Biographical Narrative

photographs from "fictional BuNiKa series" by Chanakarn BuNiKa Chatakul (2009)
fictional BuNiKa series blog (2)

Biographical Narrative
บทความโดย ภูมิกมล ผดุงรัตน์ / จากนิตยสารณัฐนลิน ปีที่ 5 ฉบับที่ 39
article by Poomkamol Phadungratna from NATNALIN magazine / vol. 5 no. 39

Biographical Narrative เป็นคำจำกัดความทั่วไป
ไม่ใช่ศัพท์เทคนิค ไม่ใช่แนวคิด ไม่ใช่ทฤษฎีอะไรทั้งสิ้น
คำว่า Biographical Narrative ในศิลปภาพถ่าย
เป็นคำจำกัดความสำหรับงานที่เล่าเรื่องราวชีวิต และเพียงเท่านั้น


ไม่มีกรอบกำหนดวุ่นวาย ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว และงานภาพถ่าย ประเภทที่เล่าเรื่องราวชีวิตในแบบต่างๆที่ว่านี้
บางสถาบันก็ไม่ได้ใช้คำว่า Biographical Narrative เสมอไป แต่อาจมีคำอื่นๆ หรือคิดคำอื่นๆขึ้นมาใช้ ก็มีให้เห็น

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเริ่มสงสัยแล้วว่าในเมื่อคำๆนี้ มีความหมายกว้างขวางเสียขนาดนั้น
แล้วจะมีความสำคัญอะไรให้กล่าวถึงกันอีก ซึ่งตรงนี้คงต้องขอขยายความกันเล็กน้อย

แม้นไม่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการ ว่าใครเป็นคนเริ่มใช้คำว่า Biographical Narrative อย่างจริงจังเป็นคนแรก
ที่แน่นอนที่สุดคือ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ - นักวิชาการชาวอเมริกันชื่อ โจนาธาน กรีน (Jonathan green) อธิบาย
ถึงงานศิลปภาพถ่ายประเภทที่เล่าเรื่องราวชีวิตส่วนตัว ซึ่งเขาได้กำหนดหัวข้อเรื่องไว้ว่า Biographical Narrative
แล้วจัดหมวดหมู่ ยกตัวอย่าง ขยายความ ประเภท - ตัวอย่างผลงานภาพถ่ายจากศิลปินหลากหลายในยุคสมัยนั้น
(คือในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองมาจนถึงประมาณปลายทศวรรษของปี ค.ศ. 1970) แล้วเรียกงานลักษณะนี้
ไว้กว้างๆว่า Biographical Narrative ซึ่งบทความดังกล่าวเป็นบทหนึ่งในหนังสือของเขา American Photography

และบังเอิญ หนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นตำราเรียนมาตราฐานในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง..ในประเทศสหรัฐอเมริกา
และเป็นตำราที่ใช้สืบเนื่องมานานทีเดียว โดยเฉพาะในทศวรรษ 1980 - 90 ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงงานศิลปภาพถ่าย
ประเภทที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตส่วนตัว ผู้คนที่ผ่านการศึกษาในยุคสมัยนั้น ก็จะนึกถึงคำว่า Biographical Narrative
(ยกเว้นแต่ว่าพวกเขาจะสามารถคิดคำอื่นขึ้นมาใช้แทน)

แล้วศิลปภาพถ่ายที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตส่วนตัว..สำคัญอย่างไร ??

ในมุมมองของคนที่เติบโตในศตวรรษที่ 21 (ปัจจุบัน)
อาจไม่เข้าใจความหมาย - ความสำคัญของศิลปภาพถ่ายแนวนี้ หากไม่ได้พิจารณาถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์
หรือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับศิลปภาพถ่ายในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20

ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 คือตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
ศิลปภาพถ่ายในโลกตะวันตกเข้าสู่ยุคของ "ศิลปะสมัยใหม่" หรือ "ศิลปภาพถ่ายสมัยใหม่" (modernism / modern
photography) และเข้าสู่ยุคของศิลปะสมัยใหม่อย่างเต็มตัว เต็มที่ในแบบไม่มีช่องว่างให้งานสมัยเก่ายืนอยู่เลยด้วยซํ้า

