War Photography


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารณัฐนลิน / แก้ไขครั้งแรกสำหรับหนังสือศิลปะภาพถ่ายและภาพยนตร์
ของมหาวิทยาลัยสุโขทัย ฯ ปี 2548 / แก้ไขล่าสุด ปี 2553

WAR PHOTOGRAPHY : ภาพถ่ายสงคราม
บทความโดย ภูมิกมล ผดุงรัตน์ article : Poomkamol Phadungratna

01
บทนำ : ภาพถ่ายสงคราม


ภาพถ่ายเป็นจุดเริ่มต้นของสื่อทางภาพยุคใหม่ ก่อนที่จะพัฒนาสู่ภาพยนตร์ โทรทัศน์ อินเตอร์เนต
นับแต่โลกก้าวสู่ยุคการสื่อสารมวลชน ภาพถ่ายมีบทบาทสำคัญ ในการเสนอข้อมูล ข่าวสารต่างๆ และสามารถ
โน้มน้าวความคิด มติมหาชน โดยเฉพาะการสงครามสมัยใหม่ แม้คนที่นั่งอยู่ห่างไกลสนามรบนับหมื่นกิโล ก็ยังสามารถ
รับรู้ สัมผัสความน่ากลัว หรือชื่นชมกับชัยชนะ ทั้งนี้แล้วแต่สื่อจะนำเสนอเรื่องราวนั้นอย่างไร

ในสงครามเวียดนาม มีช่างภาพมากกว่าสี่ร้อยคน ตระเวนบันทึกเหตุการณ์
โดยที่รัฐบาลอเมริกันไม่สามารถควบคุมได้ ภาพสงครามอันโหดร้ายส่งผลกระทบต่อสังคม
สร้างกระแสต่อต้านสงครามอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์

ขณะที่ปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ.1990 ) ในสงครามอ่าวเปอร์เชีย ( อิรักบุกคูเวต / อเมริกาและสหประชาชาติบุกอิรัก )
รัฐบาลอเมริกันจดจำบทเรียนจากเวียดนาม ..แม้ไม่สามารถควบคุมการทำข่าวของสื่อมวลชนได้โดยตรง แต่รัฐ
สามารถควบคุมภาพที่เผยแพร่ ออกแบบวิธีนำเสนอที่เร้าใจผู้ชม เช่นภาพจากกล้องวิดีโอติดหัวจรวดนำวิถีกำลังพุ่ง
ลงสู่เป้าหมาย หรือภาพลูกนกเปื้อนคราบน้ำมันกำลังตายอย่างช้าๆบนชายหาด (ซึ่งอ้างว่าอิรักเป็นฝ่ายเทน้ำมันลงทะเล)

หรือเหตุการณ์ก่อการร้าย 11 กันยายน พ.ศ. 2544 (ค.ศ.2001)
ที่ผู้ชมเห็นอาคารเวิร์ลเทรดค่อยๆถล่มลงมา ภาพพอทเทรตของผู้เสียชีวิต
สลับกับภาพชาวปาเลสไตน์กำลังโห่ร้องแสดงความยินดี

เหล่านี้เป็นตัวอย่างการใช้สื่อทางภาพเพื่อสร้างอารมณ์ร่วม และสามารถโน้มน้าวใจประชาชนไปในทิศทางเดียวกัน

เปรียบเทียบกับภาพเด็กหญิงชาวเวียดนาม ร่างกายเปลือยเปล่าบนถนน
วิ่งหนีความร้อนของระเบิดอเมริกันที่เพิ่งถล่มลงไปกลางหมู่บ้าน
หรือภาพพันธมิตรเวียดนามใต้จ่อยิงหัวเชลยศึกเวียดกงจนสมองกระจุย

ช่างภาพสงครามไม่ต่างไปจากช่างภาพนักเดินทางในศตวรรษที่สิบเก้า
พวกเขาเสี่ยงชีวิตเพื่อบันทึกเหตุการณ์ ตามสภาพที่เป็นอยู่จริง และไม่มีเวลามานั่งคิดถึงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ
หากแต่การนำเสนอและการตีความหมายภาพมักเป็นไปตามทัศนคติของสังคมในแต่ละช่วงเวลาเสมอ

02
พัฒนาการทางเทคโนโลยีและสงครามสมัยใหม่


อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ Photo Speak ( Gilles Mora , Abbeville Press , 1998 )
งานสะสมภาพถ่ายสงครามของพิพิธภัณฑ์ Musee de l' Armee กรุงปารีส ฝรั่งเศส ปี พ.ศ. 2439 (ค.ศ.1896)
รวมงานของช่างภาพสมัครเล่นกว่าหนึ่งพันภาพ เทียบกับงานช่างภาพอาชีพ (ว่าจ้างโดยรัฐบาล ) กล่าวว่าผลงาน
สมัครเล่นให้ข้อมูลที่หลากหลายเป็นประโยชน์มากกว่า ขณะภาพถ่ายของรัฐจะมีข้อจำกัดมุมมองนำเสนอ โดยเฉพาะ
ภาพในแง่ลบต่อรัฐผู้ว่าจ้าง ซึ่งออกแนวโฆษณาชวนเชื่อชัดเจนกว่า

ดังที่กล่าวข้างต้น ปัญหาเรื่องความไวแสงของฟิล์ม และขนาดอันใหญ่โตของอุปกรณ์การถ่ายภาพเป็นอุปสรรคสำคัญ
กับการทำงานช่างภาพสงครามในยุคแรกๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ฟิล์มมีความไวแสงมากขึ้น กล้องมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ มา
จนถึงยุคของอุปกรณ์ถ่ายภาพวิดีโอ และกล้องดิจิตอล ทำให้คล่องตัว บันทึกเหตุการณ์ชุลมุนได้อย่างง่ายดาย
บันทึกภาพและเสียงได้เสมือนนั่งอยู่กลางสมรภูมิ ขณะอาวุธสงครามสมัยใหม่รุนแรงขึ้น รบกันอย่างไร้กฎเกณฑ์มากขึ้น

ทั้งหมดนี้ เปลี่ยนลักษณะการทำงานของช่างภาพสงครามสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน
สงครามโหดร้ายขึ้นเพียงไหน เทคโนโลยีก้าวไกลเท่าใด ..ช่างภาพยิ่งเพิ่มความบ้าระห่ำมากขึ้นเท่านั้น

