documentary photography

Untitled Works (edited 2012)
by Poomkamol Phadungratna (ภูมิกมล ผดุงรัตน์)


บทที่ 18
ภาพถ่ายสารคดี (Documentary Photography)
บทบาทอิทธิพลต่อภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่



01

ภาพถ่ายสารคดีเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ
ภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่..ในลัทธิศิลปะสมัยใหม่

สุนทรียศาสตร์กระแสหลักของภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่คือ สเตรท โฟโตกราฟฟี่
ซึ่งเน้นความเหมือนจริงเป็นสำคัญ (realism) และในฐานะที่ภาพถ่ายสารคดีมี
หน้าที่บันทึกเหตุการณ์จริง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ต้องดึงเอาภาพสารคดีเข้าเป็น
ส่วนหนึ่งของภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่ นอกจากนั้น ช่างภาพในลัทธิศิลปะสมัยใหม่
จำนวนมาก..ที่ไม่ได้ถ่ายภาพสารคดีโดยตรง แต่สร้างงานรูปลักษณ์ไม่ต่างจาก
ภาพถ่ายสารคดี   ซึ่งจุดนี้บางครั้งอาจสร้างความสับสนให้กับคนที่ไม่รู้ที่มาที่ไป
อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมตะวันตกไม่ค่อยเดือดร้อนกับประเด็นนี้มากนัก
เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของพวกเขา ด้วยความ
คุ้นเคยจึงสามารถรู้ได้เองโดยธรรมชาติทางวัฒนธรรม

ภาพถ่ายสารคดีบันทึกเหตุการณ์ตามความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา
ครอบคลุมเนื้อหาหลากหลายประเภท มิได้จำกัดแค่ภาพถ่ายเกี่ยวกับชีวิตและสังคม
เท่านั้น ..ภาพถ่ายสถาปัตยกรรม ภาพถ่ายวิทยาศาสตร์ การแพทย์ มานุษยวิทยา
ภาพถ่ายเดินทางท่องเที่ยว ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายทางดาวเทียม รูปติดบัตร ..
ล้วนแต่เป็นงานภาพถ่ายเชิงสารคดีทั้งสิ้น วัตถุประสงค์หลักของภาพถ่ายประเภทนี้
คือ..บันทึกหลักฐานเอกสารเพื่อเก็บเป็นข้อมูล อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายในฐานะสื่อที่
มีอิทธิพลต่อความคิดและอารมณ์     ขอบเขตงานภาพสารคดีจึงมิได้หยุดอยู่แค่การ
บันทึกข้อมูล มิได้เป็นเพียงแค่หลักฐานเอกสาร

นับแต่ปลายศตวรรษที่ 19
รูปแบบของภาพถ่ายสารคดีถูกนำไปใช้โน้มน้าวกระแสสังคม ทั้งการเมือง
โฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งผู้คนในสังคมให้ความเชื่อถือข้อมูลจากภาพถ่ายอยู่เสมอ
แม้บางครั้ง สิ่งที่อยู่ในภาพถ่ายอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด หรืออาจเป็นความจริง
เพียงบางส่วน หรืออาจโกหกอย่างเจตนา ซึ่งอาจนำสู่การเข้าใจผิดและบิดเบือน
แต่สิ่งเหล่านี้อยู่นอกเหนือการควบคุม และเป็นเรื่องที่ผู้ชมต้องมีวิจารณญาณ ต้อง
มีความรู้สติปัญญาที่จะดูแลรับผิดชอบตนเอง ช่างภาพสารคดี /ภาพข่าว มีหน้าที่
บันทึกเหตุการณ์ตามสภาพจริงที่เกิดวินาทีนั้น บันทึกตรงไปตรงมา ไม่พรรณนา
ไม่ออกความเห็นเกินจำเป็น ซึ่งโดยหลักการแล้วไม่ควรแสดงความเห็นส่วนตัวด้วยซ้ำ -
แต่ในฐานะมนุษย์ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะมีจิตใจ มีความรู้สึก และทุกคนเลือกข้าง
ของตนเอง..ไม่ว่าปากจะพูดอย่างไรก็ตาม ดังนั้น..สิ่งที่ช่างภาพในฐานะมนุษย์พึง
ทำได้คือ ไม่บิดเบือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประเด็นนี้เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของ
ภาพถ่ายสารคดีและภาพข่าว

