Crimean War and American Civil War : photographs


American Civil War photographs :


WAR PHOTOGRAPHY : ภาพถ่ายสงคราม
CRIMEAN WAR and American Civil War : photographs
ภาพถ่ายสงครามไครเมียน และ ภาพถ่ายสงครามกลางเมือง (อเมริกัน)


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารณัฐนลิน / แก้ไขครั้งแรกสำหรับหนังสือศิลปะภาพถ่ายและภาพยนตร์
ของมหาวิทยาลัยสุโขทัย ฯ ปี 2548 / แก้ไขล่าสุด ปี 2553
บทความโดย ภูมิกมล ผดุงรัตน์ article : Poomkamol Phadungratna

01
Crimean War : photographs ภาพถ่ายสงครามไครเมียน


ในปี ค.ศ.1853 ถึง ค.ศ.1856 เกิดสงครามไครเมียน ( Crimean War )
ระหว่างรัสเซีย และ อาณาจักรตุรกี( Ottoman Turks ) โดยมีฝรั่งเศสและอังกฤษร่วมกันก่อเหตุแห่งสงคราม
ภาพถ่ายเริ่มมีบทบาทในการสงครามเป็นครั้งแรก

โรเจอร์ เฟนตัน ( Roger Fenton ) เจมส์ โรเบิร์ตสัน ( James Robertson )
และช่างภาพอีกหลายคน มุ่งหน้าสู่สนามรบเพื่อบันทึกภาพสารคดีสงคราม
ซึ่งโครงการภาพสงครามครั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษเป็นผู้สนับสนุน และแน่นอนว่าภาพที่ออกมา จำต้องตรงกับความต้องการ
ของรัฐบาลอังกฤษเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้จึงมีคำครหา เช่น งานชุดนี้เป็นโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าการนำเสนอความจริง
อย่างไรก็ตาม การกล่าวเช่นนั้นอาจจะไม่ยุติธรรมสำหรับช่างภาพสักเท่าใด ในเมื่อช่างภาพสามารถบันทึกได้เพียงสิ่งที่
ปรากฏอยู่ต่อหน้าเท่านั้น

โรเจอร์ เฟนตัน ออกเดินทางสู่สนามรบในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1855
และใช้เวลาในสงครามไครเมียนตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม ถึง 26 มิถุนายน ปีนั้น มีภาพถ่ายรวม 360 รูป

โรเจอร์ เฟนตัน ไม่ใช่ช่างภาพคนเดียวในสงครามไครเมียน
หลังจากที่เขาตัดสินใจเก็บของกลับบ้าน เจมส์ โรเบิร์ตสัน ( James Robertson ) ช่างภาพอีกคนหนึ่งยังปักหลักอยู่ต่อไป
และมีโอกาสบันทึกภาพเมือง Sevastopol ถูกทำลาย อันเป็นจุดสุดท้ายของสงคราม นอกจากนั้นยังมีช่างภาพทหาร
ที่ไม่มีใครได้เห็นภาพผลงานของพวกเขาเลย เนื่องจากกองทัพไม่ยอมเผยแพร่ภาพเหล่านั้น และภาพชุดดังกล่าวได้สูญ
หายไปอย่างไร้ร่องรอยในเวลาต่อมา

ผลงานสงครามไครเมียนของ เฟนตัน และ โรเบิร์ตสัน จึงกลายเป็นที่รู้จักคุ้นเคยมากที่สุด

ทางประวัติศาสตร์ศิลปภาพถ่าย มักนิยมเปรียบเทียบภาพสงครามไครเมียนของโรเจอร์ เฟนตัน กับภาพสงครามกลางเมือง
ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผลงานของ แมทธิว เบรดี้ ( Mathew Brady ) อเลกซานเดอร์ การ์ดเนอร์ ( Alexander Gardner )
ทิโมธี โอ ซันลิแวน ( Timothy O' Sullivan ) และคณะ ส่วนหนึ่งเพราะระยะเวลาเกิดขึ้นใกล้เคียงกัน แต่ทว่าระดับความโหด
นั้นต่างกันมาก แม้ภาพสงครามกลางเมืองอเมริกาจะปราศจากฉากสู้รบ แต่สภาพหลังการต่อสู้นั้นชวนสยองยิ่งกว่า งานชุด
สงครามกลางเมืองอเมริกา ถ่ายทอดความน่ากลัวของสงครามอย่างตรงไปตรงมา ภาพที่เต็มไปด้วยซากศพมากมาย ซึ่งจะ
ต่างจากบรรยากาศสงครามที่ดูโรแมนติกแบบ โรเจอร์ เฟนตัน