ในสงครามโลกครั้งที่สอง การยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรที่นอมังดี ( Normandy )
ช่างภาพจากนิตยสาร ไลฟ ( LIFE ) โรเบิร์ต คาปา ( Robert Capa ) อาสาไปกับหน่วยแรกที่ต้องขึ้นเหยียบ
ชายหาดโอมาฮา ( Omaha Beach ) ฝ่ายเยอรมันตั้งรับและต่อต้านอย่างหนัก นับเป็นวันนองเลือดที่สุดวันหนึ่งของสงคราม
แต่ช่างภาพอย่างโรเบิร์ต คาปา ยังคงวิ่งนำหน้า เพื่อจะได้หันกลับมาถ่ายภาพการยกพลขึ้นบกได้ชัดเจน

ช่างภาพมากมาย ต้องเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติงานในสงครามสมัยใหม่

ภาพถ่ายกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสงคราม
นอกจากบอกเล่าเรื่องราว ข่าวสาร ยังเป็นข้อมูลทางการทหารอีกด้วย
ก่อนยุคการจารกรรมทางดาวเทียม สหรัฐอเมริกาใช้เครื่องบิน U2 บินเหนือดินแดนฝ่ายตรงข้าม ( ประเทศคิวบา )
เพื่อถ่ายภาพความเคลื่อนไหวทางทหารเป็นประจำ (นับแต่ ฟิเดล คาสโตร Fidel Castro และคอมมิวนิสต์ขึ้นครองอำนาจ
ในคิวบา ปี 2502 /1959 ) หรือจารชนญี่ปุ่นปลอมเป็นนักท่องเที่ยว ถ่ายภาพฐานทัพสหรัฐก่อนวางแผนโจมตีอ่าวเพิร์ล
ในสงครามโลกครั้งที่สอง

ภาพถ่ายกระตุ้นเร้าความคิด สร้างอารมณ์ร่วมแก่สังคม
ซึ่งกรณีนี้สามารถพลิกได้ทั้งแง่บวกและลบ และบางครั้งการเสี่ยงชีวิตเพื่อภาพถ่าย หรือเพื่อความชอบธรรม
ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล จนกว่าภาพนั้นจะสามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง
เช่นการทำงานของกลุ่ม
สตรีอาฟกานิสถาน ในยุคที่กลุ่มตาลิบันยังครองอำนาจ ผู้หญิงกลุ่มนี้ใช้กล้องแอบถ่าย ซุกซ่อนบันทึกภาพบ้านเมือง
เหตุการณ์ต่างๆไว้มากมาย รวมทั้งมหกรรมการประหารชีวิตนักโทษหญิงกลางสนามฟุตบอลในกรุงคาบูล ตลอดระยะหลายปี
ไม่เคยมีใครสนใจเรื่องราวเหล่านี้ จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาเริ่มทำสงครามเพื่อล้มล้างรัฐบาลตาลิบัน เพื่อล่าตัว บิน ลาเดน
จึงมีการนำสารคดีชุดนี้ออกแพร่ภาพทางข่าว ซี เอ็น เอ็น ( CNN )

แม้เทคโนโลยีจะก้าวไปไกลเพียงใด ที่สุดแล้ว ช่างภาพยังคงต้องเดินเข้าสู่สถานะการณ์เสี่ยงอันตรายด้วยตนเองเสมอ
เพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการ และการเดินทางของช่างภาพมิใช่ว่ามีสิทธิพิเศษ หรือมีอิสระไปเสียทั้งหมด

ในสงครามเกาะฟอคแลนด์ ( Falkland ) ระหว่างอังกฤษ - อาร์เจนตินา ปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ.1981)
รัฐบาลอังกฤษอนุญาตให้มีช่างภาพเป็นทางการได้เพียงสามคนเท่านั้น

ในสงครามอ่าวเปอร์เชีย ปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ.1990 ) แม้นว่าไม่มีการกีดกันช่างภาพ
แต่ก็ลำบากที่จะเข้าถึงแหล่งข้อมูล อีกทั้งทางทหารยังปล่อยข่าวลวงเพื่อล่อผู้สื่อข่าวอยู่บ่อยครั้ง
(เช่นการปล่อยข่าวว่าจะยกพลขึ้นบกทางคูเวต แต่กลับบุกตรงเข้าอิรักทางทะเลทราย )
การเข้าไปถ่ายภาพในจีนหรืออีกหลายประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ในสงครามอาฟกานิสถาน ปี พ.ศ. 2544 (ค.ศ.2001) ระหว่างเริ่มโจมตีทางอากาศ
ฝ่ายตาลิบันยังคงครอบครองประเทศอยู่ ซึ่งอันตรายเกินกว่านักข่าวตะวันตกจะเดินทางเข้าไปด้วยตนเอง
ทางสำนักข่าว ซี เอ็น เอ็น จึงใช้ทีมข่าวของปากีสถานเข้าไปแทน โดยรายงานสดผ่านโทรศัพท์- ดาวเทียม ..

หรือในดินแดนที่ช่างภาพคิดว่าสถานะตนเองนั้นปลอดภัย ก็ยังมีเหตุเหนือคาดหมายขึ้นจนได้ เช่น การประท้วงในพม่า
ปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) ที่ทหารพม่าสังหารนักข่าว / ช่างภาพอิสระชาวญี่ปุ่นอย่างจงใจ และเป็นการฆ่ากลางถนน
ต่อหน้าฝูงชน และต่อหน้ากล้องตัวอื่นๆ อีกหลายตัว ทั้งที่ญี่ปุ่นเป็นมิตรกับพม่ามาโดยตลอด รัฐทหารพม่าเองก็ยังพึ่งพา
การลงทุนจากญี่ปุ่นมากพอๆกัน หรือในเหตุการณ์ล้อมปราบ สังหารหมู่ประชาชนในประเทศไทย ช่วงเดือนเมษายน และ
เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ฮิโร มูราโมโต (Hiro Muramoto)
อายุ 43 ถูกกระสุนปืนจากฝั่งทหาร ซึ่งอยู่หน้าโรงเรียนสตรีวิทย์ ขณะเขายืนอยู่กับกลุ่ม นปช. ด้านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
และต่อมาเพียงไม่กี่อาทิตย์หลังจากนั้น ในวันที่ 19 พฤษภาคม ช่างภาพชาวอิตาเลี่ยน ชื่อ Fabio Polenghi ซึ่งทำงานให้
กับสำนักข่าว SPIEGEL ของเยอรมัน ระหว่างการบุกจู่โจมค่าย นปช. บนถนนราชดำริ ช่างภาพชาวอิตาเลี่ยนผู้นี้ถูกทหาร
ยิงลงมาจากรางรถไฟลอยฟ้า ฝั่งโรงพยาบาลจุฬาฯ เสียชีวิตในทันที เหตุการณ์ในพม่าและไทยที่กล่าวข้างต้น ค่อนข้าง
อยู่เหนือความคาดหมายของคนทำงานข่าว - ช่างภาพอยู่บ้าง เพราะสภาพของ "สนามรบ" ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน


03
ภาพสัญลักษณ์ของสงคราม


เหตุการณ์สำคัญแต่ละครั้งในประวัติศาสตร์ยุคใหม่
มักมีภาพถ่ายสักภาพหรือสองภาพที่เป็นภาพสรุปของเรื่องราวทั้งหมด ภาพที่ฝังแน่นในความทรงจำคนสมัยนั้น
ภาพที่ติดตาผู้คนยุคต่อๆมา แม้ผู้ชมส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ร่วมกับเรื่องนั้นเลยสักนิด แต่สามารถเข้าใจ และ
มีอารมณ์ร่วมไปด้วยจากภาพถ่ายดังกล่าว

สิ่งนี้น่าอัศจรรย์ เมื่อภาพถ่ายคือภาพนิ่ง แช่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมสองมิติ
ไม่สามารถเล่าเรื่องราวอย่างต่อเนื่องได้ แต่กลับมีพลังมากพอที่จะเป็นบทสรุป ( ทางอารมณ์ ) ของประวัติศาสตร์
ในสงครามโลกครั้งที่สอง มีภาพถ่ายบันทึกไว้มากมายนับไม่ถ้วน แต่มีภาพหนึ่งซึ่งตราตรึงชาวอเมริกันตราบเท่าทุกวันนี้
(และสร้างความประทับใจแก่ชนชาติอื่นด้วยเช่นกัน ) นั่นคือภาพทหารนาวิกโยธินปักธงชาติบนยอดเขาซูริบาชิ หลังการ
ยกพลขึ้นบกที่ อิโวจิม่า ( Flag Raising on Iwo Jima ,1945 ) ของช่างภาพ โจ โรเซนธาล ( Joe Rosenthal )

การศึกที่ อิโจิม่า ( Iwo Jima ) เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1945
ฝ่ายอเมริกันสูญเสียทหารไปถึง หกพันแปดร้อยยี่สิบเอ็ด นาย
ในจำนวนนี้เป็นทหารจากหน่วยนาวิกโยธินเสีย ห้าพันเก้าร้อยสามสิบเอ็ดนาย ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ สี่วันหลังจากการ
ยกพลขึ้นบก และสามารถยึดยอดเขาซูริบาชิ ( Suribashi ) แนวป้องกันของญี่ปุ่น ผู้บังคับบัญชาฝ่ายอเมริกาสั่งให้ปักธง
ชาติอเมริกันไว้บนยอดเขาไม่กี่นาทีหลังจากปักธง มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงให้นำธงผืนใหม่ที่ใหญ่กว่าขึ้นไปปักแทน และนำ
ธงผืนแรกกลับลงมาด้วยเหตุผลว่า ธงผืนใหญ่..จะได้มองเห็นกันทั่วทั้งเกาะ

โจ โรเซนธาล ( Joe Rosenthal ) ช่างภาพจากสำนักข่าว เอ พี ( AP / Associated Press )
รับมอบหมายให้ถ่ายสงครามแปซิฟิก เช้าวันนั้นเขาเดินขึ้นยอดเขาซูริบาชิ พร้อมช่างภาพทหารอีกสองนาย เพื่อบันทึก
ภาพธงชาติ เขาทราบว่ามีการเปลี่ยน นำธงผืนใหญ่ขึ้นแทน จึงตั้งใจจะถ่ายภาพขณะธงผืนเล็กกำลังถูกปลดและผืนใหญ่
กำลังขึ้นแทนที่ แต่พลาดวินาทีนั้นไป เนื่องจากหามุมเหมาะยังไม่ได้ และเขาเป็นคนตัวเล็ก จึงเกิดการยืนบังกันเองขึ้น
(หนึ่งในสามนั้นเป็นช่างภาพข่าวภาพยนตร์ของกองทัพ) เขาจึงต้องขยับถอยออกมา และปีนข้ามกระสอบทรายญี่ปุ่น ..
ช่างภาพข่าวภาพยนตร์หันมาถามด้วยความเกรงใจว่า ยืนบังอยู่หรือเปล่า ช่วงเวลานั้นเอง นาวิกโยธินกำลังยกเสาธงขึ้น
และโรเซนธาล รีบกดชัตเตอร์ไว้ทันที ..วินาทีเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ภาพนั้นกำลังจะเป็นภาพประวัติศาสตร์ ไม่แน่ใจเสีย
ด้วยซ้ำว่าจะถ่ายติดอะไรมาบ้าง เขาจำได้แค่เฟรมนั้น ใช้ความเร็วชัตเตอร์ระหว่าง f. 8 - f. 11 , 1/ 400 วินาที

หลังจากเหล่าทหารเรียกร้องให้ถ่ายรูปหมู่กับธงชาติแล้ว เขาก็รีบเดินทางกลับไปลงเรือ
เพื่อส่งฟิล์มไปล้างที่ศูนย์บัญชาการข่าวสงคราม ( military press center ) ซึ่งอยู่ที่เกาะกวม (Guam) มิฉะนั้นอาจ
ส่งต้นฉบับไม่ทัน ..ในฐานะช่างภาพ งานของเขาสำหรับวันนั้นสิ้นสุดแล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ช่างเทคนิคห้องมืด เป็นหน้าที่
นักเขียน บรรณาธิการภาพ บรรณาธิการข่าว ( ซึ่งนั่งอยู่ที่ นิวยอร์ค )