ช่างภาพสามารถบันทึกได้แค่สิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าเท่านั้น
ส่วนกระบวนการนำเสนอภาพต่อสังคมอยู่ในอำนาจของสำนักข่าว สำนักพิมพ์
รัฐบาล ..ซึ่งแน่นอนว่าองค์กรเหล่านี้ย่อมมีแนวคิด วัตถุประสงค์ แม้กระทั่งมีผล
ประโยชน์แอบแฝงที่ต้องคำนึงถึง เมื่อภาพถ่ายไปถึงมือผู้กุมอำนาจการสื่อสาร
เหล่านี้แล้ว ภาพถ่ายมักถูกใช้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แอบแฝงขององค์กรเสมอ
ดังนั้นในโลกศตวรรษที่ 21 สถานการณ์หนึ่งนั้น การมีช่างภาพจำนวนมากจาก
หลากหลายสำนัก..จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการบิดเบือนหรือแอบแฝงใดๆย่อม
ถูกโต้แย้งได้ด้วยข้อมูลภาพถ่ายของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะในโลกทุนนิยมที่มี
การแช่งขันสูง อีกทั้งปัจจุบัน..ภาพถ่ายพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ดิจิตอล และเกิด
ช่างภาพประชาชนขึ้นมากมายทุกมุมโลก ซึ่ง"ช่างภาพประชาชน" คือชาวบ้าน
ธรรมดาที่มีกล้องอยู่ในมือ ทั้งภาพนิ่ง วิดีโอ โทรศัพท์มือถือ อัพโหลดผ่านอินเตอร์เนต
การโกหกบิดเบือน จึงทำได้ยากกว่าศตวรรษก่อนหน้า

02

ภาพถ่ายสารคดีและเงื่อนไขทางวัฒนธรรม

กล่าวกันว่าวัฒนธรรมคือตัวกำหนดความคิดและการกระทำของผู้คน
ในแต่ละสังคม วัฒนธรรมถ่ายทอดผ่านศาสนา การศึกษา สื่อมวลชน
จากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ปรับเปลี่ยนตามสภาพเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์
นับแต่การกำเนิดภาพถ่ายและเทคนิคการพิมพ์สมัยใหม่ สื่อทางภาพเข้ามา
มีบทบาทต่อการรับรู้ของสังคม มีอิทธิพลต่อโลกทัศน์ของประชาชน เข้ามา
เป็นส่วนสำคัญของความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมคืออำนาจ..
เมื่อวัฒนธรรมคือตัวกำหนดความคิดและการกระทำของสังคม ตั้งแต่จะกิน
อยู่อย่างไร สวมเสื้อผ้ากันแบบใด นิยมสินค้าประเภทไหน มีทัศนะต่อสังคม
การเมือง ศาสนาในแง่มุมใด หรือจะไม่สนใจเรื่องเหล่านี้เลย ทั้งหมดสั่งสม
จากประสบการณ์ ผ่านการอบรมในครอบครัว ผ่านการศึกษา ผ่านศาสนา
ผ่านสื่อมวลชน บ่มเพาะจนเป็นแนวคิดและพฤติกรรมร่วมกันในสังคมเดียวกัน
สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถบังคับได้ ไม่สามารถสร้างขึ้นชั่วข้ามคืน จึงไม่มีใครคน
ใดคนหนึ่ง ไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งจะสามารถกำหนดกระแสความเปลี่ยน
แปลงทางวัฒนธรรม คือไม่สามารถฝืนบังคับวัฒนธรรมให้ไหลไปตามใจ
ปรารถนาของตนเองได้ทุกอย่าง ความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม จะปรับเปลี่ยน
ตามสภาพความเป็นอยู่ของสังคมนั้นเอง แม้แต่วัฒนธรรมที่ควบคุมเข้มงวด
และผ่านการล้างสมองมานานหลายสิบปี เมื่อถึงเวลาหนึ่งความเปลี่ยนแปลง
ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม กลไกของวัฒนธรรม หรือกลไกที่มีอิทธิพลกับความคิด
และอารมณ์ของผู้คนจะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเร้าความเปลี่ยนแปลง
ต่างๆ โดยใช้กระบวนการปลูกฝัง ตอกย้ำแนวคิดให้ซึมลึก กลไกนี้ใช้เป็น
เครื่องมือถ่ายทอดวัฒนธรรมกระแสหลัก และในบางประเทศใช้เป็นเครื่องมือ
ในการล้างสมองผู้คนด้วย ดังนั้น ภาพถ่าย..อันเป็นกลไกสำคัญทางวัฒนธรรม
จึงมิได้เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการบอกเล่าเรื่องราว หรือแค่ความบันเทิง
เท่านั้น แต่ภาพถ่ายคือเครื่องมือแห่งอำนาจ – อำนาจในการกระตุ้นเร้าความคิด
และอารมณ์ของสังคม ประกอบกับความเชื่อถือที่ว่าภาพถ่ายไม่โกหก ยิ่งทำให้
ภาพถ่ายมีอิทธิพลมากขึ้น ภาพถ่ายหนึ่งภาพสามารถทำลายชีวิตคนให้ย่อยยับ
ได้ทั้งชีวิต สามารถสร้างกำลังใจแก่สังคมที่กำลังอ่อนล้า หรือจะทำให้คนใน
สังคมหันมาฆ่ากันเองในเรื่องที่ไม่เป็นจริง สิ่งเหล่านี้ ล้วนเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น..และ
เกิดซ้ำๆนับครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้..ขึ้นอยู่ที่องค์กรนั้นๆ
ใช้ภาพถ่ายเป็นหรือไม่ ..หรือสามารถใช้ได้ดีเพียงใด ผู้กุมอำนาจรัฐส่วนมากจะ
เข้าใจศักยภาพของสื่อชนิดนี้เป็นอย่างดี และใช้ภาพถ่ายเพื่อประโยชน์ทาง
การเมืองอยู่เสมอ     ส่วนช่างภาพสารคดี-ภาพข่าวในอดีต(ส่วนมาก)เข้าใจใน
อำนาจของสื่อที่ตนใช้เช่นกัน และพยายามระมัดระวังเสมอ จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า
จรรยาบรรณของช่างภาพ