เกี่ยวกับ โรเจอร์ เฟนตัน ( Roger Fenton ) เจมส์ โรเบิร์ตสัน ( James Robertson )

ก่อนหน้าโรเจอร์ เฟนตัน รัฐบาลอังกฤษพยายามส่งช่างภาพสู่สงครามไครเมียนอยู่หลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ส่วนมากมักประสบเหตุเสียชีวิตระหว่างการเดินทางเสียก่อน เช่น เรือล่ม จมน้ำตายหมู่ทั้งคณะ

ส่วนเหตุแห่งสงครามนี้ค่อนข้างซับซ้อน เริ่มจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และฝรั่งเศส ในกรณีนครเยรูซาเลม และ
ปาเลสไตน์ ความแตกต่างระหว่างศาสนาคริสต์สองนิกายที่บานปลาย เป็นความรุนแรง จนกระทั่งพระเจ้าซาร์ นิโคลาส
ที่หนึ่งแห่งรัสเซีย ( Tsar Nicholas I ) ประกาศปกป้องศาสนสถานของตน โดยการส่งทหารไปคุ้มครอง ยกทัพผ่าน
ดินแดนในครอบครองของอาณาจักรตุรกี และยิงกองเรือรบของตุรกีจม ประเทศอังกฤษซึ่งกำลังหวาดระแวงรัสเซียเรื่อง
การขยายอิทธิพลเข้าสู่อาฟกานิสถาน และเอเชียกลาง จึงฉวยโอกาสนี้ประโคมข่าว กล่าวหารัสเซียว่าเป็นชาติป่าเถื่อน
เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพของโลก อังกฤษกระโจนสู่สงคราม หวังทำลายศักยภาพทางทะเลของรัสเซีย

แม้อังกฤษและฝรั่งเศสจะชนะสงครามในที่สุด
แต่ต้องประสบความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง มีการกล่าวโทษกันเรื่องแผนการรบที่ล้าสมัย
การสื่อสารที่เข้าใจผิดพลาดตลอดสงคราม การที่กองทัพอังกฤษปล่อยให้ทหารห่มผ้าขี้ริ้วผืนเดียวตลอดฤดูหนาว
( ซึ่งอากาศในรัสเซียนั้นหนาวมาก )

เหตุแห่งสงครามอันซับซ้อนนี้ เกิดจากต่างฝ่ายต่างมีวัตถุประสงค์แอบแฝง โดยอาศัยเรื่องศาสนา หรือการปกป้อง
พันธมิตรจากศัตรู ล้วนเป็นข้ออ้างแห่งความชอบธรรมเท่านั้น ดังที่เคยกล่าวไว้ข้างต้นว่าการกระทำใดของรัฐสมัยใหม่นั้น
จำต้องให้ประชาชนเห็นชอบด้วยเสมอ การรายงานข่าวในช่วงแรกจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวชัยชนะ ความกล้าหาญ
ความรักชาติยิ่งชีวิต หรืออะไรที่จะชวนเชื่อให้ผู้คนซาบซึ้งตามได้

