Lewis Hines


photographs by Lewis Hines
(1) Young Russian Jewess Ellis Island New York 1905 (2) Girl worker in Carolina
cotton mill 1908 (3) Icarus atop Empire State Building New York 1931 (4) Powerhouse Mechanic 1920


Lewis Hines ลิวอิส ไฮน์

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารณัฐนลิน
บทความโดย ภูมิกมล ผดุงรัตน์ article : Poomkamol Phadungratna

ภาพถ่ายของ ลิวอิส ไฮน์ ( Lewis Hines ) เปลี่ยนสังคมอเมริกัน
ผลงานของเขา ภาพถ่ายชีวิตในโรงงานอุตสาหกรรม และการใช้แรงงานเด็ก ปลุกกระแสสังคม
ผลักดันให้เกิดกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิภาพผู้ใช้แรงงาน ควบคุมการใช้แรงงานเด็ก รวมถึงการ
ปฏิรูปการศึกษา และยังมีอิทธิพลต่องานภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่อีกด้วย


ลิวอิส ไฮน์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ( University of Chicago ) ยึดอาชีพครูบ้านนอกในรัฐวิสเคาซิน
( Wisconsin ) อันเป็นบ้านเกิด จนกระทั่ง แฟรงค์ แมนนี่ ( Frank Manny ) ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขาชักชวนให้ไป
ช่วยสอนหนังสือในนครนิวยอร์ค ( Ethical Culture School ) และช่วงปี ค.ศ. 1903 นั่นเองที่ แฟรงค์ แนะนำให้
ลิวอิส ไฮน์ ลองใช้กล้องถ่ายภาพในฐานะสื่อการสอน ..ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าเขาจะกลายเป็นช่างภาพที่มีบทบาท
มีอิทธิพลทางความคิด และ สุนทรีศาสตร์ต่อวงการศิลปะสมัยใหม่มากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์

ปี ค.ศ. 1904 ลิวอิส ไฮน์ เริ่มถ่ายภาพผู้อพยพที่เกาะเอลลิส ( Ellis Island )
อเมริกายุคนั้น เต็มไปด้วยผู้อพยพจากยุโรป คนยากจนพยายามแสวงหาโลกใหม่ โลกที่ดีกว่าบ้านเกิดของตนเอง
ทุกคนมุ่งหน้าสู่สหรัฐอเมริกา มากันมากมายจนไม่มีที่ให้อยู่อาศัย ไม่มีงานให้ทำ ไม่มีอะไรให้กิน สุมหัวกันอยู่ในนคร
นิวยอร์คจนกลายเป็นสลัมขนาดใหญ่ สภาพชีวิตยิ่งแร้นแค้นกว่าเดิมเสียอีก

ลิวอิส ไฮน์ ใช้กล้องขนาด 5 x 7 มีไฟแฟลชช่วย ซึ่งอุปกรณ์ค่อนข้างพะรุงพะรังอยู่ไม่น้อย
และบางครั้งคนที่เขาตั้งใจถ่าย ก็ไม่เป็นมิตรเท่าใด เขาจึงกลายเป็นคนที่ทำงานอย่างรวดเร็วและแม่นยำ
งานของเขาเริ่มจากการถ่ายสภาพแวดล้อมรอบเกาะ …โคลส อัพ ใบหน้า กระเป๋าเดินทาง และค่อยๆตีสนิท
กับผู้คนแถวนั้นไปเรื่อยๆ จนชาวบ้านคุ้นเคยและยอมให้เขาเข้าบ้าน เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบการทำงานของ
ช่างภาพข่าว - ภาพสารคดีเลยทีเดียว


นอกจากนั้น เขายังสามารถปลอมตัวเพื่อแทรกซึมเข้าไปในท้องถิ่นที่ไม่เป็นมิตร
กล่าวกันว่าบางครั้งเขาปลอมเป็นขอทานบ้าง เป็นพระบ้าง เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบ้างตามแต่โอกาส …