การที่ภาพถ่ายเกี่ยวข้องกับเรื่องของความคิด อารมณ์ อำนาจ
สิ่งนี้เย้ายวนให้งานภาพเชิงสารคดีเกิดมีพัฒนาการสู่อีกรูปแบบหนึ่งของศิลปะ
หมายความว่าช่างภาพ - ศิลปิน นำรูปแบบของงานสารคดีไปใช้ในงานศิลปะ
โดยดูเหมือนภาพสารคดี หรืออาจเป็นภาพสารคดี แต่มิได้เน้นที่เรื่องราวของ
เหตุการณ์ในภาพ หันมาเน้นที่แนวคิดส่วนตัวของผู้สร้างงานเป็นสำคัญ สำหรับ
ภาพสารคดีประเภทที่ผู้คนคุ้นเคยมากที่สุด มักเป็นภาพเกี่ยวกับชีวิตและสังคม
ภาพสารคดีชีวิตและสังคมเกี่ยวข้องกับ ความคิด อารมณ์ อำนาจ..มากที่สุด
หรือมากกว่าสารคดีแนวอื่น ..ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะภาพดอกไม้ยามเช้าคง
ยากที่จะกลายเป็นประเด็นทางการเมือง (อาจเป็นไปได้..แต่ยาก)

ภาพถ่ายชีวิตและสังคม

อัลมา ดเวนพอร์ต ( Alma Davenport ) ยกตัวอย่างในหนังสือ
The History of Photography ว่าระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมสอง
ฝั่งทวีปอเมริกาเหนือ ช่างภาพทั่วไปตื่นเต้นกับเครื่องจักรกล ขบวนรถไฟและ
เทคโนโลยีทันสมัย แต่ช่างภาพสารคดีแนวชีวิตและสังคมกลับให้ความสนใจ
กับสภาพชีวิตของกรรมกรและความเป็นอยู่ระหว่างการก่อสร้างมากกว่า
(Chapter 4, Social Document , page 41)