นักข่าวสงคราม วิลเลี่ยม โฮเวิร์ด รัสเซิล ( William Howard Russell )
เขียนถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในสมรภูมิอัลมา 20 กันยายน ค.ศ. 1854 ( Battle of Alma )
ทั้งที่ความเป็นจริงกองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศส ตุรกี ไม่สามารถควบคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญได้เลย
ในเวลาต่อมา บทความของเขาเริ่มเปลี่ยนท่าทีไปอีก เริ่มวิพากษ์ วิจารณ์กองทัพมากขึ้น กล่าวกันว่าความกล้าหาญ
ไม่ใช่ปัญหาในการศึกครั้งนี้เลย หากแต่เป็นความไร้ประสิทธิภาพเชิงบริหาร และแผนการรบยอดแย่เท่านั้นที่นำความ
เสียหายมาสู่อังกฤษ เมื่ออารมณ์ของนักข่าวเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ อารมณ์ของประชาชนก็เริ่มเปลี่ยนตามไปด้วย

ความย่อยยับที่รายงานผ่านสื่อ ทำให้คนอังกฤษเริ่มสนใจสงครามนี้มากขึ้น
และสิ่งนี้สะดุดใจนักธุรกิจชื่อ โทมัส แอกนิว ( Thomas Agnew ) เจ้าของสำนักพิมพ์
เขาคิดว่าภาพถ่ายสงครามน่าจะทำกำไรได้ดี ในที่สุดข้อเสนอนี้ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลอังกฤษ

โรเจอร์ เฟนตัน รับหน้าที่ช่างภาพของโครงการ
เขาออกเดินทางเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2398 / ค.ศ.1855 และใช้เวลาในสงครามไครเมียนตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม
ถึง 26 มิถุนายน ปีนั้น มีภาพถ่ายรวม 360 รูป

โรเจอร์ เฟนตัน เกิดในครอบครัวฐานะดี ศึกษาศิลปะ วิชาจิตรกรรมเป็นเวลานาน แต่เมื่อแต่งงาน จึงเบนเข็มมาเรียน
กฎหมาย และยึดอาชีพทนายความ ถึงกระนั้นเขายังไม่ทิ้งงานจิตรกรรมเสียทีเดียว และยังหันไปศึกษาศิลปภาพถ่าย
อีกด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2395 / ค.ศ.1852 เขารับงานถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่เมืองเคียฟ ( Kiev ) รัฐยูเครน
( Ukraine ) ประเทศรัสเซีย จากนั้นประมาณปี พ.ศ. 2397 /ค.ศ. 1854 เริ่มถ่ายภาพให้บรรดาราชวงศ์ของอังกฤษ

กล่าวกันว่าสำนักพิมพ์ของโทมัส แอกนิว ( Thomas Agnew & Son ) น่าจะทาบทาม โรเจอร์ เฟนตัน ตั้งแต่
กลางปี ค.ศ.1854 แล้ว เพราะในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น เขาซื้อเกวียนจากพ่อค้าไวน์ และนำมาดัดแปลงเป็นห้องมืดเคลื่อนที่
พร้อมตระเวนถ่ายภาพทั่วอังกฤษ เพื่อทดสอบการทำงานของห้องมืดดัดแปลงนี้ เขาใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่
ทันสมัยที่สุดของยุค เตรียมการเดินทางอย่างดี นอกจากนั้น ยังได้รับการอนุเคราะห์จากราชวงศ์อังกฤษและความ
ร่วมมือจากรัฐบาล ความสัมพันธ์นี้ทำให้เขาเข้าถึงพื้นที่หวงห้ามต่างๆอย่างสะดวก

แต่เพราะความสัมพันธ์อันดีนี้นี้เช่นกัน
ที่จำกัดการทำงานของเขา มิให้นำเสนอภาพอันเลวร้ายของประเทศ


ภาพสงครามของเฟนตัน ไม่มีการสู้รบ ไม่มีซากศพ หรือเศษอวัยวะกระจัดกระจาย นอกจากภาพนายทหาร
สภาพแวดล้อมรอบค่าย ภาพถนนอันเงียบงัน แห้งแล้ง มีเพียงลูกกระสุนปืนใหญ่กองเกลื่อน ( Valley of the Shadow
of Death ) เห็นได้ชัดว่าเขาพยายามหลบเลี่ยงภาพแห่งความโหดร้าย

