Vampires and Zombies : Cultural Interpretation (1)











fictional BuNiKa (old town)

Vampires and Zombies : Cultural Interpretation article by Poomkamol Phadungratna


สิ่งที่ไม่ยอมตาย
แวมไพร์..ซอมบี้ ในบริบททางวัฒนธรรม

บทความ : ภูมิกมล ผดุงรัตน์

แวมไพร์และซอมบี้ ที่เราเห็นทุกวันนี้เป็นภาพลักษณ์อันคุ้นเคยจากภาพยนตร์
วรรณกรรม การ์ตูน ทั้งผลิตซ้ำ..และขยายความ จากศตวรรษที่สิบเก้่าเรื่อยมา
จนถึงช่วงสิบปีแรกของศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างปรากฏ
ให้เห็นชัดเจนมากขึ้น นั่นคือความเป็น "แวมไพร์"กับความเป็น"ซอมบี้"เริ่มหลอม
รวมเข้ามา ในบางครั้งกลายเป็นเรื่องเดียวกัน บางครั้งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก
ซึ่งตรงนี้ต่างจากศตวรรษก่อนหน้า ที่สองสิ่งนี้มีอัตลักษณ์เฉพาะของตนชัดเจน
แบ่งแยกและไม่สามารถเป็นสิ่งเดียวกันได้ในความเข้าใจของผู้คนในศตวรรษที่ยี่สิบ

ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น..
หรือว่าเป็นแค่ stereotype ของผู้บริโภคในศตวรรษที่ยี่สิบ ที่ยึดมั่นเอาเองว่า
แวมไพร์ต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ และซอมบี้ต้องเป็นในสไตล์ของ จอร์ช โรเมโร่
(George A. Romero) ผู้สร้างภาพยนตร์ซอมบี้คลาสิค Night of the Living
Dead (ปี ค.ศ. 1968)




01

ก่อนอื่น ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ..สิ่งที่ไม่ยอมตายเหล่านี้

สิ่งที่ไม่ยอมตาย..หรือคนตายที่กลับมาเดินบนผืนดิน ในภาษาอังกฤษจะเรียกรวมๆว่า
the living dead ทั้งแวมไพร์และซอมบี้ ต่างเป็น the living dead ที่ว่านี้เหมือนกัน
ตำนานของสิ่งที่ไม่ยอมตาย..มีมาแต่ยุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปถึง 2500 BC
หรือเกือบห้าพันปีก่อน และในอารยธรรมต่างๆทั่วโลก ล้วนมีตำนานสิ่งที่ไม่ยอมตาย เล่า
ขานเป็นของตนเอง ในประเทศจีน..สิ่งที่ไม่ยอมตายนี้เรียกว่า jiang shi ซึ่งไม่ใช่วิญญาณ
ภูตผีธรรมดา แต่เป็นศพเดินดินที่ลุกขึ้นมาล้างแค้น..กัดกินผู้คนที่ยังมีชีวิต ในอารยธรรม
อาหรับ มีสิ่งที่เรียกว่า ghoul (กูล) เป็นตำนานของหญิงสาวที่มีตราบาป หรือถูกสังคม
ประนามว่าเป็นคนบาป หลังพวกเธอเสียชีวิต..ร่างเธอกลับสู่ผืนโลกอีกครั้ง กลายเป็นสาว
สวยที่เร่ร่อนกลางทะเลทราย ล่อลวงผู้คนให้เข้าใกล้ หลอกให้ลุ่มหลงในความงาม จากนั้น
เธอจะเปลี่ยนเป็นปีศาจร้าย..และขยำกัดกินคนผู้นั้นเป็นอาหาร นี่เป็นตำนานที่แพร่หลายใน
ตะวันออกกลาง ประมาณช่วงศตวรรษที่หกเรื่อยมา