ในประเทศสหรัฐอเมริกาวันรุ่งขึ้น ผู้คนทั้งประเทศตื่นเต้นกับภาพนาวิกโยธินยกธงชาติ
ภาพนั้นจับความรู้สึกของสังคมในสถานการณ์สงครามและความสูญเสีย อย่างไม่มีใครคาดถึง
ภาพของโรเซนธาล ทหารนาวิกโยธินกำลังช่วยกันยกเสาธง โน้มตัวไปทางด้านขวาของภาพ
ขณะอีกคนอยู่มุมขวา ประคองเสาไว้ โดยเอนตัวไปทางซ้ายของภาพ กลายเป็นองค์ประกอบรูปสามเหลี่ยมขึ้นมา
ส่วนเสาธงนั้นเอียงเป็นมุมสี่สิบห้าองศา ไปทางซ้าย เวลาเดียวกัน ลมพัดธงชาติโบกสะบัด ขึ้นทางมุมบนขวาของภาพพอดี
ฉากหลังเป็นทิวเขาและท้องฟ้ากว้างไกล ช่างเป็นจังหวะ และองค์ประกอบภาพที่สมบูรณ์แบบ

ในแง่ของความหมาย
เหล่าทหาร คือตัวแทนของบรรดาลูกหลานชาวอเมริกันที่ส่งไปรบ
กำลังยกธง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ปักเหนือแผ่นดินข้าศึก (สงครามนี้อเมริกาถูกญี่ปุ่นรุกรานก่อน)
สิ่งนี้มิใช่เพียงชัยชนะธรรมดา แต่เป็นการตอกย้ำเป้าหมายของการต่อสู้ที่ยาวนานร่วมสี่ปี การถูกลากเข้าสู่สงครามโลก
อันนำสู่ความพยายามปกป้องประเทศตน การร่วมใจกันสู้ของคนทั้งชาติ และในภาพ เป้าหมายกำลังจะลุล่วงแล้ว
สิ่งที่ภาพนี้กระตุ้นเร้าคืออารมณ์ร่วมของสังคม ซึ่งขณะนั้นมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน มีประสบการณ์และความเจ็บช้ำร่วมกัน
และกำลังมองเห็นผลแห่งความพยายาม ภาพถ่ายภาพนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของเรื่องราวทั้งหมด ภาพนี้คือสัญลักษณ์
ทางความรู้สึกแห่งการมีส่วนร่วมเพื่อจุดหมายเดียวกัน

แต่ไม่ใช่เรื่องราวการรักชาติแบบไม่ลืมหูลืมตา ไม่ใช่เรื่องความยิ่งใหญ่ทางทหาร

คุณสมบัตินี้ทำให้ภาพยังคงสามารถบอกเล่าเรื่องราว จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง สืบต่อกันมาร่วมห้าสิบปีแล้ว และ
ยังคงจดจำกันต่อไป นอกจากนั้นยังถูกนำไปทำโปสเตอร์ แสตมป์ และต้นแบบอนุสาวรีย์ทหารนาวิกโยธิน ที่อาลิงตัน
( Arlington ) รัฐเวอร์จิเนีย

ภาพทหารนาวิกโยธินกับธงชาติ สร้างความประทับใจในแง่บวก เป็นบทสรุปของเกียรติยศ
แต่อีกภาพหนึ่งจากสงครามเวียดนามให้ผลตรงกันข้าม ผู้คนจดจำในฐานะสัญลักษณ์ของความอัปลักษณ์
ความชั่วร้ายของสงครามสมัยใหม่ บทสรุปของความหายนะ
ภาพตำรวจชั้นผู้ใหญ่เวียดนามใต้ จ่อยิงหัวเชลยศึกเวียดกง ต่อหน้าฝูงชนและนักข่าว
ผลงานช่างภาพ เอ็ดดี้ อดัมส์ ( Eddie Adams )


กล่าวกันว่า สงครามเวียดนาม คือสงครามแห่งภาพถ่าย ด้วยจำนวนช่างภาพกว่าสี่ร้อยคน ยังมีช่างภาพโทรทัศน์ และ
นักข่าวอีกนับไม่ถ้วน ระยะเวลาการสู้รบร่วมสิบปี ( เฉพาะช่วงที่อเมริกันเข้าไปเกี่ยวข้อง ) ราวกับมหกรรมการถ่ายภาพ
ครั้งใหญ่ของโลก รวมภาพชีวิตหลากหลายรูปแบบ มีทั้งเลือดเนื้อและน้ำตา โหดอำมหิตและสวยงาม มีทั้งทหาร โสเภณี
ชาวนา นักการเมือง ฉากสู้รบดุเดือดที่ประชาชนอเมริกันยุคนั้นสามารถนั่งดูทาง ข่าวโทรทัศน์ทุกวันระหว่างอาหารค่ำ

แน่นอนว่าภาพถ่ายจากสงครามนี้ย่อมมีมากมายนับไม่ถ้วนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ภาพที่กล่าวถึงกันมากที่สุด นับแต่ยุคนั้นมาจนปัจจุบันมีอยู่ไม่กี่ภาพเท่านั้น
หนึ่งในนั้นคือ ภาพอธิบดีตำรวจเวียดนามใต้สังหารเชลยศึกเวียดกง ( Murder of a Vietcong by Saigon Police Chief ,
1968 ) ผลงานที่ เอ็ดดี้ อดัมส์ ถ่ายไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1968 ระหว่างการโจมตีวันเทศกาลเทต ( Tet Offensive /
วันปีใหม่ของเวียดนาม )

นอกจากนั้นยังมี ภาพการสังหารหมู่ชาวบ้าน หมู่บ้านมายไล ( My Lai ) 16 มีนาคม ค.ศ.1968
เหตุการณ์นี้ทหารอเมริกัน ( Charlie Company, 11th Brigade ) ลงมือสังหารชาวบ้านที่ไม่มีอาวุธ ทั้งเด็ก ผู้หญิง คนแก่
และการกระทำนี้ถูกช่างภาพหลายคนบันทึกไว้ ทั้งโทรทัศน์และภาพนิ่ง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในสังคมอเมริกัน และ
ค่อยๆกลายเป็นความแตกแยกในชาติ อย่างที่ไม่เคยปรากฏนับแต่สงครามกลางเมือง มิใช่แค่ประเด็นต่อต้านสงครามของ
คนอเมริกันเท่านั้น แต่เรื่องบานปลายสู่การต่อต้านอำนาจรัฐ และการเสื่อมอำนาจของรัฐบาลกลาง ไม่มีครั้งใดที่คนอเมริกัน
จำนวนมากขาดความเชื่อถือในการกระทำของรัฐบาลตนเอง เท่ากับในช่วงสงครามเวียดนาม และความรู้สึกเช่นนี้ยังต่อเนื่อง
มาจนปัจจุบัน