ในปี ค.ศ. 1907 เขาทำงานให้กับคณะกรรมาธิการการใช้แรงงานเด็ก ( The National Child Labor Committee )
เพื่อเก็บหลักฐานการกดขี่แรงงาน และการใช้แรงงานเด็กในสภาวะอันตราย ซึ่งเจ้าของโรงงานทั้งหลายไม่พอใจนัก
ที่รัฐบาลกลางเริ่มเข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจของพวกเขา ความเป็นปฏิปักษ์นี้ทำให้งานของช่างภาพอย่าง ลิวอิส ไฮน์
ยิ่งท้าทายขึ้นมาก - บางครั้งเขาแกล้งทำเป็นสนใจงานในงานสถาปัตยกรรม เครื่องจักรกลโรงงาน เพื่อแอบถ่ายภาพ
เด็กขณะทำงานกับเครื่องจักร โรงงาน บางแห่งไม่ยอมให้เขาเข้าไปข้างใน ก็ซุ่มอยู่ด้านนอก คอยถ่ายเด็กเดินเข้า
โรงงานตอนเช้า บางครั้ง เขาก็ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบสภาพเครื่องจักร ทำทุกอย่างเพื่อเข้าใกล้แหล่งข้อมูล

หลายครั้งที่ถูกไล่ทำร้ายกลับมา หลายครั้งถูกขู่ฆ่า

ขณะนั้นเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้อุตสาหกรรมเลิกใช้แรงงานเด็ก แต่กระแสสังคมยังเพิกเฉยอยู่
ด้านเจ้าของโรงงานส่วนมาก คำนึงถึงค่าแรงราคาถูกและผลกำไรมากกว่าอย่างอื่น จนกระทั่งหลักฐานภาพถ่ายของ
ลิวอิส ไฮน์ เผยแพร่ต่อสาธารณะในปี ค.ศ. 1916 ที่พลิกผันสถานะการณ์ โน้มน้าวสังคมเป็นแนวร่วม จนกลายเป็น
กฎหมาย และเป็นมาตราฐานใหม่ของอุตสาหกรรมปัจจุบัน



ภาพถ่าย คือสุนทรียศาสตร์แห่งศตวรรษที่ยี่สิบ

ลิวอิส ไฮน์ มีอิทธิพลต่อช่างภาพรุ่นหลังอย่างมาก ทั้งสุนทรียศาสตร์แบบของเขา อุดมการณ์ของเขา
จุดยืนในการใช้สื่อทางภาพเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำให้ศิลปภาพถ่ายมีคุณค่าและความหมายกับสังคม
กลายเป็นแบบอย่างสำหรับช่างภาพจำนวนมากมาย

แน่นอนว่างานของเขาเน้นเนื้อหา เรื่องราว เก็บหลักฐานด้วยภาพถ่ายเป็นสำคัญ มิได้คำนึงถึงทฤษฎีศิลปะ หรือ
ปรัชญานามธรรมใดๆ อย่างไรก็ตาม เสี้ยววินาทีของชีวิตที่ถูกหยุดนิ่งในภาพถ่าย ความจริงของชีวิตที่สร้างความ
สะเทือนใจแก่ผู้ดู กระตุ้นเร้าความรู้สึก เรียกร้องการมีส่วนร่วมกับพฤติกรรมสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นศิลปะอยู่ในตัวเองแล้ว
โดยมิต้องเสแสร้ง มิต้องปั้นแต่งอะไรเลย การที่วัตถุสองมิติชิ้นหนึ่งสามารถสร้างอารมณ์เศร้า โกรธ และลุ่มหลง
เกิดความครุ่นคิดไปกับภาพนั้น นั่นคือความงามแบบที่ศิลปินพยายามสรรสร้างมาช้านาน

และภาพถ่ายสามารถสื่อความรู้สึกเหล่านี้ได้
ด้วยการเสนอโลกที่เป็นจริงแก่ผู้คน พวกเขาอาจจะคุ้นเคย หรือไม่เคยรู้จักโลกนั้นมาก่อนเลย
แต่ภาพถ่ายสามารถเปิดมิติการรับรู้ของผู้คนได้อย่างง่ายดาย

