัน (Bruce Davidson)
วิลเลียม คลาย (William Klein)
และอีกหลายคน รวมทั้งช่างภาพแฟชั่น เช่น ไดแอน อาบัส (Diane Arbus)
ริชาร์ด อวาดอน (Richard Avedon)
และข้อมูลบางแห่งจะรวม อเลกซี่ โบรโดวิช (Alexey Brodovitch)
เข้าไปเป็นหนึ่งในกลุ่มช่างภาพนี้ด้วย แต่ทว่าสังคมจะรู้จัก โบรโดวิช ในฐานะกราฟฟิค ดีไซเนอร์ (graphic designer)
มากกว่า เพราะเขาเป็นบุคคลสำคัญ ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบนิตยสารแฟชั่นชื่อดังของอเมริกา เป็นครูของงาน
ออกแบบสิ่งพิมพ์สมัยใหม่ และครูของช่างภาพชื่อดังหลายคน (เช่น ริชาร์ด อวาดอน)

การหักเหทางสุนทรียศาสตร์ของสกุลช่างนิวยอร์คนั้น ขยายผลมาจากการใช้สื่อภาพถ่ายเพื่อความเป็นธรรมในสังคม
ในแบบของ ลิวอิส ไฮน์ การตัดสินใจอย่างเฉียบพลันแบบ อองรี คาทิเอ เบรซง รวมทั้งปรัชญาการค้นหาความหมาย
ของชีวิต ในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บวกกับความเชื่อ (ภายใต้กรอบทางวัฒนธรรม) ของพวกเขาเอง
และสิ่งเหล่านี้นำสู่ความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้ของมนุษย์ ทั้งในอารยธรรมตะวันตก และขยายผลไปสู่อารยธรรมอื่นๆ
ที่ไม่เคยมารู้เรื่องราวเหล่านี้ด้วยเลย


ภาพถ่ายสารคดีข้างถนน ในแนวความคิดของ New Street Photography

ภาพถ่ายสารคดีข้างถนน ในแนวความคิดของ New Street Photography หรือภาพถ่ายข้างถนนแนวใหม่
(มีบทบาทช่วงปี ค.ศ.1960 ถึง1980) คนกลุ่มนี้เป็นศิลปิน / ช่างภาพอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งขานรับแนวคิด และสุนทรียศาสตร์
ของสกุลช่างนิวยอร์ค แต่ลดทอนแง่มุมของความเห็นอกเห็นใจ หรือการมีอารมณ์ร่วม หันมาเน้นเรื่องของรูปทรง (form)
หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของภาพ (visual) มากกว่าเหตุการณ์ในภาพ บางครั้งเหมือนพวกเขากดชัตเตอร์โดยมิได้
ใส่ใจว่ากล้องถ่ายติดอะไรมาบ้าง ทั้งนี้มาจากแนวคิดที่ว่า ชีวิตมีเรื่องราวน่าสนใจมีเรื่องจะบอกเล่าในตัวเองอยู่แล้ว และ
ช่างภาพเป็นแค่ "สื่อ" ดังนั้นการบันทึกเหตุการณ์โดยเข้าไปมีอารมณ์ร่วม จะทำให้เรื่องราวในภาพนั้นผิดเพี้ยน บิดเบือนไป
จากความจริง ศิลปิน / ช่างภาพกลุ่มนี้ประกอบด้วย แกรี่ วินโนแกรน (Gary Winogrands) ลี ฟีแลนเดอร์ (Lee Friedlander)
ซึ่งวิธีการนำเสนอของพวกเขา เป็นการนำศิลปภาพถ่ายหลีกหนี หรือฉีกตัวเองจากภาพบีบคั้น
สะเทือนอารมณ์..ที่เริ่มจะมีมากมายเกินไปในยุคนั้น - ในด้านสุนทรียศาสตร์ รูปลักษณ์ที่เย็นชา แห้งแล้ง ไร้ความรู้สึก และ
ออกจะแข็งกระด้าง เหล่านี้กลายเป็นรูปแบบ เป็นอีก style หนึ่งของศิลปภาพถ่าย ที่มีผู้คนยอมรับและคุ้นเคยอีกแนวหนึ่ง

(บทความส่วนที่ถูกตัดออกมา)
งานภาพถ่ายข้างถนน--มิได้ถูกจำกัดด้วยเวลา หรือสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นกลางวัน กลางคืน
บนท้องถนนหรือในบ้าน มิอาจรอดพ้นความอยากรู้อยากเห็นของช่างภาพไปได้ ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้าเพียงใด
ยิ่งขยายขอบเขตการทำงานของช่างภาพขึ้นเท่านั้น


ระหว่างปี ค.ศ.1920 ถึง1940 (ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง)
บราไซ (Brassai) ช่างภาพชาวฮังกาเรี่ยน ตระเวนบันทึกภาพชีวิตในนครปารีส ฝรั่งเศส
ภาพชีวิตบนท้องถนน ในร้านเหล้า ร้านกาแฟ ตรอกซอกซอย ซ่องโสเภณี โรงระบำโป๊ ไปจนถึงแหล่งมั่วสุมของชนชั้นสูง
งานของเขาจำนวนมากจะเป็นภาพชีวิตกลางคืน และในปี ค.ศ.1924 เขาหันมาถ่ายภาพกลางคืนอย่างจริงจัง (นอนกลางวัน
ทำงานกลางคืน) จนกระทั่งตีพิมพ์เป็นหนังสือรวมภาพผลงานในปี ค.ศ.1933 (Paris by Night / Paris de Nuit)

และช่วงเวลาใกล้เคียงกันในสหรัฐอเมริกา
อาเธอร์ ฟีลิก ( Arthur Fellig ) หรือที่รู้จักกันทั่วไปใน นามว่า วีจี้ ( Weegee )
ช่างภาพผู้คุ้นเคยกับชีวิตกลางคืน ผู้รอบรู้เรื่องราวอาชญากรรมในเมืองนิวยอร์คเป็นอย่างดี งานของเขาคล้ายคลึงกับบราไซ
แต่ทว่ารุนแรงกว่า เต็มไปด้วยเลือด ศพตายโหง แทบทุกครั้งที่มีการฆาตกรรม หรือเรื่องตื่นเต้น สยองขวัญ วีจี้มักไปปรากฏ
กายก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสมอ..เพื่อถ่ายภาพ บางคนคิดว่าเขาเลี้ยงผี หรือมีพลังจิตพิเศษ ที่หยั่งรู้อนาคต แต่ความจริงแล้ว
เขามีเครื่องดักฟังวิทยุสื่อสารของตำรวจอยู่ในรถ ผลงานของเขาตีพิมพ์รวมเล่มในปี ค.ศ.1936 (Naked City)

ทั้งบราไซ และ วีจี้ ล้วนทำงานภาพถ่ายบนท้องถนน ล้วนเป็น street photography ..แต่ให้อารมณ์แตกต่างโดยสิ้นเชิง
และแน่นอนว่าช่างภาพทั้งสอง มิได้มีส่วนร่วมในกระบวนคิดของ New York School และ New Street แต่ทว่าในความ
ต่างของเขาทั้งสองนั้น บ่งบอกถึงอารมณ์แห่งยุคสมัย และต้นทางความเปลี่ยนแปลงทางสุนทรียศาสตร์ อันมีต่อผู้คน หรือ
สังคมร่วมสมัยของเขาเอง

(บทความยังไม่สมบูรณ์ ต้องขยายความในส่วนของ street photography ..สามปีแล้ว ยังไม่ได้ลงมือสักที)



Comments