Taryn Simon, Miru Kim and Natsumi Hayashi

Untitled Works (2012)
by Poomkamol Phadungratna (ภูมิกมล ผดุงรัตน์)


บทที่ 29
การหักเหทางสุนทรียศาสตร์ของ
ภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่..และเรื่องราวหลังจากนั้น (2)
Taryn Simon, Miru Kim and Natsumi Hayashi


01

บทสนทนาระหว่างช่างภาพ ทารั่น ไซม่อน (Taryn Simon) กับพิธีกรอาวุโส
ชาลี โรส (Charlie Rose) เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 2007 ออกอากาศ
ผ่านเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ PBS ในสหรัฐอเมริกา ขณะที่เอ่ยถึงผลงานชุด
An American Index of the Hidden and Unfamiliar (2007) เขาถามเธอว่า
ในแต่ละภาพแต่ละสถานที่ เธอกำลังมองหาสิ่งใด คำตอบของทารั่น ไซม่อนเรียบง่าย
"something that is going to be seductive" นั่นคืออะไรก็ตามที่ดึงดูดใจ..
อธิบายขยายความคือ ไม่ว่าคอนเซป..หรือแนวคิดจะเป็นอย่างไร ความดึงดูดใจเป็น
สิ่งแรกที่ภาพถ่ายควรมี สิ่งที่ชวนให้คนมอง..กระทั่งชวนลุ่มหลง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ
การสื่อสาร และที่สุดจะนำไปสู่มิติของแนวความคิดในภาพนั้นๆ ..ทารั่น ไซม่อนยังคง
ทำงานกับกล้องขนาด 4x5 ด้วยเหตุผลเรื่องความงาม เนกาทีฟขนาด 4x5 นิ้วย่อม
ให้รายละเอียดของภาพที่คมชัด แม้แต่ส่วนที่เป็นเกรน ยังมีลักษณะเฉพาะที่งานดิจิตอล
(ยังคง)ไม่สามารถลอกเลียนได้ ด้วยงานของเธอนั้นเจตนาสร้างมาเพื่อขยายใหญ่
และติดตั้งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เมื่อชาลี โรสถามต่อว่าทำไมต้องเป็นพิพิธภัณฑ์ คำถาม
ของเขามิใช่เรื่องแปลก เพราะบทสนทนานี้อยู่ในปี 2007 และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
ว่าสื่อศิลปะในศตวรรษที่ 21 แพร่กระจายทั่วในหลายรูปแบบ มิได้จำกัดอยู่กับหอศิลป์..
หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะดังเช่นศตวรรษที่ 20 คำตอบของเธอคือพิพิธภัณฑ์ศิลปะเป็นพื้นที่
ที่เธอสามารถกำหนดทุกอย่างได้ หมายถึงมุมมองและบรรยากาศโดยรวม ซึ่งเป็นที่
ทราบกันดีอีกเช่นกันว่า ในการแสดงงานศิลปะ ศิลปินมักคำนึงถึงการควบคุมมุมมอง
ต่างๆในหลายๆบริบท ไม่ว่าจะเป็นแสงไฟที่ส่องบนชิ้นงาน..หรือในพื้นที่รอบข้าง
กระทั่งวิธีที่คนดูจะเดินเข้าหางานชิ้นนั้นๆ สิ่งเหล่านี้ถูกออกแบบมาแต่แรกเริ่มโดย
คนดูจะไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองได้ถูกกำหนดพฤติกรรมนับแต่เดินเข้าสู่พื้นที่ทางศิลปะ
เรียกว่าเป็น"พื้นที่ทางอำนาจ"ของศิลปะ สิ่งนี้มิได้จำกัดอยู่แค่ในหอศิลป์ หรือใน
พิพิธภัณฑ์ศิลปะเท่านั้น แต่จะเป็นที่ไหนก็ได้ ศิลปินสามารถเปลี่ยนท้องถนนธรรมดา
ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งอำนาจของพวกเขา สามารถกำหนดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ผู้คนที่ผ่านเข้ามาในบริเวณ อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์ศิลปะ..ในทางวัฒนธรรมนั้น
ง่ายต่อการกำหนดทิศทางคนดูได้มากกว่า เป็นแบบประเพณีนิยมมากกว่า เหตุนี้จึง
เป็นไปได้ว่า ทารั่น ไซม่อนอาจรู้สึกสะดวกใจกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะในการติดตั้งภาพถ่าย
ขนาดใหญ่ของเธอ