แนวคิดหนึ่งของศิลปภาพถ่ายสมัยใหม่คือ "ภาพถ่ายไม่บอกเล่าเรื่องราวต่อเนื่อง"
เพราะภาพถ่ายคือภาพนิ่ง - อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม เป็นการบันทึกเสี้ยววินาทีหนึ่งของโลกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น


ภาพถ่ายไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีเพียงปัจจุบัน

ซึ่งลักษณะเฉพาะของภาพถ่ายนี้ คือคุณค่าสูงสุดของความเป็นศิลปภาพถ่าย (ในความคิดของศิลปภาพถ่ายสมัยใหม่)
ดังนั้น ช่างภาพจึงควรเข้าใจและซาบซึ้งกับคุณสมบัติข้อนี้ โดยมิต้องดัดจริตเสแสร้งสร้างงานของตนให้เล่าเรื่องแบบ
ภาพยนตร์ หรือพยายามอยากจะเป็นจิตรกรรม ในเมื่อภาพถ่ายถือเป็นที่สุดของงาน visual arts ในโลกนี้อยู่แล้ว - ซึ่ง
แนวคิดแบบศิลปภาพถ่ายสมัยใหม่ / modern photography นี้สร้างความรู้สึกดีๆให้กับช่างภาพ และคนทำงานภาพถ่าย
ในรุ่นต่อมา

ช่างภาพในตำนานอย่างเช่น เอ็ดเวิร์ด เวสตัน (Edward Weston) จะกล่าวอย่างภูมิใจว่า เขาคือช่างภาพ..ไม่ใช่ศิลปิน

แนวคิดประเภทนี้ขยายผลออกไปแบบสุดขั้วในยุคทศวรรษที่ 1960 เมื่อจอห์น ชาร์เคาสกี้ (John Szarkowski) เข้ามา
รับตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกศิลปภาพถ่ายพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ นิวยอร์ค Museum of Modern Art, New York

จอหน์ ชาร์เคาสกี้ปฏิเสธงานภาพถ่ายที่พรํ่าเพ้อและบีบคั้นนํ้าตา
เขาปฏิเสธรูปแบบงานที่นำเสนอในนิทรรศการ Family of Man (ค.ศ. 1955 ซึ่งนิทรรศการนั้นก็จัดขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์
ศิลปะสมัยใหม่ นิวยอร์ค ภายใต้การนำของ Edward Steichen ผู้อำนวยการคนเก่า) โดยที่จอห์น ชาร์เคาสกี้มองว่าวิธี
การนำเสนอเช่นนั้น พยายามยัดเยียดเนื้อหาเรื่องราวให้กับภาพถ่ายมากเกินไป และภาพถ่ายไม่ต้องการเรื่องราวไร้สาระ
พวกนั้น เพราะภาพถ่ายคือจุดสุดยอดในตัวของตัวเองอยู่แล้ว ไม่ต้องอธิบาย ไม่ต้องยัดเรื่องราว ไม่ต้องยัดสัญลักษณ์

แนวคิดของ จอห์น ชาร์เคาสกี้ได้รับการตอบรับอย่างท่วมถ้น

ศิลปภาพถ่ายสมัยใหม่ในช่วงปี ค.ศ. 1960 -70 มีความมั่นคงแข็งแกร่งและพัฒนารูปแบบเฉพาะตัวขึ้นมา แต่ยังมีอีก
แนวคิดหนึ่ง..ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งที่อยู่คู่ศิลปะสมัยใหม่มาเนิ่นนาน (ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20) นั่นคืองานเชิงความคิด
หรือ conceptual photography

ในขณะที่กระบวนคิด หรือ แนวทางศิลปภาพถ่ายสมัยใหม่เติบโตไปเท่าใด
งานภาพถ่ายเชิงความคิดก็เติบโต..และเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน

