War Photographer : Joe Galloway


left : work by Joe Galloway / center : Berry Pepper as Joe Galloway on film (We were soldiers) /
right : portrait of the real Joe Galloway

WAR PHOTOGRAPHY : ภาพถ่ายสงคราม
Joe Galloway : โจ กัลโลเวย์ ช่างภาพข่าวสงคราม

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารณัฐนลิน ปี 2546 / แก้ไขครั้งแรกสำหรับหนังสือศิลปะภาพถ่ายและภาพยนตร์
ของมหาวิทยาลัยสุโขทัย ฯ ปี 2548 / แก้ไขล่าสุด ปี 2553
บทความโดย ภูมิกมล ผดุงรัตน์ article : Poomkamol Phadungratna

โจ กัลโลเวย์ ( Joe Galloway ) กล่าวถึงงานภาพข่าวสงคราม
"คุณไม่อาจอยู่ในฐานะประจักษ์พยานได้ตลอดเวลา ไม่อาจลอยตัว ( เหนือสถานการณ์ )
ตัดขาดตนเองจากเรื่องราวที่กำลังบันทึก บางครั้งสถานการณ์เรียกร้องให้คุณเข้าไปส่วนร่วม
You can not always remain a witness , above and remove from the story you are
covering. There are some events which demand your participation."



โจ กัลโลเวย์ ผ่านงานภาพข่าวสงครามในเวียดนาม 
สงครามอินเดีย – ปากีสถาน สงครามอ่าวเปอร์เซีย

เรื่องราวของเขาทำให้นึกถึง โรเบิร์ต คาปา ( Robert Capa ) ในแง่มุมของช่างภาพข่าวที่ก้าวขึ้น
สู่ระดับผู้บริหาร แต่แล้วอดใจไม่ได้ที่จะย้อนกลับสู่สมรภูมิ ต่างกันที่ โรเบิร์ต คาปา เสียชีวิตใน
สนามรบ แต่ โจ กัลโลเวย์ อยู่รอดปลอดภัย

ในปี  ค.ศ. 2002  (พ.ศ. 2545) เขาอยู่ในฐานะนักเขียนอาวุโส
และที่ปรึกษาพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (รัฐบาลจอร์ช ดับเบิ้ลยู บุช)

ประสบการณ์สงครามเวียดนามจากปี ค.ศ.1965 (พ.ศ. 2508) สมรภูมิที่นองเลือดที่สุดครั้งหนึ่ง
( Ia Drang) ได้ถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ We were Soldiers ( Paramount / icon ) ซึ่งนำมาจากหนังสือ
ที่เขาเขียนร่วมกับ นายพล ฮัล มอร์ ( Hal Moore ) ผู้บังคับกองพันในศึกครั้งนั้น (ในภาพยนตร์
เมล กิบสัน / Mel Gibson แสดงเป็น ฮัล มอร์/ แบรี่ เพบเพอร์ / Berry Pepper แสดงเป็น โจ กัลโลเวย์ )
กล่าวกันว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด เมื่อเทียบกับภาพยนตร์
เกี่ยวกับสงครามเวียดนามเรื่องอื่นๆที่เคยสร้างกันมา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนาม ได้ออกแถลง
โต้แย้งในเรื่องความสมจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่านี้ โดยรัฐบาลเวียดนามระบุว่าฝ่ายอเมริกันได้
บิดเบือน และคลาดเคลื่นในความจริงอยู่หลายประการทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ตำนานของ โจ กัลโลเวย์ ช่างภาพข่าวสงครามนั้นเลื่องลือมาเป็นเวลานานแล้ว

โจเป็นชาวเทกซัส (เมือง Refuio, มลรัฐ Texas) เริ่มทำงานกับสำนักข่าวยู พี ไอ (UPI)
ตั้งแต่ ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) ระหว่างประจำสำนักงานในรัฐแคนซัส ( Kansas ) ข่าวความไม่สงบ
ในเวียดนามเรียกร้องความสนใจของเขาอยู่ตลอดเวลา แม้ขณะนั้นชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่สนใจ
อันที่จริง ชาวอเมริกันส่วนมากในเวลานั้น ไม่รู้จักประเทศเวียดนามเสียด้วยซ้ำ

ห้วงเวลานั้น การรัฐประหารเกิดขึ้นในเวียดนามใต้บ่อยครั้ง
ราวกับเป็นงานเทศกาลประจำปี มีพระสงฆ์ออกมาประท้วงรัฐบาลด้วยการเผาตัวตายกลางถนน
ภาพเหล่านี้บันทึกผ่านผลงานของช่างภาพ มัลคอม บราว ( Malcolm Browne / สำนักข่าว เอ พี AP )