อีกภาพหนึ่งคือ การทิ้งระเบิดลงกลางหมู่บ้าน ( Trang Bang ) เมื่อ 8 มิถุนายน ค.ศ.1972
ในภาพ เด็กผู้หญิงร่างเปลือยเปล่ากำลังวิ่งหนีความร้อนของระเบิดนาปาล์ม พร้อมคนอื่นๆ
เส้นทะแยงมุมของถนนพุ่งสู่ฉากหลังซึ่งเป็นควันจากระเบิด และมีทหารอเมริกันเดินตามมา
เธออยู่ตรงฉากหน้า กลางภาพพอดี สีหน้าอันตื่นตระหนกของเด็กผู้หญิง สร้างความสะเทือนใจ
แก่ผู้คนที่อยู่ห่างไกล แม้ว่าวันเวลาจะล่วงเลยไปนานกี่ปีก็ตาม (เด็กในภาพชื่อ Pan Thi Kim Phuc)
ผลงานช่างภาพ Nick Ut

ส่วนภาพสุดท้ายของสงครามเวียดนามคือ
การอพยพหนีขึ้นเฮลิคอปเตอร์ บนหลังคาสถานทูตอเมริกัน วันที่กรุงไซง่อนแตก
เวียดนามใต้พ่ายแพ้ต่อฝ่ายเวียดนามเหนือ 30 เมษายน ค.ศ.1975 ( อเมริกานั้นถอนตัวจากสงครามตั้งแต่ ปี ค.ศ.1973
หลังจากการเจรจาลับกับเวียดนามเหนือประสบผลสำเร็จ และอเมริกาหันมาบังคับให้เวียดนามใต้เจรจาสงบศึกกับ
เวียดนามเหนือ โดยการระงับความช่วยเหลือทางการเงินแก่กองทัพเวียดนามใต้ )

ภาพที่กล่าวมาข้างต้น
ล้วนเป็นภาพที่ผู้คนยังคงจดจำ รุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่หากกล่าวถึงภาพที่สามารถเป็นบทสรุปของสงคราม
ภาพอธิบดีตำรวจเวียดนามใต้สังหารเชลยศึกเวียดกง ( Murder of a Vietcong by Saigon Police
Chief , 1968 ) ผลงาน เอ็ดดี้ อดัมส์ ( Eddie Adams ) น่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนทีเดียว

แม้ในช่วงแรก ภาพนี้อาจมิได้สร้างผลกระทบรุนแรงทางอารมณ์ในทันที
แต่กลับเป็นคำถามที่ค่อยๆเกาะกินใจสังคม นี่หรือคือสิ่งที่รัฐบาลอเมริกันสนับสนุนการประหารอย่างเลือดเย็น โดย
ปราศจากกระบวนการยุติธรรมใดๆ คำถามของสังคมคือลูกหลานชาวอเมริกันต้องล้มตายเพื่อช่วยเหลือคนพวกนี้หรือ

ภาพถ่ายภาพนี้ คำถามเหล่านี้ ค่อยๆซึมลึกในใจประชาชน
ไม่ว่าเวลาผ่านไปนานเพียงใด ..เหมือนกับตัวสงครามเวียดนามเอง

เหตุการณ์ในภาพถ่ายเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1968
ระหว่างเทศกาลปีใหม่ของเวียดนาม หรือเทศกาลเทต ซึ่งไม่มีใครคาดถึงการสู้รบที่รุนแรง หลายคนคิดว่าไม่น่าจะรบกัน
ในช่วงเทศกาลประเพณีนี้เสียด้วยซ้ำ แต่ฝ่ายเวียดนามเหนือและเวียดกง ( คอมมิวนิสต์ภาคใต้ ) ฉวยโอกาสโจมตี
เมืองใหญ่ทุกเมืองทั่วเวียดนามใต้ รวมทั้งกรุงไซง่อน เมืองหลวงของฝ่ายใต้ สงครามมิได้อยู่ในชนบท หรือป่าเขาที่
ห่างไกลอีกต่อไป การสู้รบถึงขั้นตะลุมบอนกันเกิดขึ้นกลางถนนในตัวเมือง สถานทูตอเมริกันถูกถล่มเสียหายยับเยิน
แต่ในที่สุดทหารอเมริกันสามารถตีข้าศึกให้ถอยร่นออกจากเมืองไปได้

ทหารเวียดกงคนหนึ่งถูกจับ
เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่าเป็นหัวหน้าหน่วยก่อการร้าย
แต่ฝ่ายข่าวกรองทหารระบุว่าเป็น หน่วยจารกรรม / การเมือง ยศร้อยเอก

อย่างไรก็ตาม เชลยศึกผู้นี้ถูกจับได้ขณะกำลังสังหารตำรวจ และลูกเมียคนในครอบครัวตำรวจผู้นั้นอีกหลายศพ

อธิบดีกรมตำรวจเวียดนามใต้เดินทางมายังที่เกิดเหตุ ด้วยความโกรธและโศกเศร้า จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ยิงเชลยศึกคนนั้น
แต่เจ้าหน้าที่ลังเลไม่กล้าปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งระหว่างนั้นมีช่างภาพจากสำนักข่าว เอ พี ( AP / Associated Press )
และข่าวโทรทัศน์ เอ็น บี ซี ( NBC ) อยู่ในเหตุการณ์ด้วย

เมื่อเห็นผู้ใต้บังคับบัญชาไม่กล้า เขาจึงชักปืนยิงหัวเชลยศึกผู้นั้นเสียเอง

เอ็ดดี้ อดัมส์ ช่างภาพ เอ พี บันทึกภาพนั้นไว้ทันที
ภาพนั้นสะเทือนขวัญผู้ชมทั่วโลก เป็นเหตุสนับสนุนการต่อต้านสงคราม เป็นประเด็นทางการเมืองในรัฐสภาของ
สหรัฐอเมริกา และคนส่วนมากยังคงจดจำภาพนั้นในฐานะสัญลักษณ์ของความโหดร้าย ป่าเถื่อน บุคคลในภาพคือ
อธิบดีตำรวจ (ชื่อ Nguyen Ngoc Loan) กลายเป็นผู้ร้ายตลอดกาลในความทรงจำของผู้คนทั้งโลก