หลายประเด็น หากฟังผ่านเพียงผิวเผิน..อาจเหมือนว่าเธอยังติดอยู่ในกรอบของ
ศิลปะสมัยใหม่ศตวรรษที่ 20 อยู่ไม่น้อย ทั้งที่เธอเป็นศิลปินรุ่นใหม่..ที่มีชื่อเสียงมาก
ที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษปัจจุบัน (ทารั่น ไซม่อนเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1975) แต่ถ้ามอง
รอบด้านจะเห็นว่าเธอผสมผสานหลายสิ่งหลายอย่างเข้ากับการทำงาน มิใช่ในกรอบ
เดิมของภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่ แต่เป็นการปรับเปลี่ยน ลื่นไหล กลมกลืนกับยุคสมัย
ภาพถ่ายที่อัดขยายใหญ่ของเธอถูกออกแบบมาให้ยืนดูในหอศิลป์ แต่ควบคู่กันไปนั้น
คือหนังสือรวมเล่มผลงานในแต่ละชุด ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มีชื่อเสียง ในหนังสือเป็น
มากกว่าการรวมภาพถ่าย แต่อาจเป็นงานแสดงอีกชิ้นหนึ่งด้วยซ้ำ เพราะแต่ละภาพของ
ทารั่น ไซม่อนจะมีข้อมูลรายละเอียดมากมาย เช่นว่ามันคืออะไร ที่ไหน เมื่อใด เรื่องราว
หลังภาพถ่ายแต่ละภาพเป็นมาอย่างไร ข้อเขียนเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของงาน..และอยู่ใน
หนังสือเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าคนดูควรต้องซื้อหนังสือราคาแพงของเธอด้วย จึงสามารถ
เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างได้ถ่องแท้..และชัดเจน

ย้อนกลับในปี 2003 งานแรกที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอ คือภาพถ่ายชุด
The Innocents ซึ่งเป็นพอทเทรต (portrait) ของผู้ต้องคดีอาญาร้ายแรงใน
สหรัฐอเมริกา บางคนต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต บางคนถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต
ความแตกต่างอยู่ที่..พวกเขาเหล่านั้นถูกปล่อยตัวเป็นอิสระแล้ว เพราะสามารถ
พิสูจน์แน่ชัดว่าพวกเขามิได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้ต้อง
ติดคุกอยู่เป็นเวลานานหลายปี หลายสิบปี..กับสิ่งที่พวกเขาไม่เคยกระทำ อาชญกรรมที่
พวกเขาไม่เคยก่อ ..งานภาพถ่ายชุดนี้เริ่มต้นด้วยความร่วมมือระหว่างทารั่น ไซม่อน
กับองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อว่า The Innocence Project ซึ่งองค์กรนี้ทำหน้าที่
ช่วยเหลือผู้คนที่ถูกศาลพิพากษาอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะคดีที่เกิดก่อนการพิสูจน์
DNA จะเป็นมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ ทารั่น ไซม่อนกล่าวถึงคดี
เจนนิเฟอร์ ทอมสัน (Jennifer Thomson) เหยื่อข่มขืน..ที่ชี้ตัวผู้ต้องหาผิดคน และ
ผู้ชายคนนั้นต้องติดคุกอยู่นานหลายปี กรณีเช่นนี้ หลายครั้งเกิดจากตำรวจเป็นผู้ชี้นำ
เอาภาพถ่ายจากแฟ้มอาชญากรรมมาให้ผู้เสียหายดู รวมทั้งภาพใครต่อใครอีกมากมาย
จนผู้เสียหาย(ซึ่งอยู่ในอารมณ์อ่อนไหว)เกิดสับสน และมักจะตัดสินใจชี้ใครก็ได้ที่พวกเธอ
รู้สึกคุ้นหน้ามากที่สุด และการที่พยานรู้สึกคุ้นหน้าคุ้นตาบุคคลในภาพ ไม่จำเป็นว่าพยาน
จะรู้จักกับคนในภาพ เพียงแค่การดูรูปซ้ำๆเป็นเวลานาน ภาพถ่ายจะเข้าไปแทนที่ความ
ทรงจำและคิดว่าสิ่งนั้นเป็นจริง หลายครั้งที่ตำรวจมีธงอยู่ล่วงหน้า..ว่าจะเอาใครเข้าคุก
มีหลายครั้งพยานจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ทั้งตำรวจ อัยการ สื่อมวลชนช่วย
กันปะติดปะต่อเหตุการณ์จนพยานคิดว่านั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แนวคิดของงานภาพถ่าย
ชุดนี้..คือความต่างระหว่างสิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นความจริง กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ บ่อยครั้ง
ที่สองสิ่งนี้เป็นคนละเรื่องกัน นิยายที่สังคมร่วมกันสร้างขึ้นมาได้กลายเป็น"ความจริง"
ในใจของพวกเขา องค์กร The Innocence Project จึงมีหน้าที่ในการพิสูจน์..และแยก
นิยายออกมาจากความจริง เพราะนิยายในใจผู้คนนั้น..ไม่ใช่ความบันเทิง แต่มีมนุษย์ที่มี
เลือดเนื้อต้องติดคุก เสียอิสระภาพ ถูกประหารชีวิต ทั้งที่ยังไม่เคยทำอะไรตามที่โดน
กล่าวหาเลย ..งานชุด The Innocents ของทารั่น ไซม่อน บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้
โดยเธอนำอดีตผู้ต้องหาเหล่านั้น ไปยังสถานที่เกิดเหตุ..และถ่ายภาพพวกเขา