โจ กัลโลเวย์เฝ้ามองด้วยใจทะยานอยาก รู้โดยสัญชาติญาณนักข่าวว่าสงครามใหญ่กำลังจะเกิด
และมันจะเป็นสงครามของอเมริกันอีกด้วย เขาวิ่งเต้นอยู่นานกว่าสำนักข่าวจะยอมย้ายเขาไปเอเชีย
เมื่อถึงสำนักงานที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เขาขอไปประจำที่ไซง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้
แต่ยังไม่สำเร็จ ( มีนักข่าว ยู พี ไอ ประจำในเวียดนามแล้ว และสำนักข่าวไม่ต้องการส่งคนไปประจำ
มากเกินไป เนื่องจากช่วงนั้นยังไม่เกิดสงคราม ) .. เขาได้แต่เฝ้ามองการผจญภัยของเพื่อนร่วมอาชีพ
จากโต๊ะทำงานของเขาในโตเกียว

ต่อมาเกิดรัฐประหารในประเทศลาว

ทิม เพจ ( Tim Page ) ซึ่งเป็น สตริงเกอร์ ( stringer ) ของยู พี ไอ
ต้องขี่รถมอเตอร์ไซค์ ลัดเลาะผ่านฐานปืนใหญ่ มาจ้างเรือข้ามแม่น้ำโขง เพื่อส่งฟิล์มให้กับ
สตริงเกอร์อีกคนหนึ่ง ชื่อ มาร์ติน สจวต ฟอกซ์ ( Martin Stuart Fox ) ซึ่งรออยู่ฝั่งประเทศไทย
และรับเรื่องไปเขียนข่าว

( สตริงเกอร์ - stringer  คือพวกทำงานให้สำนักข่าว แต่ไม่ได้สังกัดกับสำนักข่าวนั้นๆ
และค่าจ้างจะต่ำกว่าคนที่สังกัดประจำสำนักข่าว )

เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศลาวสร้างชื่อแก่ ยู พี ไอ ในฐานะที่เจาะเรื่องนี้ได้ก่อนใคร
และเหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้ โจ กัลโลเวย์ มั่นใจขึ้นอีกว่าภูมิภาคนี้กำลังจมดิ่งสู่สงครามอย่างหลีกเลี่ยง
ไม่ได้แล้ว

ทหารนาวิกโยธินอเมริกันยกพลขึ้นบกที่ ดานัง เวียดนามใต้ ต้นปี  ค.ศ.1965 (พ.ศ. 2508)
นับเป็นกำลังรบหน่วยแรกของสหรัฐตั้งแต่สงครามเกาหลี ที่เหยียบแผ่นดินเอเชีย

ความหวังของ โจ กัลโลเวย์ เป็นความจริงจนได้
เขาถูกส่งไปเวียดนาม .. บนเที่ยวบินสู่ไซง่อน เขาพบพระสงฆ์รูปหนึ่ง
ทันทีที่ถึงสนามบิน พระรูปนั้น ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเวียดนามใต้จับส่งกลับขึ้นเครื่องบินลำเดิม
เขาเล่าว่าพระเวียดนามรูปนั้นพยายามเกาะแขนเขาไว้แน่น ไม่ยอมปล่อย แต่เจ้าหน้าที่ก็ช่วยกัน
กระชากลากจูงท่านออกไป

โจ กัลโลเวย์ ใช้กล้อง YASHICA 35 mm. 
เพราะราคาถูก คุณภาพไว้ใจได้ และค่อยๆเก็บเงินซื้อ NIKON F

รายได้ของเขาขณะนั้นอยู่ที่ อาทิตย์ละ135 เหรียญสหรัฐ
ซึ่งมากกว่านักข่าว ยู พี ไอ คนอื่นๆในเอเชีย สำนักข่าวสั่งไม่ให้เขาเปิดเผยรายได้กับเพื่อนร่วมงาน
( บางคนได้น้อยกว่า 100 เหรียญ ต่ออาทิตย์ ) และสำหรับภาพถ่ายที่ ยู พี ไอ ตีพิมพ์ เขาจะได้ภาพละ
10 เหรียญ .. ถึงแม้ผู้สื่อข่าว / ช่างภาพสงครามเวียดนามจะมีเสรีภาพมากกว่าสงครามใดๆใน
ประวัติศาสตร์ แต่การเดินทางและการสื่อสารในเวียดนามนั้นยากลำบาก ส่วนมากนักข่าวจำเป็น
ต้องอาศัยยานพาหนะของกองทัพ โทรศัพท์ก็เป็นของทหาร