การที่ภาพสงครามยุคนั้นจะปราศจากฉากสู้รบ ไม่ใช่เรื่องแปลก
เพราะปัญหาเรื่องความไวแสงและขนาดของอุปกรณ์ถ่ายภาพที่ใหญ่โต แต่การที่ไม่มีแม้แต่ความตายนั้นไม่ปกติ
เพราะไม่มีสงครามใดที่ปราศจากคนไส้แตกตายบนพื้นดิน แต่เหตุใดช่างภาพมืออาชีพอย่างเฟนตันจึงหลบเลี่ยงภาพเหล่านี้
ทั้งที่เขาอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ ความเป็นความตายนี้ตลอดสี่เดือน อย่างไรก็ตาม การเลือกมุมมองนำเสนอเป็นสิทธิ
ของช่างภาพ ตราบใดที่เขาบันทึกเหตุการณ์เบื้องหน้า

02
American Civil War Photographs :
ภาพถ่ายสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา


เมื่อกล่าวถึงภาพถ่ายจากสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. (1861–1865)
คนส่วนใหญ่จะนึกถึงผลงานของ แมทธิว เบรดี้ (Mathew Brady) อเลกซานเดอร์ การ์ดเนอร์ (Alexander Gardner)
ทิโมธี โอ ซันลิแวน (Timothy O' Sullivan) และคณะช่างภาพนิรนามที่ร่วมโครงการภาพถ่ายนี้ ภาพถ่ายจากสงคราม
กลางเมืองอเมริกัน แตกต่างจากภาพถ่ายสงครามไครเมียน แม้ว่างานทั้งสองจะเกิดขึ้นในชวงเวลาไม่ห่างกันมากนัก และ
ต่างไม่มีฉากสู้รบดุเดือดให้เห็น (เพราะข้อจำกัดทางเทคโนโลยี) แต่ทว่า ภาพถ่ายสงครามกลางเมืองอเมริกัน ได้บันทึก
เรื่องราวความหายนะไว้มากมาย ทั้งซากศพเกลื่อนกระจาย สภาพแวดล้อม บ้านเมืองที่น่าหดหู่ใจ เป็นบันทึกเหตุการณ์
ตามสภาพจริง มิได้นำเสนอภาพแห่งเกียรติยศในสนามรบตามอุดมคติทางทหาร ไม่ใช่งานโฆษณาชวนเชื่อที่จะนำมา
ใช้โน้มน้าวกระแสสังคม เหล่านี้ทำให้ภาพถ่ายสงครามกลางเมืองอเมริกัน ได้รับการยกย่อง เป็นต้นแบบทางการศึกษา
หรือกระทั่งต้นแบบทางสุนทรียศาสตร์ (ตามลัทธิศิลปภาพถ่ายสมัยใหม่ / modernism / modern photography) ใน
ศตวรรษต่อมา

ขณะที่ช่างภาพในสงครามไครเมียน ต้องทำงานภายใต้ความอนุเคราะห์ของรัฐบาลอังกฤษ
ช่างภาพสงครามกลางเมืองอเมริกัน ทำงานด้วยทุนของตนเอง เพียงแค่ได้รับสิทธิในการติดตามออกสนามรบร่วมกับ
ทหารฝ่ายเหนือ และรัฐบาล (ฝ่ายเหนือ) ก็มิได้สนใจว่าช่างภาพเหล่านี้กำลังทำอะไร หรือทำไปทำไม

ช่างภาพ -- แมทธิว เบรดี้ (Mathew Brady)
คิดว่าภาพถ่ายเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้น่าจะทำกำไรอย่างงาม

ก่อนหน้านั้น ผู้คนรู้จัก แมทธิว เบรดี้ ในฐานะช่างภาพพอทเทรตที่มีฝีมือเยี่ยมคนหนึ่ง เขาประสบความสำเร็จในธุรกิจ
การถ่ายภาพ มีสตูดิโอที่นครนิวยอร์ค ขยายกิจการสู่กรุงวอชิงตัน ดี ซี เขารู้จักคนใหญ่คนโตมากมาย และเมื่อเกิด
สงครามกลางเมืองอเมริกัน ในใจของเขามีเพียงภาพถ่ายในสนามรบ

เขาตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ในโครงการภาพถ่ายที่ต้องใช้เงินมหาศาล
มีผู้ช่วยในโครงการส่วนตัวนี้ถึงสามร้อยคน และลงทุนไปร่วมหนึ่งแสนเหรียญสหรัฐ
ซึ่งเป็นเงินจํานวนมาก ..ไม่ว่าจะในสมัยนั้นหรือสมัยนี้ แมทธิว เบรดี้ ส่งช่างภาพไปประจำทุกจุดที่มีการสู้รบ

อเลกซานเดอร์ การ์ดเนอร์ ( Alexander Gardner ) และทิโมธี โอ ซันลิแวน ( Timothy O' Sullivan )
เพื่อนร่วมงานคนสำคัญของแมทธิว เบรดี้ ไม่เห็นด้วยกับความคิดบ้าบิ่นเช่นนี้ พวกเขาทั้งสองคิดว่ามันเสี่ยงโดยไม่จำเป็น
นอกจากจะเป็นอันตรายกับช่างภาพแล้ว -- ยังไม่เกิดประโยชน์อันใดอีกด้วย เนื่องจากกล้องต้องใช้เวลาบันทึกภาพ
แต่ละครั้ง ตั้งแต่สิบห้าวินาที ถึงสามสิบวินาที ลำพังแค่ให้คนยืนนิ่งๆก็ยากอยู่แล้ว กับการถ่ายภาพเหตุการณ์ตะลุมบอน
ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย อีกทั้งขนาดของกล้องก็ใหญ่โต เคลื่อนย้ายลำบาก เหมือนเอาช่างภาพไปยืนเป็นเป้านิ่งกลางสนามรบ
แต่ที่สุด พวกเขาก็ต้องทำงานบ้าบิ่นตามแนวคิดของ แมทธิว เบรดี้

อย่างไรก็ตาม พวกเขาบันทึกสงครามกว่าสามพันห้าร้อยภาพ และทุกภาพจะประทับชื่อของ แมทธิว เบรดี้ ไว้ทั้งสิ้น
ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะ แมทธิว เบรดี้อยู่ในฐานะเจ้าภาพ เจ้าของโครงการ และจึงได้เกียรติ์เป็นเจ้าของผลงานด้วย
แต่ภาพถ่ายยส่วนมากนั้นจะเป็นฝีมือการถ่ายของ อเลกซานเดอร์ การ์ดเนอร์ และ ทิโมธี โอ ซันลิแวน

ส่วนตัวเบรดี้ลงมือถ่ายเองอยู่หลายภาพเช่นกัน แต่ทว่าเขามีปัญหาเรื่องสายตา ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
กล่าวกันว่าช่วงนั้น สายตาของเขาใกล้จะบอดแล้วด้วยซ้ำ แต่ไม่ว่าใครจะเป็นคนกดชัตเตอร์ภาพไหน ..ไม่สำคัญ
เพราะงานนี้ร่วมมือกันเป็นกลุ่ม และทุกฝ่ายยกย่องผลงานชุดนี้ในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า เป็นต้นแบบ
ของงานภาพถ่ายสงคราม และช่างภาพบ้าระห่ำ อีกทั้งยังเป็นต้นแบบศิลปะภาพถ่ายแนวสเตรทสมัยใหม่ ( straight
photography) ..เป็นการนำศักยภาพของสื่อภาพถ่ายมาใช้อย่างเต็มที่ คณะช่างภาพของเบรดี้เองนั้นก็มีความเป็น
มืออาชีพอย่างเหลือเชื่อ