สังคมยอมรับว่าภาพถ่ายนำเสนอความเป็นจริงเสมอ
แม้ความจริงบางอย่างนั้นยากที่จะยอมรับ   ในปี ค.ศ.1850 เฮนรี่ เมฮิว
(Henry Mayhew) ร่วมกับ  ริชาร์ด เบียร์ด ( Richard Beard )  ตีแผ่ชีวิต
กรรมกรและผู้ยากไร้แห่งนครลอนดอน ในหนังสือชื่อ London Labour and
London Poor แต่ทว่าเทคโนโลยีการพิมพ์ขณะนั้นไม่สามารถตีพิมพ์ภาพถ่ายได้
จึงต้องใช้กระบวนการ wood engraver ลอกลายจากภาพถ่ายต้นฉบับลงบน
แท่นพิมพ์ ซึ่งทำให้ภาพในหนังสือขาดความสมจริง ..เมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือ
Street of London ของช่างภาพ จอห์น ทอมสัน (John Thomson) ร่วมกับ
อดอลฟ สมิธ (Adolphe Smith) ซึ่งตีพิมพ์ภายหลังในปี ค.ศ. 1870 และใช้
กระบวนการ photomechanical transfer process ที่สามารถพิมพ์ออกมา
ได้ใกล้เคียงภาพถ่าย  .. อัลมา ดเวนพอร์ต ให้ความเห็นว่าหนังสือเล่มแรก
London Labour and London Poor ไม่ได้รับความเชื่อถือจากสังคมยุคนั้น
เพราะภาพประกอบไม่สมจริง คนจึงไม่เชื่อว่าเรื่องราวนั้นเกิดขึ้นจริง ขณะที่อีกเล่ม
Street of London มีภาพที่เสมือนจริงกว่าคนจึงเชื่อมากกว่า กล่าวได้ว่าข้อ
จำกัดทางเทคโนโลยีเป็นเหตุปัจจัย อย่างไรก็ตาม..ลองมองอีกแง่มุมหนึ่ง ความ
ยากจนในทุกสังคมมิได้ซุกซ่อนอยู่ตามป่าเขา แต่ความยากจนส่วนมากอยู่ใน
เมืองใหญ่ และสามารถเห็นได้ไม่ยากเลย โดยเฉพาะนครลอนดอนยุควิคตอเรี่ยน
ซึ่งเคร่งครัดศีลธรรมอย่างสุดขั้ว แต่มีโสเภณีเกลื่อนถนน จึงเป็นได้หรือไม่ว่าสังคม
เองนั่นแหละที่ปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ สังคมเลือกจะไม่เชื่อว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง แล้วโทษ
ว่าภาพประกอบไม่เหมือนจริง ขณะที่หนังสือ Street of London ของ
จอห์น ทอมสันสามารถนำเสนอภาพเสมือนจริงจนไม่มีใครปฏิเสธได้อีกต่อไป

ในสมัยเดียวกันนั้น
ผู้คนหลั่งไหลสู่อเมริกา ส่วนมากมาจากยุโรปตะวันออก
เมื่อถึงอเมริกาแล้วก็ไม่มีที่ไหนให้ไปต่อ ไม่มีงานให้ทำ แออัดกันในนครนิวยอร์ค
จนกลายเป็นสลัม ยิ่งนานวัน สภาพยิ่งเลวร้าย  .. จาคอบ รีส์ ( Jacob Riis ) ซึ่ง
เป็นนักข่าวและช่างภาพ ผู้มีมีประสบการณ์เรื่องนี้เป็นอย่างดี ในฐานะที่เขาเอง
เคยเป็นผู้อพยพมาก่อน เขาเข้าใจว่าชีวิตคนเหล่านี้ลำบากอย่างไร บทความ
ของเขาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์ค แฮโรล (New York Herald) บรรยาย
ชีวิตรันทดของผู้อพยพ เมื่อสังคมรับทราบ แทนที่จะเห็นใจ..กลับตั้งข้อสงสัยว่า
อะไรจะโหดร้ายปานนั้น สังคมตั้งข้อสงสัย..ทั้งที่ความเลวร้ายเสื่อมโทรมมีให้เห็น
ตำตาบนท้องถนน จนกระทั่งเขาเริ่มบันทึกเรื่องราวด้วยภาพถ่าย และตีพิมพ์
หนังสือ How The Other Half Lives , Studies Among the Tenements
of New York ( ปี ค.ศ. 1890 ) จึงเกิดกระแสสังคมเคลื่อนไหวเรื่องคุณภาพ
ชีวิตคนเมือง

หรือผลงานของ ลิวอิส ไฮน์ (Lewis w. Hines)
ช่างภาพข่าวยุคบุกเบิกคนสำคัญ
ผลงานน่าจดจำของเขาชุดหนึ่งคือการแอบบันทึกสภาพชีวิตในโรงงาน
การกดขี่แรงงานเด็ก ภาพถ่ายของเขากลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดกฎหมาย
คุ้มครองแรงงาน และการปกป้องสิทธิเด็กในสหรัฐอเมริกา..