ทางฝั่งยุโรปตะวันตก แถบสแกนดิเนเวีย..ในกลุ่มอารยธรรมของไวกิ้ง
สิ่งที่ไม่ยอมตาย..เรียกว่า drauugr (ดราเกอร์) และมีความแตกต่างจากตำนานเอเชียใน
ฝั่งตะวันออก ในฝั่งเอเชียและตะวันออกกลาง สิ่งที่ไม่ยอมตาย..กำเนิดจากความผิดบาป
ประการใดประการหนึ่ง จึงส่งผลให้เป็นปีศาจทำร้ายผู้คน จะด้วยความแค้น ความชั่วร้าย
หรือเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมที่ไม่เคยได้รับ อย่างไรก็ตาม drauugr สิ่งที่ไม่ยอมตายของ
ชาวไวกิ้ง ไม่มีเหตุผลอธิบายทางศีลธรรมใดๆ ..อยู่เหนือความตาย เหนือความดีความชั่ว
มีพลังเหนือมนุษย์ธรรมดา มีอาวุธในมือ ฆ่าเมื่ออยากจะฆ่า กินคนเมื่ออยากจะกิน เป็นอะไร
ที่ดุร้ายที่สุดในบรรดาตำนานสิ่งที่ไม่ยอมตาย

ส่วนประเทศอังกฤษ
มีเรื่องราวของ Revenant ศพเดินดิน..ที่ลุกขึ้นมากัดกินผู้คน
ตำนานนี้บันทึกไว้ในยุคกลาง ประมาณศตวรรษที่สิบสอง


สิ่งที่ไม่ยอมตาย..ในตำนานประวัติศาสตร์มิได้แยกแยะระหว่างความเป็น "แวมไพร์"
หรือ "ซอมบี้" แต่เป็น the living dead ที่ย้อนกลับมาสร้างความหวาดกลัวแก่สังคม
และจากสารคดีเรื่อง Zombies : A Living History ออกอากาศทาง History Channel
เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2011 ซึ่งวิเคราะห์ต้นกำเนิดของตำนาน ผลกระทบทางจิตวิทยา
ต่อสังคมสมัยใหม่ ความนิยมในวัฒนธรรมกระแสหลักที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนหนึ่งนั้น
เป็นบทสัมภาษณ์ Rebekah McKendry จากนิตยสาร Fangoria ..เธอกล่าวถึงช่วงหนึ่ง
ของมหากาพย์กิลกาเมช (Epic of Gilgamesh) ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในยุคเมโสโปเตเมีย
(Mesopotamia) เมื่อประมาณ 2000 BC หรือประมาณสี่พันปีที่แล้ว ข้อความตอนหนึ่ง
เทพีอิชทา (Ishtar) กล่าวว่า "I will raise up the dead ,and they will eat the
living. And the dead will outnumber the living." หากแปลเป็นไทย
"ข้าจะปลุกคนตายขึ้นมา คนตายจักกินคนเป็น และที่สุดคนตายจะมีมากกว่าคนเป็น"
ข้อความแนวนี้เป็นคอนเซปซอมบี้อย่างชัดเจน



02

เรื่องราวเกี่ยวกับ vampires "ผีดูดเลือด" มีอยู่แต่โบราณในเกือบทุกอารยธรรม
ทั้งตำนานพื้นบ้าน ความเชื่อทางศาสนา ในยุคแรกเริ่ม ผีดูดเลือดไม่ใช่ความชั่วร้าย
แต่เป็นพฤติกรรมอีกด้านหนึ่งของเหล่าเทพเจ้า ในศาสนาฮินดู เจ้าแม่กาลีเป็นเทพเจ้า
ที่กินเลือด เทพเจ้าของกรีกหลายองค์ล้วนมีนิสัยคล้ายคลึงกัน นอกจากนั้นยังมีเทพเจ้า
อีกมากมายที่ต้องเซ่นสังเวยด้วยเลือดมนุษย์ ศาสนาโบราณ เช่น Druid (ดรูอิด) ใน
แถบบริเตน (เกาะอังกฤษ) ไอรแลนด์ กอล (ฝรั่งเศส) เคยมีประเพณีบูชายัญมนุษย์
สังเวยเทพเจ้าด้วยเลือดสดๆ ซึ่งสร้างความสยดสยองแก่ชาวโรมัน ทำให้ศาสนาดรูอิด
เป็นสิ่งต้องห้ามในจักรวรรดิ์โรม