นักข่าว / ช่างภาพมิได้นั่งอยู่ในเมืองหลวง วิธีการส่งข่าวของพวกเขาคือต้องหาคนนำสาร
ใครก็ได้ที่จะต้องเดินทางเข้านครไซง่อน เพื่อนำฟิล์มที่ถ่ายแล้วไปส่ง ยู พี ไอ ( กลักฟิล์มจะติดป้าย
อธิบายเหตุการณ์ไว้ทุกม้วน / caption sheet ) จากนั้น ยู พี ไอ จะทำการล้างฟิล์มในส้วมของ
สำนักงาน อัดขยายเรียบร้อยก็ส่งให้คนเดินเท้าไปองค์การโทรศัพท์ เพื่อส่งรูปผ่าน radio transmitter
และ broadcast ไปญี่ปุ่น( ยู พี ไอ โตเกียว ) และจากญี่ปุ่นจะส่งสัญญาณต่อไป นิวยอร์ค

นักข่าว / ช่างภาพ เมื่อถึงเวียดนามต้องไปลงทะเบียนเพื่อขอบัตรนักข่าว
ซึ่งต้องใช้สองใบมีบัตรนักข่าวอเมริกันและบัตรนักข่าวเวียดนาม ศูนย์ปฏิบัติการกลางอยู่ที่
ตึกช้างเผือก ( White Elephant / หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า MACV Military Assistance Command ,
Vietnam ) พวกเขาต้องลงนามตามข้อตกลงห้าข้อใจความหลักคือต้องไม่นำเสนอข้อมูลทาง
ทหารระหว่างการสู้รบยังคงดำเนินอยู่ และต้องไม่เสนอข้อมูลอันเป็นประโยชน์ทางทหารแก่
ฝ่ายข้าศึก หากละเมิดข้อตกลงดังกล่าว ทางการจะยึดบัตรนักข่าวคืน

นักข่าว / ช่างภาพ ในเวียดนามขณะนั้น ( 2508 / 1965 )
นอกจากทีม ยู พี ไอ แล้วยังมีคณะของสำนักข่าว เอ พี / AP
เช่น เอ็ดดี้ อดัมส์ ( Eddie Adams ) จอห์น วีลเลอร์ ( John Wheeler ) และ บ๊อบ พูส ( Bob Poos )
สำนักข่าวรอยเตอร์ / Reuters เช่น ไซมอน ดริง ( Simon Dring )
ยิ่งนานวันวันจำนวนคนเหล่านี้ยิ่ง
เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนต้องมาเสียชีวิต ทุกคนคาดหวังข่าวเด็ด ข่าวเด่นแบบที่คนอื่นหาไม่ได้
แต่มิใช่เรื่องง่ายๆเลย แทบทุกคนจะแห่กันไปทำข่าวที่เหมือนกัน รูปถ่ายคล้ายๆกัน มีไม่กี่คนเท่านั้น
ที่สามารถเจาะข่าวเด็ดได้ก่อนใคร ดังนั้นการเข้าถึงแหล่งข่าวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

นั่นหมายถึงการมีมนุษย์สัมพันธ์อันดี
มีเพื่อนฝูงทั้งในหมู่ทหาร พลเรือน และแม้กระทั่ง..ในหมู่ศัตรู

การที่ โจ กัลโลเวย์ คบหาผู้คนมากมาย ช่วยให้งานเขาราบรื่นอย่างมาก
ไม่เฉพาะแค่ในเวียดนามเท่านั้น แต่มีประโยชน์ไปชั่วชีวิต นายทหารที่เขาพบหลายคนในสงคราม
เวียดนามต่างก้าวหน้า เป็นใหญ่เป็นโตกันหลายคน เช่น ผู้พัน นอม ชวอชคอฟ ( ยศขณะนั้น /
Norman Schwarzkopf ) ซึ่งต่อมาเป็นแม่ทัพใหญ่ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย ( ค.ศ.1991 / พ.ศ. 2534 )

ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนอม ชวอชคอฟ
ช่วยให้ โจ กัลโลเวย์ มีโอกาสเดินทางไปกับหน่วยยานเกราะ
ที่บุกเข้าโจมตีอิรัค ( 24th Mech. Infantry Division ) ขณะนักข่าวอื่นพลาดโอกาสนี้