แต่สำหรับ เอ็ดดี้ อดัมส์ ไม่ได้เห็นเช่นนั้นเลย เขาอยู่ในเหตุการณ์
และกล่าวว่า คนที่ถูกยิงหัวกระจุยในภาพของเขานั้น สมควรตายอย่างยิ่ง แต่เขาเป็นเพียงช่างภาพ มีหน้าที่บันทึก
เหตุการณ์ตามสภาพจริงเท่านั้น ส่วนการตีความหมายเป็นเรื่องของสังคม และไม่จำเป็นต้องมีความเห็นเหมือนช่างภาพ
หลายครั้งที่คนดูเข้าใจหรือมีความคิดไปทางตรงกันข้ามกับช่างภาพ ( ซึ่งเป็นสิทธิของคนดู / ขณะช่างภาพมีสิทธิเลือก
มุมมองนำเสนอ )

สำหรับ อธิบดีตำรวจ ( Nguyen Ngoc Loan ) ชีวิตเขามิได้พบความสงบสุขอีกเลย
หลังเหตุการณ์นั้น เขายังคงนำกำลังออกปราบปรามเวียดกงด้วยตนเองอยู่เสมอ จนกระทั่งได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการสู้รบ
เมื่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในประเทศออสเตรเลีย ก็ถูกชาวออสเตรเลียประท้วง จนต้องย้ายไปเข้าโรงพยาบาล
ในอเมริกา แต่ก็ถูกรัฐสภาอเมริกันก็ออกมาประณามสาบแช่งอยู่ทุกวัน เมื่อกลับเวียดนามก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง
หลายปีต่อมา เมื่อเวียดนามแตก เขาขอร้องให้สถานทูตอเมริกันช่วยพาครอบครัวของเขาออกนอกประเทศ แต่ถูกปฏิเสธ
เขาจึงต้องหาทางพาครอบครัวหนีออกมาเอง

เมื่อมาตั้งหลักแหล่งในอเมริกา เปิดกิจการร้านอาหาร ชีวิตเหมือนจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แต่กรรมเก่าตามหลอน
อุตส่าห์มีคนขุดคุ้ยอดีตของเขา มีความพยายามเนรเทศพวกเขาออกจากประเทศสหรัฐ ..ร้านอาหารที่กำลังจะไปได้ดี
พลอยประสบปัญหาตามไปด้วย มีคนพ่นสีในห้องน้ำร้านของเขา ด้วยถ้อยคำว่า “ เรารู้ว่าแกเป็นใคร “

สงครามเวียดนามอาจยุติไปนานแล้ว
แต่สำหรับเขาสงครามเพิ่งยุติเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2541 /ค.ศ. 1998 วันที่เขาจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็ง

เอ็ดดี้ อดัมส์ กล่าวว่า รู้สึกเสียใจกับชะตากรรมของอดีตอธิบดีตำรวจผู้นี้
เพียงภาพถ่ายภาพเดียว สามารถทำลายชีวิตคนได้ทั้งชีวิต
สิ่งที่อดีตอธิบดีตำรวจผู้นี้กระทำ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องดีงาม อย่างน้อยก็ผิดกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเชลยศึก
แต่ในสงครามนั้น คนที่กระทำสิ่งชั่วร้ายมากกว่านี้ยังมีอีกมาก มากกว่าการยิงหัวทหารข้าศึก ( ที่เพิ่งฆ่าลูกน้องของเขา )
เพียงแต่ความชั่วร้ายที่มิได้บันทึกผ่านภาพถ่าย สำหรับคนทั้งโลกแล้วเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น

สำหรับเวียดนาม สงครามมิได้จำกัดอยู่บนสนามรบ
คนเวียดนามจับอาวุธฆ่าฟันกันเอง คนอเมริกันต่างขัดแย้งกันเอง ต่อสู้และเกลียดชังกันเอง
แม้แต่ชาวโลกที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง..ก็มีส่วนร่วมกับความขัดแย้งนี้ ความอำมหิตของมนุษย์มิได้ปรากฏให้เห็นแค่ใน
สนามรบเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมเลยทีเดียว แม้การทหารจบสิ้นลงในปี พ.ศ. 2518 /ค.ศ. 1975
แต่ทว่าสงครามในใจคนยังดำเนินต่อไป



04
สงครามไร้ภาพถ่าย


หากเป็นสงครามไร้ภาพถ่าย ..เหตุการณ์จะผ่านไปราวกับไม่เคยเกิดขึ้น
ยกตัวอย่าง สงครามกู้ชาติไทยใหญ่
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนชาติไท ในรัฐฉาน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 / ค.ศ.1996 ถึงปัจจุบัน อันเป็นการกระทำของ
ทหารพม่าต่อชนชาติไต ( ไทใหญ่ / ไทลื้อ / ไทขึน ) เริ่มแต่การบังคับย้ายถิ่นฐาน เข้าไปอยู่เขตกักกัน ห้ามเรียน
ห้ามสอนภาษาไท ห้ามติดป้ายร้านค้าเป็นภาษาไท ประกาศทำทะเบียนราษฎรใหม่ โดยยกเลิกบัตรประชาชนของ
คนไทยใหญ่ทั้งหมด และไม่ออกบัตรใหม่แก่คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ขณะนั้น ( ปี พ.ศ. 2542 / ค.ศ. 1999 ) การเกณฑ์
แรงงานทาส ยึดที่ดินทำกิน การสังหารหมู่ กักขัง ทรมาน และการข่มขืน

จากรายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากล และกลุ่มสตรีรัฐฉานกล่าวว่า
เด็กและผู้หญิงชาวไท ถูกทหารพม่าข่มขืนไปแล้วจำนวน หกร้อยยี่สิบห้าคน

และเชื่อว่ามีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีกมาก แต่เจ้าทุกข์ไม่กล้าเปิดเผย บันทึกสัมภาษณ์ผู้อพยพบางส่วนถูกทำลาย เพราะ
เป็นอันตรายต่อครอบครัวในเขตยึดครองของพม่า

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มอาเซียนที่ประเทศบรูไน ปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ.2002)
มีเพียงรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาแสดงความห่วงใยในกรณีนี้ เมื่อพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหา ก็ไม่มีชาติสมาชิก
ใดสนใจติดตาม ส่วนหนึ่งมาจากความซับซ้อนของการเมืองในภูมิภาค ทุกประเทศต่างมีประโยชน์แอบแฝงของตนเอง