อารยธรรมตะวันออก

ตำนานพื้นบ้านของมาเลเซียมีเรื่องเกี่ยวกับ ลังสุยาร์ เป็นผีตายท้องกลมที่ฟื้นขึ้นมา
ดูดเลือดเด็กทารก "ลังสุยาร์"เป็นสาวสวย มีเล็บยาว แหลมคม สามารถแปลงร่างเป็นนกฮูก
ส่วนในฟิลิปปินส์มีตำนาน "อัสวัง" (Aswang) ลักษณะของอัสวังนั้น แตกต่างไปตามแต่
ภูมิภาค บางตำนานเป็นสาวสวยปีศาจดูดเลือด เวลาที่อัสวังดูดเลือดเหยื่อ จะมีลิ้นยาวออกมา
ล้วงเข้าไปในช่องทวารทุกส่วนของร่างกายเหยื่อ ในบางตำนานเป็นปีศาจสาวที่มีปีกเหมือน
ค้างคาว อย่างไรก็ตาม อัสวังเป็นวิญญาณที่น่าสะพึงกลัว สามารถเป็นอะไรก็ได้ที่ฝังลึก
ในจินตนาการความหวาดกลัวของมนุษย์ ไม่ว่าอาการเจ็บป่วยที่ไม่รู้สาเหตุ ความซวยที่ไม่รู้จบ
ล้วนถูกโยนให้เป็นการกระทำของอัสวัง แม้แต่ชาวสเปนผู้ครอบครองหมู่เกาะฟิลิปินส์ในช่วง
ศตวรรษที่ 16 ยังเคยบันทึกความน่ากลัวของอัสวังเอาไว้มากมาย

ส่วนวัฒนธรรมไทยมีผีปอบ
ซึ่งในตำนานดั้งเดิมไม่สยดสยอง..แต่โหดร้ายกว่าในเชิงความคิด เพราะผีปอบไทย
แบบดั้งเดิม ไม่ได้ออกมาวิ่งไล่ควักไส้ผู้คน แต่สิงอยู่เงียบๆและค่อยกินเจ้าของร่างนั้น
ทีละน้อย..จากข้างใน จนร่างคนนั้นตายไปเองในที่สุด เรียกว่าฆ่าให้ตายทั้งเป็น ฆ่าอย่างช้าๆ
ตายอย่างไม่รู้ตัว ถึงผีปอบไม่ใช่ตระกูลแวมไพร์ แต่ก็มีวิธีกินคนแบบค่อยเป็นค่อยไปคล้ายกัน
ตำนานผีปอบไทยและอัสวังของฟิลิปปินส์จะมีส่วนคล้ายคลึงกันในหลายแง่มุม และมีวิธีเล่าขาน
แตกต่างกันไปตามภูมิภาคด้วยเช่นกัน

อารยธรรมตะวันตก

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคของ Judeo-Christian Tradition
หรือตั้งแต่ศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาหลักเพียงศาสนาเดียวของอาณาจักรโรมัน
กระบวนคิดทางศาสนายิว-คริสเตียนเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับ "สิ่งเหนือธรรมชาติ"
ที่ดูดเลือดมนุษย์เป็นอาหาร ได้กลายเป็นเรื่องราวของความชั่วร้าย


ในพระคัมภีร์เก่า-พระคัมภีร์ใหม่ คนทั่วไปจะรู้จักกับมนุษย์คู่แรกของโลกคือ อดัมส์และอีฟ
อย่างไรก็ตามในพระคัมภีร์เก่าฉบับของฮิบรู (ซึ่งเป็นฉบับดั้งเดิม) ได้กล่าวถึง ลิลิธ (Lilith)
เรื่องราวรายละเอียดเกี่ยวกับ "ลิลิธ" ยังเป็นที่ถกเถียงในวงวิชาการมาจนถึงปัจจุบัน ในความ
ทรงจำ..หรือความเชื่อของผู้คนยุคศตวรรษหลัง เชื่อกันว่า ลิลิธ เป็นเมียคนแรกของอดัมส์
แต่ด้วยเหตุทะเลาะเบาะแว้ง จนเป็นความโกรธเกลียด อาฆาตแค้น ลิลิธจึงแยกทางกับอดัมส์
และยังได้ประกาศตัวเป็นศัตรูกับพระเจ้าอีกด้วย .. ในตำนานบางฉบับได้กล่าวถึง "ลิลิธ" ว่า
เป็นผู้หญิงที่มีสมอง เก่งกว่าและฉลาดกว่าอดัมส์ แต่พระเจ้ามักลำเอียงเข้าข้างอดัมส์เสมอ
ซํ้ายังเนรเทศเธอไปอยู่เกาะกลางทะเลไกลแสนไกล อันเป็นเหตุให้เธอต้องแตกหักกับพระเจ้า