หนึ่งในกระบวนงานภาพถ่ายเชิงความคิด (ตามลัทธิศิลปะสมัยใหม่) นั้นคืองานภาพถ่ายที่เล่าเรื่องราวชีวิตส่วนตัว
ตรงนี้เป็นเรื่องหักมุมที่น่าสนใจ เพราะหลักการของศิลปภาพถ่ายสมัยใหม่คือ "ไม่เล่าเรื่องราวต่อเนื่อง"
แต่งานภาพถ่ายเชิงความคิด..ซึ่งเปลือกนอกก็คือภาพถ่ายตามแนวลัทธิศิลปะสมัยใหม่อย่างเต็มตัว _ เริ่มมีการหักเห
ออกจากเส้นทางปฏิบัติเดิมๆ

พวกเขามิได้ย้อนกลับไปหาการเล่าเรื่องแบบ photo essay แล้วก็ไม่ได้หยิบยืมความคิดมาจากจิตรกรรม แต่มัน
เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมากับภาพถ่ายเอง และแต่ละคนจะมีวิธีการนำเสนอที่ต่างกนออกไป

Emmet Gowin เป็นช่างภาพระดับแนวหน้า เป็นที่ยอมรับนับถือในวงการศิลปะและวงการศึกษา
และงานภาพถ่ายของเขา..โดยเปลือกนอก เหมือนภาพถ่ายสารคดีทั่วไป เหมือนงาน portrait เด็กและผู้หญิง
แต่ก็ไม่ใช่ภาพถ่ายสารคดีเสียทีเดียว ไม่ใช่งาน portrait ธรรมดา - ทั้งหมดนั้นคืองาน Biographical Narrative
หรือภาพถ่ายที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตส่วนตัว - เด็กและผู้หญิงในภาพก็คือภรรยาและลูกสาวของเขา ผู้คนในภาพก็
คือญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ..เขาบันทึกภาพคนเหล่านี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี แต่เล็กจนโต แต่ยังแข็งแรงจน
เจ็บป่วยแก่เฒ่า..ล้มตายจากกันไป งานทั้งหมดก็คือภาพชีวิตของเขา

ขณะที่ช่างภาพอีกคนหนึ่ง Duane Michals สร้างที่ดูเหมือนภาพถ่ายสารคดี..แต่ทิ้งร่องรอยให้เห็นชัดว่าหลายครั้ง
เป็นภาพที่จัดฉากขึ้น ..จัดฉากขึ้นก็เพื่อเล่าเรื่องราวของเขา ชีวิตส่วนตัว - ทั้งเรื่องความรักและเรื่องเพศสัมพันธ์
เขามักจะใช้ภาพวางเรียงกันเป็นลำดับ แล้วเขียนตัวหนังสือด้วยลายมือบ้าง พิมพ์บ้าง เพื่อบรรยายเรื่องราวที่เกิดขึ้น
หรือที่เขาอยากจะเขียน เหมือนเป็นสมุดบันทึกที่มีภาพถ่ายแปะเอาไว้เต็มไปหมด

ยังมีช่างภาพอีกมากมายในยุคนั้น..
ที่ทำงาน Biographical Narrative

ช่างภาพเหล่านี้ ล้วนเป็นเสมือนเสาหลักของศิลปภาพถ่ายสมัยใหม่แห่งยุค
แต่งานพวกเขาได้หักเหออกจากแนวคิดหลักบางประการของศิลปภาพถ่ายสมัยใหม่เสียเอง และความที่คนเหล่านี้
เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการ ไม่ใช่เด็กนักศึกษาที่หักมุมอะไรไปเรื่อยเปื่อยด้วยความไม่รู้เรื่อง ช่างภาพผู้ใหญ่เหล่านี้
สร้างงานที่แหวกแนวในยุคของตนเอง เป็นผู้ละลายกฎเกณฑ์ของศิลปะสมัยใหม่ ที่เริ่มจะเข้มงวดมากเกินไป และ
เปิดประตูให้กับงานเชิงความคิดใหม่อีกมากมายในอีกไม่กี่ปีต่อมาจนถึงปัจจุบัน

และนี่เป็นเหตุหนึ่ง เมื่อโจนาธาน กรีน เขียนเล่าประวัติศาสตร์ - พัฒนาการศิลปภาพถ่ายอเมริกัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้
เลยที่ต้องกล่าวถึงเหล่าช่างภาพที่สร้างงาน Biographical Narrative



Comments