บางครั้งในโลกข่าวสารไร้พรมแดน หากปราศจากภาพถ่ายสุดสยองมาปลุกเร้าใจผู้ชมทางบ้านแล้ว
นับว่ายากที่จะโน้มน้าวความเห็นใจใดๆ กับกรณีการล้างเผ่าพันธุ์ชนชาติไต สิ่งที่คนไทยได้เห็นมีแค่การปะทะกันระหว่าง
กองทัพภาคที่สามของไทย และกองกำลังทหารพม่า (ที่ถูกส่งมาปราบไทยใหญ่) ภาพรถหุ้มเกราะ วี 150 ภาพทหารไทย
เดินไปมาอยู่หน้าด่านอำเภอ แม่สาย เชียงราย ( ปี 2544 / 2001 ) สถานีโทรทัศน์ ไอ ที วี นำภาพการสู้รบในฝั่งรัฐฉาน
( ระหว่างพม่าและไทยใหญ่ ) มาเผยแพร่ รวมทั้งการให้สัมภาษณ์เจ้ายอดศึก ผู้นำกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ และที่ขาด
ไม่ได้คือภาพคนไทย อพยพหลบกระสุน ไปอาศัยตามที่ราชการจัดไว้ให้ ( ซึ่งความจริง คนไทยเหล่านี้ก็เป็นญาติพี่น้อง
กับคนไทยใหญ่อีกฝั่งหนึ่ง ) นั่นคือภาพทั้งหมดเท่าที่คนไทยมีโอกาสเห็น

รัฐฉาน เป็นรัฐที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพพม่า ประชากรร่วมเก้าสิบเปอร์เซ็น
เป็นชนชาติไท หรือ ไต อยู่มาแต่ก่อนเกิดอาณาจักรสุโขทัย คนเหล่านี้ส่วนมากพูดภาษาพม่าไม่ได้ และเรียกตนเอง
ว่า คนไต ( ไท ) ในปี พ.ศ. 2505 / ค.ศ.1962 กองทัพพม่าเข้ายึดครองรัฐฉานทั้งหมด สงครามกู้ชาติจึงเริ่มขึ้นนับ
แต่นั้นจนทุกวันนี้ จุดที่น่าสนใจคือ ชาวบ้านส่วนมากจะไม่รู้จักคำว่า ฉาน แต่เรียกบ้านเมืองเขาว่า เมิงไต ( เมืองไท )

ธีรภาพ โลหิตกุล เขียนถึงที่มาคำว่า ฉาน
“ ความจริงแล้ว ชาวพม่าเขียนคำเรียกไทใหญ่เป็นตัวอักษรว่า สยาม
แต่ออกเสียงอ่านว่า ชาน หรือ ฉาน เพราะตัวอักษรของพม่านั้น ส+ย จะออกเสียงเป็น
ช หรือ ฉ ส่วนตัวสะกด ม จะออกเสียงเป็น น …ดังนั้น ฉาน หรือ ชาน
จึงเป็นคำเดียวกับ สยาม …” (หนังสือ กว่าจะรู้ค่า…คนไทในอุษาคเนย์ หน้า 110)

สงครามกู้ชาติ ดำเนินอย่างตามมีตามเกิด เหล่าเจ้าฟ้า บรรดาราชวงศ์ และกลุ่มนักการเมืองชั้นนำของประเทศ
ส่วนใหญ่ถูกทหารพม่าลวงไปฆ่าทิ้งเสียตั้งแต่แรก ซ้ำร้ายขบวนการกู้เอกราชยังถูก ขุนส่า ราชายาเสพติดครอบงำ
เสียหลายปี

และการที่สงครามนี้ไม่มี ”ภาพถ่ายในฐานะอาวุธสงคราม” นั้น
ถือว่าผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะความเป็นไปต่างๆ ล้วนตกอยู่ในความเงียบเสมอมา


ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการที่พม่าปิดประเทศแบบมิดชิด ใน เขตรัฐฉาน ก็ถือเป็นเขตสงครามที่คนภายนอกไม่สามารถ
เข้าไปได้ง่ายๆ หากเข้าพม่าทางเครื่องบิน ผ่านย่างกุ้ง จะไปถึงรัฐฉานแค่เมือง ต่องกี๊ ( ตองยี ) เท่านั้น เลยจากนั้น
ไปไม่ได้แล้ว ถ้าผ่านด่านที่แม่สาย จะเข้าได้แค่เมืองท่าขี้เหล็ก และต้องต่อไปเชียงตุง ไม่สามารถแวะออกนอกเส้นทาง
ขณะที่สนามรบ และการล้างเผ่าพันธุ์คนไทจะอยู่แถบภาคกลาง หรือตามแนวต่อระหว่างเมือง

สำหรับชาวบ้านทั่วไป ร้านบริการล้าง อัด ขยายภาพ มีอยู่ที่ ต่องกี๊ ( ตองยี ) ท่าขี้เหล็ก
เชียงตุง เท่านั้น ขนาดเมืองอันดับสองอย่าง ขุนฮิ้ง ( อยู่ภาคกลาง ) ยังไม่มีร้านอัดรูป

แม้ในช่วงที่ผ่านมา กองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ เริ่มให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการสื่อสาร
เริ่มใช้เครือข่าย อินเตอร์เนต ในการบอกเล่าข่าวสาร เรียกร้องความเห็นใจ หาแนวร่วมจากนอกประเทศ ด้วยการ
ประกาศสงครามกับยาเสพติด ตามทำลายโรงงานยาบ้าของพม่า และว้า ตลอดปี พ.ศ. 2543 – 44 (กล่าวกันว่า
นโยบายนี้ทำให้ได้กำลังสนับสนุนจากสหรัฐ ) มีการเริ่มใช้สื่อทางภาพถ่ายมากขึ้น ส่วนมากจะเป็นภาพถ่ายอาวุธ
และฐานข้าศึกที่ยึดได้ ภาพโรงงานผลิตยาเสพติดของข้าศึก (อ้างว่าเป็นของพม่า และว้าแดง ) รวมทั้งการสวน
สนามภายในฐานทัพใหญ่ที่ดอยไตแลง ( ใกล้กับแม่ฮ่องสอน )

แนวภาพไปในทำนองเดียวกับภาพถ่ายของ โรเจอร์ เฟนตัน
แต่ถ่ายด้วยกล้องคอมแพค แบบ สแนปชอต ( snapshot )