แม้บางภาพจะมีการแอบจัดฉากกันบ้าง แต่แค่เคลื่อนย้ายองค์ประกอบเล็กๆน้อยๆเท่านั้น
ซึ่งการแอบจัดฉากของช่างภาพข่าวสงครามยังคงมีให้เห็นทุกยุค ทุกสมัย ตราบเท่าทุกวันนี้ (ไม่ใช่เรื่องที่ดีสักเท่าไหร่)
ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีการถ่ายภาพยุคนั้น พวกเขาจะถ่ายภาพได้เฉพาะเมื่อการต่อสู้ในสนามรบยุติลง ถึงกระนั้น
กลุ่มช่างภาพเหล่านี้ ประจำอยู่แนวหน้าตลอดเวลาที่มีการสู้รบ และเสี่ยงชีวิตไม่น้อยกว่าทหารในสมรภูมิ

แล้วสงครามกลางเมืองอเมริกันเริ่มต้นอย่างไร ?

แน่นอนว่า ..สงครามนี้ไม่ใช่สงครามเลิกทาส
ถึงแม้ว่าคนไทยจำนวนไม่น้อย ชอบใช้คำอธิบายเช่นนี้เพื่อหลอกเด็กนักเรียน นักศึกษา แต่ในความเป็นจริงก็คือ
สงครามกลางเมืองอเมริกัน เริ่มมาจากพื้นฐานความแตกต่างทางวัฒนธรรมของฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ..อันมีรากฐาน
ความต่างที่เกิดจากสภาพเศรษฐกิจ

ดังที่ทราบกันดีแล้วว่าวิถีชีวิตของผู้คนนั้น จะเป็นเช่นใดขึ้นอยู่กับการทำมาหากิน จะทำมาหากินอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับ
สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ..และพัฒนาการเหล่านี้เป็นตัวกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรม”

ขณะที่วัฒนธรรมของแต่ละชุมชนเริ่มเปลี่ยนไป (เพราะเศรษฐกิจ) ความแตกต่างระหว่างชุมชนก็เริ่มมากขึ้นตามไปด้วย
เวลาเดียวกันกฎหมายและความเชื่อทางสังคม..กลับไม่สามารถเติบโตให้ทันกับความเป็นจริงได้

นั่นคือจุดเริ่มของความขัดแย้ง

นอกจากนั้นยังมีปัญหาค้างคาใจ..ที่เรื้อรังมาตั้งแต่สมัยประกาศเอกราชใหม่ๆ คือประเด็นเรื่องอำนาจของรัฐ
และสิทธิของประชาชน และในช่วงประมาณก่อน ปี ค.ศ. 1860 ประเด็นอำนาจของรัฐบาลกลางกับมลรัฐ ได้กลาย
เป็นเรื่องโต้แย้งที่ไม่สามารถหาทางออกทางการเมืองได้ แต่เดิมปัญหานี้ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าใดนัก จนกระทั่งประเทศ
เริ่มขยายตัวอออกไปทางตะวันตก เกิดคำถามขึ้นว่ารัฐเกิดใหม่จะเป็นรัฐที่มีทาส หรือไม่มีทาส พอเริ่มเถียงกันเรื่องนี้
ก็เริ่มลามปาม ย้อนกลับไปสู่ปัญหาเก่าๆที่ค้างคาใจมานาน คือเรื่องอำนาจอธิปไตยของมลรัฐ และอำนาจรัฐบาลกลาง
ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับเรื่องอธิปไตยของปวงชน คำถามเรื่องขอบเขตอำนาจของรัฐบาลกลาง ประกอบกับวัฒนธรรมของ
ฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ ที่เริ่มเกิดช่องว่าง แตกต่างกันมากขึ้น ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมมักนำสู่ปัญหาการเมือง และย้อน
กลับมาเป็นความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่รุนแรงกว่าเดิม ลากปมประเด็นสารพัดเข้ามาไว้ด้วยกัน นำสู่สงครามกลางเมือง

ฝ่ายใต้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากสหรัฐ ..แล้วก็เริ่มรบกับฝ่ายเหนือ