ย้อนกลับมาเรื่องเวียดนาม..
อุปกรณ์การทำงานของเขาในสงครามเวียดนามประกอบด้วย กล้อง NIKON F ( black body )
ฟิล์ม Tri -X และ Ektachrome …สมุดโน้ต ดินสอ … C – rations ( อาหาร )
ดูเหมือนช่างภาพสนามทั่วๆไป แต่บ่อยครั้งที่เขาก้าวเข้าสู่สถานการณ์คับขัน และเข้าไปมี
ส่วนร่วมในการสู้รบ แม้ไม่ใช่หน้าที่ช่างภาพ แต่ในสภาวะขาดกำลังพล หรือเหตุชุลมุน ทุกคนต้อง
จับอาวุธขึ้นป้องกันตนเอง และสิ่งนี้ทำให้เขาเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าทหาร ทำให้เขาได้รับความ
ร่วมมือจากกองทัพด้วยดีเสมอมา

งานแรกในเวียดนามคือเดินทางไป ดานัง ด้วยเครื่องบิน C 123
ทันทีที่ถึง เจ้าหน้าที่ประสานงานของยู พี ไอ ซึ่งเป็นชาวเวียดนามเข้ามาต้อนรับและพาไปขึ้นเครื่อง
C 130 เดินทางสู่สนามรบ และจากฐานบินเล็ก พวกเขาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ CH 34 ไปยังที่เกิดเหตุ
เขาเล่าว่าเบื้องล่างเป็นทุ่งนา มีคนนอนหมอบอยู่รอบบริเวณ เมื่อเขาก้าวลงสู่พื้น ทุกอย่างอยู่ในความ
เงียบ นิ่งสงบจนน่ากลัว ทุกคนดูเหมือนหมอบราบลงกับพื้นดิน
วินาทีนั้นเองที่เขารู้ว่า สิ่งที่เขาเห็นจากเฮลิคอปเตอร์ สิ่งที่เขาคิดว่าเป็นทหารนอนหมอบบนทุ่งนา
ทั้งหมดคือศพทหารที่เสียชีวิตก่อนหน้านี้ไม่นาน บางศพทำท่าเหมือนกำลังกอดปืนไรเฟิลอยู่
เพียงแต่ปืนหายไป คำสั่งจากกองบัญชาการคือมาเก็บศพที่ปรึกษาทหารชาวอเมริกันสองคน
และหน้าที่เขาคือถ่ายภาพ..แล้วรายงานข่าว

เรือนพักนักข่าวใน ดานัง เป็นของทหารนาวิกโยธิน อยู่ริมแม่น้ำ
อาคารหลังนี้เคยเป็นซ่องโสเภณี จึงมีห้องเล็กๆให้พักมากมาย ตั้งแต่เริ่มสงคราม
ฝ่ายอเมริกันยังไม่เคยเผชิญหน้ากองทัพเวียดนามเหนืออย่างจริงจังเลยสักครั้ง นอกจากการซุ่ม
โจมตี สงครามกองโจรซึ่งทำให้ทหารนาวิกโยธินหงุดหงิดมาก ข้าศึกชอบเข้ามาอย่างเงียบเชียบ
ถล่มอย่างไม่ปรานี และหายสาบสูญไปกับความมืด หรือวิ่งเข้าปะปนกับฝูงชน ยุทธวิธีนี้ทำให้ทหาร
อเมริกันตกเป็นฝ่ายตั้งรับเสมอ อยู่ในความหวาดระแวงตลอดเวลา ส่วนการโจมตีทางอากาศในเขต
เวียดนามเหนือก็ไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าใด เพราะมีแต่ท้องนากับป่าเขา

ระหว่างนั้น ยังคงมีนักข่าว / ช่างภาพเสียชีวิตอยู่เรื่อยๆ

กองทัพบกเริ่มใช้การรบรูปแบบใหม่เป็นครั้งแรก
นั่นคือส่งกำลังรบทางเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งสามารถเข้าไปในพื้นที่ล่อแหลมได้ดีกว่า
เฮลิคอปเตอร์กลายเป็นปัจจัยหลักในการรบ รวมทั้งการส่งกำลังเสบียงทั้งหมด

เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1965
สงครามทวีความรุนแรง เมื่อกองพลน้อยที่สามเริ่มระดมกำลังไล่ล่าทหารเวียดนามเหนือ
ครั้งนี้อุปกรณ์ของโจ กัลโลเวย์ นอกจากกล้อง NIKON F สองตัว ฟิล์มและอาหารแล้ว เขายัง
ได้ปืน M 16 กระบอกใหม่ ปืนพก กระสุน ดาบปลายปืน

ท่ามกลางแนวเขาทอดยาวสู่เขมร กองกำลังอเมริกันกลับถูกข้าศึกโอบล้อม
นับเป็นครั้งแรกของการเผชิญหน้าอย่างเป็นทางการ ระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศ
ผู้บังคับกองพัน ฮัล มอร์ ปักหลักสู้อยู่หลายวันกว่าจะตีฝ่าแนวป้องกันของเวียดนามเหนือสำเร็จ