ตัวอย่างหนึ่งคือภาพพอทเทรตผู้ชายชื่อ ทรอย เวบ (Troy Webb)
เขาโดนข้อหาข่มขืนและปล้นทรัพย์ ตำรวจนำภาพถ่ายของเขาให้ผู้เสียหายดู ผู้เสียหาย
คิดว่าเขาแก่เกินไป ตำรวจจึงไปคว้าภาพของเขาตอนหนุ่มๆมาให้ผู้เสียหายดูอีกครั้ง
จนกระทั่งเธอคิดไปเองว่าว่าคงเป็นเขาจริงๆ นั่นทำให้ทรอย เวบถูกพิพากษาจำคุก 47 ปี
และต้องติดอยู่นานถึง 7 ปีกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเขาไม่ใช่คนร้าย ..ในงานของทารั่น ไซม่อน
เธอพาเขาไปยังที่เกิดเหตุ..อพาร์ตเม้นย่านเวอร์จิเนียบีช มลรัฐเวอร์จิเนีย สถานที่ซึ่งเขา
ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนและปล้นทรัพย์ ..และแน่นอนที่สุด วันที่เขาไปถ่ายแบบให้ทารั่น ไซม่อน
คือวันแรกในชีวิตที่เขาเคยไปที่นั่น เหตุการณ์เช่นนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในงานภาพถ่ายชุด
The Innocents มันเป็นเรื่องหักมุม เหนือจริง และน่าสะเทือนใจไปพร้อมกัน
ทารั่น ไซม่อนกล่าวว่า "ภาพถ่ายสามารถทำให้เส้นแบ่งระหว่างความจริงกับนิยายนั้น
เลือนลาง แต่เมื่อศักยภาพนี้นำมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม กลับสร้างความไม่ชัดเจน
และความเสียหายใหญ่หลวง" (from article "Freedom Row" by Taryn Simon,
Published: January 26, 2003, The New York Times.)

02

ผลงานช่างภาพรุ่นใหม่ที่น่าสนใจอีกคนหนึ่ง
มิรุ คิม (Miru Kim) เกิดในมลรัฐแมสซาชูเสต (Stoneham, Massachusetts)
เมื่อปี ค.ศ. 1981 แต่เติบโตที่ประเทศเกาหลีใต้ บิดาของเธอเป็นนักปรัชญามีชื่อเสียง
ของเกาหลี ต่อมาเธอย้ายกลับไปเรียนที่สหรัฐฯ เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
(Columbia University) นครนิวยอร์ค และจบปริญญาโทศิลปะบัณฑิต (MFA) จาก
Pratt Institute ในปี 2006 แม้ระยะเวลาทำงานมิได้ยาวนานนัก แต่เธอก้าวสู่วงการ
ศิลปะแนวหน้าอย่างรวดเร็วมาก

เธอเริ่มต้นจากชีวิตนักศึกษาเตรียมแพทย์ หรือ pre-med
ซึ่งในสหรัฐอเมริกา คนที่จะเข้าโรงเรียนแพทย์ ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมาก่อน
หรือผ่านวิชาระดับปริญญาตรีที่กำหนดไว้ (ประมาณ 90 เครดิต) ด้วยเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้อง
กับความเป็นความตายของผู้คน แพทย์..หรือนักศึกษาแพทย์จำต้องมีวุฒิภาวะ นั่นหมายถึง
ต้องผ่านการใช้ชีวิตมาแล้วพอสมควร (โรงเรียนกฎหมายในสหรัฐฯก็ใช้หลักการเดียวกันนี้
ในการรับนักศึกษา) นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ระบบการศึกษาในสหรัฐฯกำหนดให้นักศึกษาแพทย์
นักศึกษานิติศาสตร์ ต้องผ่านชีวิตนักศึกษาปริญญาตรีมาก่อน ..มิรุ คิมเข้าเตรียมแพทย์ด้วย
ความอยากรู้อยากเห็น เธอชอบชำแหละสิ่งต่างๆเพียงเพราะอยากรู้ว่าข้างในมีอะไร ชีวิต
มหาวิทยาลัยมีเวลาให้เธอได้คิด..และเรียนรู้ว่าความปรารถนาของเธอนั้น ตอบสนองด้วย
งานศิลปะได้ดีกว่าวิชาทางการแพทย์ เธอเบนเข็มสู่วิชาศิลปะ