สำหรับสังคมทั่วไป ภาพถ่ายเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือเสมอ
บ่อยครั้งที่ภาพถ่ายก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในแง่บวก
ผลงาน เดวิด ออคตาเวียส ฮิล (David Octavius Hill) และ โรเบิร์ต อดัมสัน
(Robert Adamson) บันทึกชีวตชาวประมงในเมืองนิวฮาเวน สก็อตแลนด์
(New Haven, Scotland) ในปี ค.ศ. 1845 ผ่านบรรยากาศอันงดงาม เรือประมงเก่าๆ
กระตุ้นเร้าความสนใจของชาวเมือง ก่อให้เกิดการเอาใจใส่ต่อคุณภาพชีวิตของ
ชาวประมงท้องถิ่น

นับแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เรื่อยมา
ภาพถ่ายกลายเป็นสื่อสำคัญสำหรับโน้มน้าวกระแสสังคม
ช่างภาพผู้มีอุดมการณ์ต่อสู้กับความอยุติธรรม และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง
ได้หลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าความเสมือนจริงของภาพถ่ายจะน่าเชื่อถือเสียทั้งหมด
หลายครั้งที่การตัดต่อภาพเพื่อบิดเบือนเรื่องราว หรือเพื่อสร้างอารมณ์เกินจริง
มีส่วนทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อภาพถ่ายลงไปไม่น้อย

อย่างเช่นงานโฆษณาชวนเชื่อของ ยูจีน แอปเพิร์ต (Eugene Appert) ค.ศ. 1871
ที่นำภาพศพจากคดีฆาตกรรมมาตัดต่อใหม่ แล้วใส่ร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

หรือภาพละครนักศึกษาที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (Bangkok Post)
และหนังสือพิมพ์ดาวสยาม เมื่อปี ค.ศ.1976 (พ.ศ. 2519) ซึ่งในภาพนั้นเป็นการแสดง
ละครรำลึกเหตุฆาตกรรมทางการเมือง เมื่อพนักงานการไฟฟ้าจังหวัดนครปฐมสองคน
ถูกจับแขวนคอ เพียงเพราะพวกเขากำลังรณรงค์ทางการเมือง ผู้คนยุคนั้นเชื่อว่าการ
ฆาตกรรมเป็นฝีมือของพวกอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวา การแสดงละครที่มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์จึงมีขึ้นเพื่อเล่าถึงเหตุฆาตกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อภาพถ่าย
จากละครนั้นถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และหนังสือพิมพ์ดาวสยาม
(พ.ศ. 2519) บริบทของภาพถูกเปลี่ยนแปลง กลุ่มอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาพากันเชื่อว่า
ภาพละครดังกล่าวมีเจตนาให้ร้ายบุคคลในราชวงศ์ และมุ่งหมายล้มล้างสถาบันกษัตริย์
อันเป็นเหตุหนึ่งที่นำสู่การนองเลือดเมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคมปีเดียวกัน เมื่อกำลังตำรวจ
ทหาร และกองกำลังมวลชนติดอาวุธฝ่ายขวาได้บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จับกุมทำร้ายและฆาตกรรมหมู่นักศึกษาเป็นจำนวนมาก

บางกรณี ช่างภาพมีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่ตนบันทึกมากเกินไป
จนสังคมเกิดเคลือบแคลงใจในความน่าเชื่อถือของภาพถ่ายเหล่านั้น
โดยเฉพาะเมื่อมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างเช่นงานสารคดี เอฟ เอส เอ
( FSA หรือ Farm Security Administration ) ที่นำเสนอความทุกข์ยาก
ของเกษตรกรอเมริกันในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