ถึงแม้ว่าชื่อของลิลิธ ปรากฏขึ้นมาแต่สมัยเมโสโปเตเมีย มาจนถึงพระคัมภีร์เก่าฉบับของฮิบรู
แต่ทั้งหมดยากจะพิสูจน์ได้ว่าเรื่องราวมีความเกี่ยวเนื่องกัน อย่างน้อยก็ไม่ได้พิสูจน์ความเชื่อ
ของคนในศตวรรษหลัง..ว่าเรื่องราวของลิลิธเคยมีบันทึกไว้ในแบบที่ผู้คนจดจำ ..ถ้าเป็นแบบนี้
แล้วความทรงจำเกี่ยวกับลิลิธมาจากไหน ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าตำนานลิลิธ ในแบบ
ที่คนปัจจุบันเข้าใจนั้น น่าจะเขียนขึ้นมาช่วงยุคกลาง ประมาณศตวรรษที่แปด แล้วขยายความ
ต่อกันมาถึงศตวรรษที่สิบสาม เรื่องราวของลิลิธที่เขียนไว้ไม่กี่บรรทัด..กลายเป็นตํานานเล่าขาน
สืบต่อ เป็นบ่อเกิดจินตนาการให้กับเรื่องราวใหม่ๆ ปีศาจตัวใหม่ๆตลอดช่วงเวลากว่าสองพันปีที่
ผ่านมา และยังถือกันว่า..ลิลิธเป็นแม่พิมพ์ของตํานานปีศาจสาวสวยแห่งอารยธรรมร่วมสมัย
ซึ่งรวมถึงผีดูดเลือด หรือ vampire

ส่วนในตำนานพื้นบ้านของชาวยุโรปตะวันออก
กล่าวถึงปีศาจดูดเลือดที่เรียกว่า vampire เอาไว้มากมาย ซึ่งผีดูดเลือดในความคิดของ
สังคมปัจจุบัน..โดยเฉพาะในนิยาย-ภาพยนตร์ ล้วนเป็นอิทธิพลจากตำนานยุโรปตะวันออก
นี้เป็นส่วนใหญ่

ผีดูดเลือดในบริบทสังคมสมัยใหม่

จากเทพเจ้าที่คนเคารพบูชา..
สู่ตำนานปีศาจร้ายของพื้นบ้านถ่ายทอดสู่วรรณกรรมสมัยใหม่..
นิยายผีดูดเลือดเรื่องแรกในภาษาอังกฤษ..ที่โลกได้รู้จักนั้น เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1816


เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1816
จอร์ช กอร์ดอน ไบรอน (George Gordon Byron) หรือรู้จักกันในนาม ลอร์ด ไบรอน
(Lord Byron) กวีผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง..และฉาวโฉ่แห่งยุค ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆของ
เขาที่บ้านพักริมทะเลสาบเจนีวา (ประเทศสวิสเซอร์แลนด์) ..มิถุนายนในซีกโลกแถบเหนือ
ควรจะเป็นห้วงฤดูร้อน แต่ทว่าปีนั้นกล่าวกันว่าเป็นปีที่ปราศจากฤดูร้อน เนื่องจากปีก่อนหน้า
(เมษายน ค.ศ.1815) เกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ที่ประเทศอินโดนีเซีย (Mount Tambora)
ก่อให้เกิดเถ้าถ่านมหาศาลลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ปกคลุม มืดครึ้มไปทั่วโลกจนข้ามถึงปี
1816 ..และในสภาพสุดหลอนเช่นนั้น ลอร์ดไบรอนกับเพื่อนๆได้เกิดแนวคิดที่จะแต่งเรื่อง
สยองขวัญมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อนคนหนึ่งคือ แมรี่ แชลลี่ (Mary Shelley) ได้คิดโครงเรื่อง
แฟรงเก้นสไตน์ และต่อมางานชิ้นนี้ของเธอได้กลายเป็นวรรณกรรมสยองขวัญที่คลาสสิคที่สุด
เรื่องหนึ่ง