เมื่อนักข่าวทราบว่ากองกำลังของ ฮัล มอร์ ( 1st Battalion 7th U.S. Calvary )
กำลังถูกถล่ม พวกเขาก็พยายามหาทางเข้าไปทำข่าวในสนามรบ
ผู้บังคับกองพล ( Col. Tim Brown ) ยอมให้ โจ กัลโลเวย์ ขึ้น ฮ. ไปกับเขาด้วย
แต่ไม่สามารถเข้าใกล้จุดจอด X – RAY ได้ เพราะถูกระดมยิงอย่างหนัก เวลานั้น
เองที่เขาเห็น บ.ขับไล่ A – 1 E Skyraider กองทัพอากาศสหรัฐถูกยิงร่วงไปต่อหน้าต่อตา

อย่างไรก็ตาม โจ กัลโลเวย์ ยังไม่ละความพยายาม
เขามองหาทุกคนที่รู้จัก และสามารถพาเขาสู่สมรภูมิแนวหน้าได้
คืนนั้น ผู้พัน ฮัล มอร์ ( ซึ่งกำลังอยู่ในสนามรบ ) อนุญาตให้โจ กัลโลเวย์ขึ้น ฮ. มากับ
พลลำเลียงอาวุธ ฮัล มอร์ วิทยุบอกนายทหารของเขาว่า “ ถ้ามันบ้าพอที่จะมาที่นี่ และถ้ามีที่ว่าง 
ก็ให้เขามา” "If he is crazy enough to want to come in here, and you have the room, 
bring him along."

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1965
โจ กัลโลเวย์ ก้าวสู่การรบที่นองเลือดที่สุดของอเมริกันในสงครามเวียดนาม
เขาเป็นช่างภาพพลเรือนคนเดียวในสมรภูมิเลือดครั้งนั้น

สำนักข่าว ยู พี ไอ ขึ้นเงินเดือนให้เขา เป็น 150 เหรียญต่ออาทิตย์
เพราะความบ้าระห่ำของเขานั่นเอง
หลังจากอยู่ครบสิบหกเดือน เขาจึงถูกส่งไปทำข่าวที่ประเทศอื่น

ในปี  1971 (พ.ศ. 2514)
โจ กัลโลเวย์ มีโอกาสร่วมเป็นประจักษ์พยานความอำมหิตของมนุษยชาติอีกครั้ง
เมื่ออินเดียกับปากีสถานเปิดฉากทำสงครามกัน และปีนั้น เขาย้อนกลับไปเวียดนามอีกสามครั้ง

ปี  ค.ศ.1973 (พ.ศ. 2516) และปี ค.ศ.1975 (พ.ศ. 2518)
ซึ่งเป็นเวลาที่ ลาว เขมร เวียดนามแตกพ่ายแก่คอมมิวนิสต์
กว่าสองทศวรรษที่เขาทำงานให้ ยู พี ไอ ในปี 1982 จึงย้ายไปอยู่กับหนังสือ
U.S. News & World Report ในฐานะบรรณาธิการและนักเขียนอาวุโส อย่างไรก็ตาม
เมื่อเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย นักข่าว / ช่างภาพ โจ กัลโลเวย์ ก็ก้าวสู่สมรภูมินองเลือดอีกหนหนึ่ง

ในปี ค.ศ.1992 (พ.ศ. 2535 )
เขามีผลงานหนังสือออกมาสองเล่ม ( ในฐานะผู้เขียนร่วม )
เล่มหนึ่งเกี่ยวกับสงครามอ่าว Triumph Without Victory ; The Unreported History of the
Persian Gulf War ( Times Books ) และอีกเล่มเกี่ยวกับประสบการณ์เวียดนาม
We were Soldiers Once…and Young ( Random House )
ซึ่งดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา

วีรกรรมของเขาเมื่อปี 1965 แม้ผ่านเลยมาหลายทศวรรษ
แต่ดูเหมือนเพื่อนทหารในกองทัพยังไม่ลืมเลือน และในปี ค.ศ.1998
กองทัพสหรัฐได้มอบเหรียญกล้าหาญ ( Bronze Star with V ) สำหรับการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บขึ้น ฮ.
ในศึกครั้งนั้น นับเป็นพลเรือนคนเดียวที่รับเหรียญนี้

โจ กัลโลเวย์ / บทความโดย ภูมิกมล ผดุงรัตน์ / เขียนครั้งแรกพฤศจิกายน 2546
Joe Galloway / article by Poomkamol Phadungratna / November 2003 / photographer’s profile