การทำงานของช่างภาพสารคดีต้องบันทึกเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมา
นั่นคือไม่ใช้เทคนิคพิเศษทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นบิดเบือนจากความจริง ไม่มีจัดฉาก
ไม่จ้างคนมาแสดง อันที่จริงมีช่างภาพหลายคนในประวัติศาสตร์ที่ละเมิดข้อปฏิบัติ
เหล่านี้ แต่ในหลายกรณี ผู้คนจะทำเป็นลืมๆกันไป เพราะคิดว่าไม่ได้สร้างความ
เสียหายใหญ่โตนัก แต่เหมือนเป็นการกัดเซาะความน่าเชื่อถือของสื่อภาพถ่าย..
การทำงานของช่างภาพสารคดีและช่างภาพข่าว ในแง่ของวัตถุประสงค์แล้ว
อาจไม่แตกต่างกันเลย ความแตกต่างระหว่างช่างภาพสองสาขาคือระยะเวลา
การทำงาน และความลึกของงาน ภาพข่าวที่ดีอาจต้องการเพียงภาพเดียว
แต่งานสารคดีต้องอาศัยเวลาเจาะลึกหัวข้อนั้นๆ ต้องมีภาพจำนวนมาก แม้มี
ภาพที่โดดเด่นหนึ่งภาพ แต่เป็นแค่ภาพที่ดีภาพหนึ่ง และงานภาพถ่ายสารคดี
ต้องการมากกว่านั้น ส่วนการที่ช่างภาพสารคดีต้องใช้เวลาเนิ่นนานอยู่กับหัวข้อ
งาน หลายครั้งนำสู่ความผูกพันกับสิ่งที่ตนกำลังบันทึกจนสูญเสียความเป็นกลาง
นี่เป็นเรื่องธรรมดาของช่างภาพสารคดี และยังไม่เป็นปัญหาใหญ่โต แต่หากเกิด
กรณีเช่นนี้เกิดกับช่างภาพข่าวอาจเป็นปัญหาใหญ่กว่า

03

ประเภทของภาพถ่ายสารคดี..
และสุนทรียศาสตร์ที่แตกต่าง

เมื่ออุปกรณ์การถ่ายภาพมีความคล่องตัวมากขึ้น
กล้องมีขนาดเล็กลง ฟิล์มมีความไวแสงมากขึ้น สุนทรียศาสตร์ภาพถ่าย
เปลี่ยนตามไปด้วย การถ่ายจากมุมสูง มุมต่ำ การแอบถ่าย ภาพเคลื่อนไหว
กลายเป็นเงาลางๆในบางส่วน การมีวัตถุโผล่ขึ้นมาบังอยู่ตรงฉากหน้า หรือ
การมีสิ่งแปลกปลอมในฉากหลัง ..เหล่านี้กลายเป็นเสน่ห์ของภาพสารคดี
การบันทึกภาพอย่างรวดเร็ว ตรงไปตรงมา ไม่เสริมแต่ง เน้นชีวิตในแง่มุมต่างๆ
รูปแบบงานภาพสารคดีดังนี้ได้พัฒนาไปสู่งานภาพถ่ายอีกประเภทหนึ่ง คือ
street photography หรือ "ภาพถ่ายชีวิตบนท้องถนน" ซึ่งเหมือนการผสม
ผสานระหว่างงานภาพข่าวและภาพสารคดี เป็นเรื่องของสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต
ในเสี้ยววินาทีสั้นๆ และถูกเก็บไว้นานเท่านาน ภาพถ่ายแนวนี้สะท้อนจุดยืนของ
ลัทธิศิลปะสมัยใหม่ และภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่ (modern photography)
อย่างชัดเจน ภาพถ่ายชีวิตบนท้องถนน (street photography) คือสิ่งที่
พัฒนามาจากภาพข่าว (photojournalism) ..และในเชิงปรัชญา ยังแยก
ย่อยออกไปอีก

อองรี คาทิเอ เบรซง (Henri Catier Bresson) ช่างภาพชาวฝรั่งเศส
เสนอแนวคิด decisive moment หรือแปลเป็นไทยพอได้ว่า "วินาทีแห่ง
การตัดสินใจ" หรือ "วินาทีฉับพลัน" อันมีที่มาจากเรื่องราวของจังหวะ เวลา
โอกาส บวกประสบการณ์ กระบวนความคิดและวิธีนำเสนอของช่างภาพแต่
ละยุคสมัยเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและเทคโนโลยี แต่หลักการไม่เคยเปลี่ยน
นั่นคือการบันทึกเหตุการณ์ตามสภาพจริงที่เป็นอยู่