ส่วนลอร์ดไบรอนเขียนค้างไว้เรื่องหนึ่ง ..เขาเลิกล้มความตั้งใจที่จะเขียนให้จบ
ต่อมาเพื่อนอีกคนคือ จอห์น วิลเลี่ยม โพลิโดริ (John William Polidori) ได้นำมาสานต่อ
จนกลายเป็น The Vampyre วรรณกรรมผีดูดเลือดในภาษาอังกฤษเรื่องแรก ยิ่งไปกว่านั้น
The Vampyre ยังเป็นนิยายแนวอิโรติคอีกด้วย ต้นแบบวิธีต่อต้านการกดขี่ทางวัฒนธรรม
ที่ปรากฏในรูปของนิยายสยองขวัญ จุดหักเหอีกหนึ่งคือตำนานผีดูดเลือดของยุโรปตะวันออก
แต่เดิมคือศพเดินดินที่น่าเกลียด สกปรกและแพร่เชื้อโรค แต่ผีดูดเลือดใน The Vampyre
นำเสนอในแง่มุมของความเย้ายวน อันตรายที่ดึงดูดใจผู้คน

ต่อมาในปี ค.ศ. 1871
นักเขียนชาวไอริช โจเซฟ เชอริดัน เลอฟานู (Joseph Sheridan Le Fanu) ได้เขียน
เรื่องสั้น Carmilla ซึ่งกลายเป็นงานคลาสสิคที่ผู้คนจดจำและกล่าวถึงจนตราบเท่าทุกวันนี้
คามิลล่า (Carmilla) ได้กลายเป็นต้นแบบและเป็นแรงบันดาลใจนิยายผีดูเลือดในศตวรรษ
ที่ 19 - 20 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน แม้แต่นิยายเรื่อง Dracula ของ แบรม สโตรเกอร์ (ค.ศ.1890)
ยังได้อิทธิพลมาจากคามิลล่าอยู่ไม่น้อย

ในอารยธรรมตะวันตกสมัยวิคตอเรี่ยน
แบบฉบับวรรณกรรมต่อต้านการกดขี่ทางวัฒนธรรมจะปรากฏในรูปของนิยายสยองขวัญ
และบรรดาเรื่องราวของเลสเบี้ยนแวมไพร์ คงไม่มีเรื่องไหนโด่งดังไปกว่า คามิลล่า

คามิลล่า (Carmilla) เป็นเรื่องสั้นๆที่มีอยู่ไม่กี่หน้ากระดาษ
แต่เป็นที่กล่าวขานจดจํา พิมพ์ซํ้า อ่านซํ้ากันมาหลายชั่วอายุคน ดัดแปลงเป็น
ภาพยนตร์มากมายนับไม่ถ้วน ในเนื้อหาของต้นฉบับเดิมนั้น คามิลล่าไม่ใช่แค่
เรื่องผีธรรมดา คามิลล่าเป็นเรื่องราวทางอารมณ์ เงื่อนปมทางจิตวิทยาที่ซับซ้อน
อีกทั้งยังโจมตีจริยธรรมแบบวิคตอเรี่ยนที่เข้มงวดกดขี่ในยุคนั้น หากพิจารณาบริบท
ทางสังคมของโลกตะวันตกในศตวรรษที่ 18-19 ยุคจริยธรรมวิคตอเรี่ยนที่เก็บกด
และกดขี่ในเรื่องเพศ สังคมที่ปฏิเสธการแสดงออกทางความคิด ค่อนข้างปฏิเสธ
เรื่องความเสมอภาคของมนุษย์อย่างรุนแรง เป็นยุคที่เรียบร้อย ร่ำรวย เป็นระเบียบ
และสวยงาม ..ยุคที่สังคมประกาศตนเป็นศัตรูกับ "ความเป็นมนุษย์" หรือสร้าง
ค่านิยมที่สวนทางกับธรรมชาติของมนุษย์ - แต่ขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าทาง
วิทยาการ การปฏิวัติอุตสาหกรรมในระบอบทุนนิยมที่เติบโตมากับความมั่งคั่งของ
ยุคได้ก่อให้เกิดกระบวนคิดที่ขัดแย้งกันเอง ระหว่างโลกอุดมคติและชีวิตที่เป็นอยู่จริง