กลุ่มปัญญาชนตะวันตก เริ่มตระหนักถึงคุณสมบัติของภาพถ่ายมาตั้งแต่แรกเริ่ม ติดตามพัฒนาการของสื่อนี้อย่าง
สนใจ บางคนถึงกล่าวว่าจิตรกรรมถึงจุดจบเสียแล้ว ( painting is dead ) บางคนวิตกกังวลว่าวิธีคิดของสื่อชนิดใหม่
นี้จะมาลบล้าง ทำลายแนวประเพณีความคิดเดิมๆจนหักเห บิดเบือนไปอย่างไม่รู้รอย บางคนมองว่านี่คืออนาคตของ
โลกข้างหน้า แน่นอน ปัจจุบันนี้จิตรกรรมยังคงอยู่ มิได้สาบสูญไปไหน แต่ทว่า วิธีคิดหรือกระบวนการรับรู้ของมนุษย์
เปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว เมื่อเทียบกับศตวรรษที่สิบเก้า

ลิวอิส ไฮน์ ไม่ต้องการสร้างศิลปะ แต่ทว่างานของเขาเป็นศิลปะด้วยตัวเอง

ในสมัยของ ลิวอิส ไฮน์ ( ต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ) งานศิลปะสมัยใหม่ในอเมริกายังเพิ่งเริ่มต้น แทบไม่มีใครเข้าใจเรื่อง
ประเภทนี้เลยสักคน ยกเว้นศิลปินกลุ่มเล็กๆ และคนดูไม่กี่คน วงการภาพถ่ายมีแค่สมาคมสมัครเล่น ชมรมจัดประกวด
ซึ่งเน้นเรื่องเทคนิค อุปกรณ์ต่างๆมากกว่าแนวคิดศิลปะ ท่ามกลางบรรยากาศแห่งการเริ่มต้นของลัทธิศิลปะสมัยใหม่
ช่างภาพ / ศิลปินรุ่นใหม่รวมตัวกันก่อตั้ง กลุ่มโฟโต้ ซีซีสชั่น ( Photo-Secession ) โดยมี อัลเฟรด สติกกลิซ
( Alfred Stieglitz ) เป็นแกนนำ

แม้ว่า ลิวอิส ไฮน์ มิได้อยู่ในวงการศิลปะ แต่เขาคอยติดตามความเคลื่อนไหวอยู่เสมอ

หลายคนอาจมองว่าภาพถ่ายสารคดีเชิงชีวิตและสังคม เปรียบเทียบกับภาพถ่ายศิลปะแบบ อัลเฟรด สติกกลิซ
มีวัตถุประสงค์และแนวทางที่แตกต่างกัน เป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันมาบรรจบกันได้ แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือ

อัลเฟรด สติกกลิซ เชื่อมั่นเสมอว่า ภาพถ่ายสามารถเปิดมิติการรับรู้ของมนุษย์ อย่างที่ไม่เคยมีสื่อใดเคยทำได้มาก่อน
และการบันทึกเสี้ยววินาทีของชีวิตอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องแต่งเติมอะไรลงไปในภาพ นั่นคือการดึงศักยภาพของ
สื่อภาพถ่ายมาใช้อย่างเต็มที่ ซึ่งก็คือแนวคิดของงานสเตรท (straight photography) และศิลปะสมัยใหม่ของภาพถ่าย

ขณะที่อัลเฟรด สติกกลิซ กำลังพยายามนำสื่อภาพถ่ายข้ามสู่มิติศิลปะ และแนวคิดเชิงนามธรรม
ลิวอิส ไฮน์ ก็ช่วยพิสูจน์ให้สังคมเห็นถึงพลังของภาพถ่าย ตามแนวคิดของ อัลเฟรด สติกกลิซ





Comments