เหล่านี้นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี แม้จะทำช้าไปสี่สิบปี
อย่างไรก็ตาม ช่างภาพทหารมักมีโอกาสบันทึกแต่กิจกรรมทางทหารเป็นหลัก ขณะที่สภาพความทุกข์ยาก ตามความ
เป็นจริงของประชาชนไทใหญ่ ยังไม่มีการเก็บไว้อย่างเพียงพอ ภาพที่มีอยู่มักเป็นบ้านเรือนหลังจากถูกพม่าเผาทิ้ง
วัดวาอาราม พระพุทธรูปที่ถูกทหารพม่าทำลาย ภาพผู้อพยพเต็มด้วยบาดแผลจากการถูกทรมาน ซึ่งทั้งหมดยังไม่
สามารถเจาะลึกได้มากกว่านี้

และโอกาสที่ช่างภาพจะมีชีวิตรอดกลับมาล้างฟิล์มก็ยากเต็มทน
ฝ่ายพม่าเองระมัดระวังในเรื่องนี้มาก กล่าวกันว่า แม้ตามร้านค้า ตามแหล่งชุมนุมคนแปลกหน้าในเมืองท่าขี้เหล็ก ยังมี
ตำรวจลับพม่าคอยจับตามองอยู่เสมอ แม้กระทั่งโรงพยาบาลในแถบภาคกลางของรัฐฉาน (ที่คนต่างชาติไปไม่ถึง) ยัง
ถือเป็นเขตห้ามถ่ายรูปเสียด้วย ( ซึ่งสภาพโรงพยาบาลเลวร้ายมาก ) ด้านระบบการสื่อสารของพม่าในรัฐฉานก็ค่อนข้าง
จำกัด โทรศัพท์เป็นของหายาก การใช้โทรศัพท์มือถือก็เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และสัญญาณมือถือที่แอบใช้กันทั่วไปมา
จากเมืองไทย ระบบอินเตอร์เนตในประเทศ ถูกยกเลิกไปช่วงระยะหนึ่งเป็นเวลาหลายปี

แม้ระบบอินเตอร์เนตในพม่าจะกลับมาในภายหลัง
แต่ก็เป็นไปแบบจำกัด และวันดีคืนดี เช่นการประท้วงของพระและประชาชนพม่า ในปี พ.ศ. 2550 รัฐทหารเผด็จการ
ก็สั่งตัดสัญญาณเสียอย่างง่ายดายเช่นกัน ซึ่งไม่ค่อยต่างไปจากรัฐเผด็จการ คมช ของไทย ในปี พ.ศ. 2550 หรือ
ระหว่างการล้อมปราบและสังหารหมู่ประชาชนในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2553 ที่สัญญาณอินเตอร์เนต
ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล มักจะขาดหายเป็นช่วงๆอย่างลึกลับ รวมทั้งการตัดสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียม

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศพม่า หากกล่าวโทษรัฐบาลพม่าฝ่ายเดียวอาจไม่ยุติธรรมนัก
สงครามแบบกองโจรของกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่เองนั้น ทำให้ประชาชนไทใหญ่อยู่ในฐานะวางตัวลำบาก ไม่ว่าจะ
อยู่อย่างเป็นกลาง หรือยืนอยู่ข้างฝ่ายใดก็เดือดร้อนตลอด ความตายจากน้ำมือของทหารไทใหญ่ด้วยกันเกิดขึ้นบ่อย
ครั้งมาก และดูเหมือนเจ้ายอดศึก(ผู้นำกองทัไทยใหญ่)จะไม่สามารถคุมประพฤติหน่วยรบที่ห่างไกลจากดอยไตแลง

ธรรมชาติมนุษย์ทั่วไป มีความสนใจเฉพาะเรื่องของตนเองเท่านั้น
และไม่มีความจำเป็นต้องรับรู้ในสิ่งที่ไกลจากชีวิตประจำวัน ดังนั้นสื่อทางภาพ / ภาพถ่าย / ภาพโทรทัศน์ จึงมีความ
สำคัญอย่างที่สุดต่อการนำข้อมูล หรือความคิดที่นอกเหนือชีวิตประจำวัน เข้าสู่ระบบการรับรู้ของมนุษย์ วิธีการนี้ให้ผล
รวดเร็วกว่าและชัดเจนกว่า การสื่อสารนี้ มิใช่เพียงแค่บอกเล่าเรื่องราว แต่เป็นผลทางจิตวิทยา เพื่อป้อนภาพของความ
เป็นมนุษย์ ที่มีชีวิต มีเลือดเนื้อ ความเจ็บปวดเช่นเดียวกับผู้ชมทางบ้าน เช่นผู้คนเหล่านี้ต่างมีพี่น้อง ลูกเมีย โหยหาคน
ที่พลัดพรากเช่นเดียวกันกับผู้ชมที่อยู่ทางบ้าน เมื่อภาพของความเป็นมนุษย์(ที่กำลังเผชิญสงคราม และความทุกข์ )
เข้าสู่ระบบความเข้าใจของผู้ชม จะเริ่มนำสู่การมีอารมณ์ร่วม และค่อยๆพาไปสู่อุดมการณ์เป้าหมายในที่สุด

สงครามเวียดนามเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ในแง่ที่ว่า แรงต่อต้านสงคราม มิได้เกิดจากหลักปรัชญาการเมืองใด
แต่เริ่มจากการที่ผู้คนเริ่มมองว่าทหารอเมริกันคือลูกชายของแม่ พ่อของลูก แฟนของใครคนหนึ่ง และทหารเวียดนามก็
เช่นเดียวกัน ความตายของชาวบ้านที่ต้องการเพียงมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข

ยิ่งฝ่ายสนับสนุนสงคราม มองคู่สงครามของตนเป็นสิ่งที่ต่ำกว่ามนุษย์
ยิ่งทำให้เกิดแรงต่อต้านจากประชาคมโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ..

ขณะสงครามกู้ชาติในรัฐฉาน คนไทใหญ่ไม่เคยมีตัวตนในสายตาคนไทยและชาวโลก
พวกเขายังถูกมองแค่ แรงงานเถื่อนชาวพม่า หรือชนกลุ่มน้อยชาวพม่า และสื่อไทยในช่วงเวลานั้น
ตอกย้ำแนวคิดนี้อยู่ตลอด


สงครามที่ปราศจากภาพถ่ายนี้มีเพียงเด็ก และผู้หญิงชาวไทยใหญ่ที่ล้มตายท่ามกลางความเงียบงัน





Comments