คนหนุ่มสาวของยุคสมัยจำนวนหนึ่งเริ่มปฏิเสธกระบวนคิดของสังคมวิคตอเรี่ยน
โดยเฉพาะในเรื่องเพศ พวกเขาแสดงออกผ่านงานวรรณกรรม แต่การแสดงออกในสังคม
ที่กดขี่เข้มงวดนั้นต้องทำอย่างซับซ้อน-แนบเนียน ความรู้สึกทางเพศหรือการร่วมเพศถูก
นำเสนอผ่านสัญลักษณ์ ถ้อยคำที่มีนัยแฝงเร้น แม้ไม่ได้กล่าวถึง sex อย่างตรงไปตรงมา
แต่ทำให้คนอ่านเกิดอารมณ์เช่นนั้นขึ้นมาได้ การวิจารณ์หลักศีลธรรมและศาสนาจะไม่ใช้
วิธีด่าทอตรงๆ แต่จะเขียนในเชิงเห็นด้วย อ่านแล้วเหมือนชื่นชมแต่กลับให้ผลในทางตรงข้าม

นิยายผีดูดเลือดเป็นสัญลักษณ์หนึ่งในกลุ่มสัญลักษณ์แรกๆของยุคสมัย
และไม่ใช่สิ่งที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ เพียงแค่หยิบยืมมาจากตำนานสยองขวัญของพื้นบ้านโบราณ
ตำนานศาสนาที่มีอยู่แต่เดิม

ผีดูดเลือดกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป

แวมไพร์..ผีดูดเลือดในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 มาถึงต้นศตวรรษที่ 21 (ปัจจุบัน)
มีความหมายที่ต่างไปจากเดิมพอสมควร ในอารยธรรมตะวันตกปัจจุบันนี้ เปิดกว้างมาก
กว่ายุควิคตอเรี่ยนมากมาย สิทธิเสรีภาพต่างๆที่ประชาชนพึงมีก็ได้มีเกือบครบถ้วน การ
ใช้ผีดูดเลือดเพื่อเป็นสัญลักษณ์หลอกด่าชนชั้นสูงจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม
ความหมายแฝงเร้นในงานประเภทนี้ยังคงมีอยู่

ในส่วนขยาย ผีดูดเลือดถูกนำไปตีความใหม่อย่างอิสระ ซึ่งใครๆสามารถมีนิยามใหม่ๆ
เกี่ยวกับผีดูดเลือดอยู่เรื่อยๆ ทั้งในนิยาย ภาพยนตร์ หนังสือการ์ตูน เกมวิดีโอ..

จากเลสเบี้ยนแวมไพร์ในวรรณกรรมคลาสิคเช่นคามิลล่า พัฒนามาสู่เกย์แวมไพร์ใน
นิยาย Interview With A Vampire ของแอน ไรซ์ (Anne Rice) หรือแวมไพร์วัยรุ่นที่
ส่องแสงเหมือนหิงห้อยใน Twilight หรือแวมไพร์ในขั้วตรงข้าม (ไม่นุ่มนิ่มแบบ twilight)
เช่นภาพยนตร์โทรทัศน์ชุด The Vampire Diaries ซึ่งมีเนื้อหารุนแรงกว่า
หรือแวมไพร์โหดร้ายอัปลักษณ์แบบ 30 Days of Nights หรือจะเป็นการบอกเล่าชีวิต
ประจำวันของมนุษย์เช่น การยึดติดกับสังขาร ความลุ่มหลงจนแยกแยะไม่ออกระหว่าง
ความรักและความเห็นแก่ตัว แล้วจบด้วยการนองเลือด อย่างในภาพยนตร์ The Hunger
(ค.ศ.1983) และยังมีนิยาย -ภาพยนตร์แวมไพร์ที่พัฒนาไปสู่มิติเชิงปรัชญา มิติทางอารมณ์
ที่ลึกซึ้ง เป็นภาพสะท้อนชีวิตในศตวรรษปัจจุบัน เช่น Let the Right One In (ค.ศ. 2008
ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายของ John Ajvide Lindqvist ค.ศ. 2004)