นอกจากนั้นยังมีสกุลช่างที่เรียกว่า New York School
ซึ่งอยู่บนสุนทรียศาสตร์ไม่ต่างจากทั่วไป แต่เน้นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก
สนใจแง่มุมความเป็นมนุษย์ และไม่ใส่ใจเรื่องความเป็นกลางในฐานะช่างภาพ
งานในแนวนี้จะสะท้อนจุดยืนทางสังคมการเมืองของช่างภาพมากกว่าภาพถ่าย
สารคดีทั่วไป ตรงจุดนี้ทำให้ภาพถ่ายชีวิตบนท้องถนนของสกุลช่างนี้อยู่ในกลุ่ม
ศิลปะมากกว่า

และยังมีอีกสกุลช่างหนึ่งคือ New Street Photography
นำเสนอแนวคิดภาพถ่ายสมัยใหม่อย่างสุดขั้ว งานแนวนี้ไม่สนใจแง่มุมของ
ความเป็นมนุษย์มากนัก ทั้งที่เนื้อหาของภาพจะเป็นชีวิตผู้คนบนถนน
หลักสุนทรียศาสตร์ของสกุลช่างนี้ไม่แตกต่างไปจากภาพถ่ายชีวิตบนท้องถนนแนวอื่น
แต่ไม่เน้นอารมณ์ความรู้สึก เน้นที่รูปทรง (form) และจังหวะเวลาตามสภาพที่เกิด
ขึ้นจริงเท่านั้น พวกเขามองว่าชีวิตคือศิลปะในตัวเอง ช่างภาพไม่ต้องทำอะไรมากไป
กว่าบักทึกสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

ภาพถ่ายสารคดี เป็นหนึ่งในประเภทของงานที่ยืนอยู่บนหลัก
"ความเป็นภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่"และอย่างเหนียวแน่นมากที่สุดประเภท
หนึ่งเลยทีเดียว - นั่นคือภาพถ่ายเป็นภาพนิ่ง ไม่เล่าเรื่องราวต่อเนื่อง
ไม่ใช่ภาพยนตร์ ไม่ใช่จิตรกรรม สิ่งที่อยู่ในภาพถ่ายนั้นอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม
ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนอกกรอบภาพนั้นมีอะไร ไม่มีใครรู้ว่าเวลาก่อนและหลัง
ในภาพถ่ายที่ถูกบันทึกไว้นั้นเป็นอย่างไร ภาพถ่ายเป็นเสี้ยววินาทีเล็กๆเสี้ยวหนึ่ง
ของชีวิตจริง สิ่งที่เคยเกิดขึ้น และในภาพถ่ายไม่ใช่อดีต ไม่มีอนาคต มีแค่ปัจจุบัน
ในเสี้ยววินาทีที่ถูกหยุดนิ่งเอาไว้ตลอดกาล ช่างภาพอาจมีบันทึกเป็นตัวหนังสือ
ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการถ่ายภาพ แต่ไม่พร่ำเพ้อพรรณนาให้มากเกินไปกว่า
ความเป็นจริง

ภาพถ่ายสารคดีบันทึกเหตุการณ์ตามสภาพจริง 
แต่มีมิติทางความคิดเชิงปรัชญาและศิลปะควบคู่อยู่เสมอ
ถึงแม้จะมีวาทกรรมปฏิเสธความเป็นศิลปะ
แต่นั่นแค่เป็นวาทกรรมแบบเดียวกับภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่ ที่ใช้เพื่อสร้าง
อัตลักษณ์โดดเด่น..ให้แตกต่างไปจากศิลปะแขนงอื่นๆเท่านั้น ภาพถ่ายสารคดี
ที่มีคุณค่าย่อมมีมิติทางความคิดเชิงปรัชญาและศิลปะ ..ไม่ใช่แค่ภาพประกอบ