แล้วเรื่องเลิกทาส ..มาได้อย่างไร

การเลิกทาสมาในช่วงหลังของสงคราม เมื่อรบกันไปสักพัก รัฐบาลกลาง (ฝ่ายเหนือ) เริ่มจำเป็นต้องหาข้ออ้าง
หรือหาความชอบธรรมที่ชัดเจนมากกว่าความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อให้ดูดีในสายตาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เมื่อประเทศอังกฤษเริ่มมีแนวโน้มว่าจะหันไปสนับสนุนฝ่ายใต้ ทำให้รัฐบาลกลาง (ฝ่ายเหนือ) จำต้องประกาศเลิกทาส
ทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ เพราะรัฐบาลกลางมีอำนาจในการออกกฎหมายของประเทศ มีรัฐสภา
อย่างถูกต้องตามประเพณีของชาติที่เจริญ จึงสามารถออกกฎหมายที่ชอบธรรมในสายตาชาติที่เจริญอื่นๆได้โดยง่าย และ
แต่เดิมนั้น รัฐทางเหนือไม่มีทาสมานานแล้ว ในขณะที่รัฐทางใต้ยังมีทาสอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (รัฐทางเหนือออก
กฎหมายบังคับใช้ในรัฐของตนเอง -- ห้ามการมีทาสมาหลายปีแล้ว แต่ว่าเดิมนั้นเป็น แค่กฎหมายของรัฐ ไม่ใช่กฎหมาย
ของประเทศ)

การประกาศเลิกทาสครั้งนี้ทำให้ประเด็นของสงครามในสายตาชาวโลก (ตะวันตก) เปลี่ยนไปจาก
“สงครามการเมือง” กลายเป็น “สงครามเพื่อคุณธรรม”
ส่วนหนึ่งเพื่อยับยั้งอังกฤษมิให้เข้าร่วมสงคราม
ในเมื่อประเทศอังกฤษก็เลิกทาสไปนานปี ครั้นจะหันมาสนับสนุนฝ่ายใต้ที่ยังมีทาสอยู่ จึงเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายกับ
ประชาชนอังกฤษ ซึ่งทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องถอยฉากอย่างรวดเร็ว.. ปล่อยให้ฝ่ายใต้สู้เพียงลำพัง และพ่ายแพ้

การประกาศเลิกทาส มิได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกับฝ่ายเหนือเลยสักนิด
เนื่องจากเป็นสังคมอุตสาหกรรม--ไม่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานทาส แต่กับฝ่ายใต้นั้น นโยบายนี้คือการตัดกำลังทาง
เศรษฐกิจแบบโหดเหี้ยม--ตรงไปตรงมา ซึ่งกระตุ้นให้ฝ่ายใต้ต่อสู้หนักกว่าเก่า เพราะถ้าแพ้ ย่อมหมายความว่ารัฐบาลกลาง
และฝ่ายเหนือจะครอบงำทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ในที่สุดการสู้รบเพียงลำพัง เมื่อปราศจากการสนับสนุนจากต่างชาติ ฝ่ายใต้
ค่อยๆหมดกำลังและพ่ายแพ้ไปในที่สุด

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับ แมทธิว เบรดี้ (Mathew Brady)
และภาพถ่ายของเขา ..ขายดิบขายดีจนรวยเละไปตามกันเลยหรือเปล่า ??


แมทธิว เบรดี้ อยู่รอดปลอดภัยจากการทำงานภาพถ่ายกลางสมรภูมิ แต่ความหายนะรอเขาอยู่หลังสงครามสงบ
ไม่มีใครต้องการภาพถ่ายเหล่านั้นสักคนเดียว ไม่มีบริษัท หรือสำนักพิมพ์ไหนจะรับซื้อ ไม่มีใครอยากนำไปตีพิมพ์เป็น
หนังสือ ..แค่หาคนที่อยากจะมองดูภาพเหล่านั้น..ก็ยากเต็มทน --แล้วอะไรมันจะเลวร้ายปานนั้น เกิดอะไรขึ้น..ทำไม ??
เหตุผลง่ายๆคือ สงครามที่รบกันตลอดสี่ปี รบกันในประเทศตัวเอง บ้านเมืองตัวเอง คนที่ตายในสงครามยังเป็นคนอเมริกัน
เสียเกือบทั้งหมด (ก็เพราะมันเป็นสงครามกลางเมือง) ไม่ว่าจะฝ่ายเหนือหรือฝ่ายใต้ ต่างบอบช้ำ สูญเสียคนรัก ครอบครัว
บ้านเรือน ที่ดิน ทรัพย์สิน เป็นความสูญเสียที่ค่อนข้างเสมอภาคและทั่วถึง ผู้คนมากมายนับไม่ถ้วนเสียแขน เสียขา
กลายเป็นคนพิการ ประธานธิบดีที่ประชาชนฝ่ายเหนือกำลังรักและชื่นชม (อับบราฮัม ลินคอน Abraham Lincoln แห่ง
พรรครีพับลิกัน) ก็มาถูกลอบสังหารขณะนั่งดูละคร ในอารมณ์แบบนี้ คงยากที่จะนึกอยากดูภาพถ่ายเพื่อรำลึกถึงสิ่งที่
พวกเขาอยากลืม