นี่เป็นตัวอย่างในกลุ่มวัฒนธรรมกระแสหลัก (mainstream cuture)

นอกจากนั้น ผีดูดเลือดยังเข้าไปมีบทบาทในวิถีแบบ goth
ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมกระแสรอง (sub culture) ที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นทั่วโลก
และแน่นอนว่าผีดูดเลือดกอธ หรือ gothic vampires เหล่านี้ก็มีนิยามเฉพาะของตน

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งซึ่งอยู่คู่กับแวมไพร์มาเนิ่นนาน และปรากฏชัดเจนในปี 1816
นั่นคือเรื่องทางเพศ ในทางประเพณีนิยม แวมไพร์ผีดูดเลือดมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องเซ็กส์
อยู่เสมอ ทั้งแอบแฝงและเปิดเผย โดยเฉพาะรสนิยมในทาง fetishism ไม่ว่าจะเป็น
blood fetish หรือ neck fetish และอีกมากมาย

ในสหรัฐอเมริกายุคก่อนมีอินเตอร์เนต (ก่อนทศวรรษ 1990)
หนังสือเฉพาะทางหรือศิลปะวัตถุใดที่เกี่ยวข้องกับผีดูดเลือด จะหาได้ตามร้านขายเครื่องราง
ของขลัง ร้านหนังสือการ์ตูน (ในสหรัฐฯ ร้านหนังสือการ์ตูนจะขายแค่หนังสือการ์ตูนและ
สื่อที่เกี่ยวข้องเท่านั้น) ร้านชีวะจิต..เช่นอาหารสุขภาพ อาหารเจ หนังสือโยคะ-ธรรมะ

แต่ทว่าหลังจากเกิดโลกไซเบอร์ รสนิยมเฉพาะทาง สื่อและศิลปะวัตถุเกี่ยวข้องกับผีดูดเลือด
จึงย้ายมาอยู่ตามอินเตอร์เนต และยิ่งแปรรสนิยมเฉพาะทางของตนอย่างเสรี ในบางกรณี
ขยายผลไปสู่สถานะหนังโป๊ที่ตรงไปตรงมา หรือ pornography อย่างเช่นเว็บไซต์
Horror Sex ในช่วงทศวรรษ 1990 ..แต่ดูเหมือนว่าผู้ผลิตภาพถ่าย-คลิปวิดีโอจะไม่เข้าใจ
ใน fetishism แนวนี้อย่างถ่องแท้ ความนิยมจึงเสื่อมถอยอย่างรวดเร็ว

ระยะเวลาร่วมสองร้อยปีที่ผ่านมา ผู้คนที่สนใจในผีดูดเลือดมิได้มีจำนวนลดน้อยลง
แน่นอนว่าการพิสูจน์จำนวนตัวเลขชัดเจนคงทำได้ยาก แต่หากประเมินจากผู้คนในกลุ่ม
วัฒนธรรมกระแสรองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรสนิยมทางนี้ จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นที่นิยม
สม่ำเสมอ อาจมีช่วงหวือหวาเมื่อแวมไพร์เป็นแฟชั่นในวัฒนธรรมกระแสหลัก แล้วห่างหาย
ไปเมื่อหมดกระแส แต่ทว่าในวัฒนธรรมกระแสรอง สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่เช่นเดิมและปริมาณ
ผู้คนมิได้ลดน้อยลงสักเท่าใด

จากตำนานเทพเจ้าที่ผู้คนบูชา มาเป็นปีศาจชั่วร้าย
มาสู่วรรณกรรมต่อต้านการกดขี่ทางวัฒนธรรม มาสู่วัฒนธรรมสมัยใหม่
หากกล่าวถึงชีวิตอมตะ..นี่คงเป็นการดำรงอยู่คู่กาลเวลาที่ยืนนานที่สุดก็ว่าได้




(ยังไม่จบ)

photographs from Janram's Secret Room series :








Comments