ตัวอย่างเช่น โครงการถ่ายภาพสารคดีคนขายปาท่องโก๋ หากช่างภาพบันทึก
แค่ขั้นตอนตามลำดับเวลา คนขายไปซื้อแป้งในตลาด ขั้นตอนการนวดแป้ง
การทอดและวางขาย นั่นคือภาพประกอบหนังสือทำอาหาร ไม่ใช่ลักษณะของ
ภาพถ่ายสารคดีที่ลึกซึ้งจริงจัง หากต้องการบันทึกขั้นตอนการทำปาท่องโก๋ใน
งานสารคดีชุดนี้ ต้องเป็นไปอย่างมีชั้นเชิงกว่า อาจต้องให้เห็นว่าภาพนั้นเป็น
วิถีชีวิตปกติของผู้คน แลดูเป็นภาพถ่ายชีวิต-สังคม แต่บังเอิญเห็นขั้นตอน
การทำปาท่องโก๋ในภาพนั้น ช่างภาพมีสิทธิ์ที่จะถ่ายรูปอะไรก็ได้ แต่ในขั้นตอน
การเลือกรูปมาใช้..รูปที่ถูกเลือกจะมีแค่ไม่กี่ชิ้น และในน้อยชิ้นนั้นก็ต้องบอก
เล่าเรื่องราวจริงตามสภาพจริง แล้วยังต้องมีคุณค่าชั้นเชิงทางความคิดและศิลปะ
อีกด้วย ต้องเข้าใจเสมอว่าภาพถ่ายเป็นเพียงภาพนิ่งในกรอบสี่เหลี่ยม ไม่เล่า
เรื่องต่อเนื่อง.. ไม่ใช่ภาพยนตร์ ขณะเดียวกันภาพถ่ายต้องส่งผ่านมิติทางอารมณ์
ในระดับที่แรงพอ..ที่จะเรียกร้องความสนใจ หรือโอบคนดูไว้ในห้วงอารมณ์นั้น
งานภาพถ่ายสารคดีจึงเป็นงานที่ยากและต้องอาศัยทักษะมากมายทีเดียว

ช่างภาพแต่ละคนจะมีรูปแบบสุนทรียศาสตร์เฉพาะตน หรือมีสไตล์ส่วนตัว
ซึ่งพวกเขาจะนำสไตล์ของตนมาใช้กับการถ่ายภาพเสมอ จุดนี้ทำให้งานสารคดี
มีความหลากหลาย สกุลช่างที่แตกต่างจะสร้างงานสารคดีที่ดูต่างกันไป รวมทั้ง
สิ่งที่พวกเขาเลือกที่จะบันทึกด้วย โดยทั่วไปแล้ว..องค์ประกอบภาพไม่ใช่เรื่อง
สำคัญมากนักสำหรับภาพถ่ายสารคดี เนื้อหาของงานข่าว - งานสารคดี อยู่ที่
เหตุการณ์ในภาพ เป็นเรื่องจังหวะกับเวลา นำเสนอผ่านประสบการณ์อันช่ำชอง
ของช่างภาพ และบ่อยครั้งที่เป็นความบังเอิญ เมื่อทุกอย่างจำต้องเป็นเรื่องจริง
ในห้วงเวลาจริง โอกาสนั่งปั้นแต่งองค์ประกอบภาพนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย
ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ช่างภาพมีเวลาคิด ตัดสินใจและประมวลผลอย่างนานสุดแค่
1/125 วินาทีเท่านั้น ความสมบูรณ์ทางเทคนิคหรือองค์ประกอบภาพ จึงมิใช่
ปัจจัยหลักในการพิจารณาภาพถ่ายสารคดีและภาพข่าว เนื้อหาเท่านั้นที่สำคัญ
นั่นคือ.."เกิดอะไรขึ้น เมื่อใด กับใคร อย่างไร" แต่ทั้งนี้..มิได้หมายความว่า
องค์ประกอบภาพพื้นฐานจะไม่จำเป็น ความสมบูรณ์ทางเทคนิคขั้นพื้นฐาน..และ
สุนทรียศาสตร์ยังคงเป็นส่วนสำคัญสำหรับช่างภาพที่เปี่ยมประสบการณ์ ย่อม
สามารถควบคุมปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ได้ดีในเกือบทุกสถานการณ์ อีกประการหนึ่ง
ปัจจัยที่กล่าวถึงเบื้องต้น เช่นความสมบูรณ์ทางเทคนิคมีผลต่อการสื่อสารกับคนดู
หากภาพน่าเบื่อเกินไป องค์ประกอบพื้นฐานดูรุงรังน่ารำคาญเกินไป หรือถ่ายมืด
เกินไป สว่างไป..ไม่เห็นรายละเอียดอะไรเลย แน่นอนว่าไม่มีใครอยากดูรูปพวกนี้
หรือถ้าต้องดูไปด่าไป..คงสื่อสารกับใครไม่ได้อีก หากภาพถ่ายไม่สามารถเรียก
ความสนใจ ไม่สามารถสื่อความหมายกับคนดู..เท่ากับไม่มีประโยชน์อันใด