สำหรับช่างภาพ การที่คนไม่อยากมองภาพถ่ายผลงานชิ้นสําคัญในชีวิต ก็น่าเจ็บชํ้าแสนสาหัสเกินพอแล้ว
แต่สําหรับแมทธิว เบรดี้..ซวยยิ่งกว่านั้น เขาลงทุนกับงานนี้ไปมากมายจนหมดตัว เป็นหนี้สิน ทั้งจน เครียด ดอกเบี้ยท่วม
สุขภาพก็ยํ่าแย่ ตาก็ใกล้จะบอด การกลับไปทํางานภาพถ่ายสตูดิโออีกครั้ง ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเหมือนช่วงก่อนสงคราม
ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง เขาพยายามใช้เส้นสายทั้งหมดที่เคยมีเพื่อให้รัฐบาลสหรัฐซื้อภาพถ่ายเหล่านั้น ในที่สุดรัฐบาลรับ
ซื้อแบบเหมายกลังในราคาแค่สองหมื่นเหรียญสหรัฐ (ถูกมาก ไม่ว่าในสมัยไหน) และนี่คือที่มาของภาพถ่ายชิ้นสำคัญใน
ประวัติศาสตร์ศิลปภาพถ่าย ภาพถ่ายสุดคลาสสิคที่เป็นต้นแบบให้กับช่างภาพรุ่นหลังมากมาย ภาพถ่ายที่เป็นต้นแบบของ
งานภาพถ่ายสงครามสมัยใหม่ รวมไปจนถึงงาน straight photography ในแนวคิดแบบ modernism ..

และถ้าหากแมทธิว เบรดี้ ไม่หมดตัวเป็นหนี้สินไปเสียก่อน
ถ้าหากเขายังพอมีเงินทุนสำรองใช้จ่ายหลังสงคราม โดยไม่ต้องหวังพึ่งรายได้จากภาพถ่ายชุดนี้
เพียงแค่รอไปอีกไม่กี่ปีเท่านั้น สถานการณ์ของเขาก็จะกลับเป็นตรงกันข้ามทันที ความซวยของเขาอยู่ที่เขาจำเป็นต้อง
รีบขายงานไปก่อนเวลาอันควร

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเพื่อนร่วมงานของเขา

อเลกซานเดอร์ การ์ดเนอร์ ( Alexander Gardner ) และ ทิโมธี โอ ซันลิแวน ( Timothy O' Sullivan ) ได้งาน
ถ่ายภาพสารคดี ในโครงการสำรวจดินแดนภาคตะวันตก เป็นทุนของรัฐบาลกลาง ..เป็นเวลานานหลายปี และผลงาน
เหล่านั้นได้รับการยกย่องในแบบเดียวกับภาพชุดสงครามกลางเมือง – งานภาพถ่ายของแมทธิว เบรดี้ /
อเลกซานเดอร์ การ์ดเนอร์ และ ทิโมธี โอ ซันลิแวน – ถือเป็นครูของศิลปะภาพถ่ายสมัยใหม่ ตามแนวคิดของลัทธิ
ศิลปะสมัยใหม่ (modernism)













.

Comments