ระหว่างศึกษาในระดับปริญญาโท เธอสนใจชีวิตของหนูสกปรกที่เผ่นพ่านอยู่ทั่วนครนิวยอร์ค
วาดภาพลายเส้นไว้มากมาย ตามถ่ายรูปไปทุกหนแห่ง และแน่นอนว่า หนูมีชีวิตอยู่ตามท่อ
ระบายน้ำ กองขยะ ซอกมุมเร้นลับ..และไม่ใช่ที่คนปกติจะเข้าไปเดินเล่น จนวันหนึ่ง หนูเหล่านี้
ได้นำพามิรุ คิมไปพบกับโลกอีกใบหนึ่ง คือเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินของนิวยอร์ค ที่นั่นเป็นเสมือน
อีกโลกหนึ่งที่กว้างใหญ่ ซับซ้อน อยู่เพียงใต้ฝ่าเท้า..แต่ไม่มีใครนึกถึง นิวยอร์คเป็นนครเก่าแก่
ที่เป็นชุมชนเมืองมาแต่ศตวรรษที่ 17 ต่อเนื่องมาถึงช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีการสร้างอุโมงค์
ส่งน้ำประปา เครือข่ายรถไฟใต้ดิน และร้อยกว่าปีผ่านไปใต้ผืนดินนิวยอร์คกลายเป็นอีกเมือง
หนึ่งที่ซ้อนอยู่เบื้องล่าง มิรุ คิมตื่นเต้นกับการค้นพบ..และนำสู่งานภาพถ่ายสถานที่รกร้าง
อย่างไรก็ตาม เธอคิดว่าลำพังการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมหรือบรรยากาศในสถานที่ สิ่งนี้ไม่
น่าสนใจเพียงพอสำหรับเธอ จึงเริ่มมีการเพิ่มสัญลักษณ์ของชีวิต..เข้าไปในสถานที่ร้างไร้ชีวิต
สิ่งที่เธอคิดว่าง่ายที่สุด สะดวกที่สุดคือใช้ตัวเธอเป็นแบบในภาพ งานนี้ไม่ใช่ self portrait
แม้ว่านางแบบในภาพถ่ายจะเป็นตัวเธอเอง เพราะมิรุ คิมในภาพเป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ในภาพถ่าย..เธอเลือกที่จะไม่ใส่เสื้อผ้า เพื่อไม่ให้มีสัญลักษณ์..หรือร่องรอยทางวัฒนธรรมติด
อยู่กับ"สิ่งมีชีวิต"ในภาพถ่ายนั้น สภาพเปลือยเปล่าสามารถก้าวข้ามอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม
ไปได้ สิ่งที่ปรากฏจึงเป็นภาพถ่ายหญิงสาวเปล่าเปลือย ในโรงงานรกร้าง อุโมงค์ใต้ดิน ศูนย์
การค้าที่เลิกกิจการและถูกครอบคลุมด้วยต้นไม้ทุกหนแห่ง กลายเป็นความงดงามที่โรแมนติก
เธอเรียกงานชุดนี้ว่า Naked City Spleen series ซึ่งคำว่า "Naked City" เป็นชื่อเล่นของ
นครนิวยอร์คอยู่แต่เดิม

03

ทารั่น ไซม่อน และ..มิรุ คิม
ทั้งสองเป็นหนึ่งในศิลปิน-ช่างภาพที่มีผลงานโดดเด่นในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21
พวกเธอมีวิธีทำงานที่คล้ายกันบางอย่าง นั่นคืองานที่ผ่านกระบวนคิดและการวางแผน
มาอย่างรอบคอบ ทารั่น ไซม่อนใช้กล้องขนาด 4x5 และเธอไม่เคยถ่ายรูปอย่างไร้จุดหมาย
งานแต่ละชิ้น..เธอจะยิงมาแค่ไม่กี่เฟรม อีกอย่างที่น่าสนใจคือทารั่น ไซม่อนจะไม่ถ่ายรูป
เรื่อยเปื่อยในชีวิตประจำวัน เป็นช่างภาพที่ไม่พกกล้องติดตัว เธอจะกดชัตเตอร์ก็ต่อเมื่อ
แน่ใจว่าภาพนั้นเธอนำไปใช้งานได้จริง และทุกงานทุกภาพจะผ่านการวางแผน ครุ่นคิด
อีกทั้งยังเป็นงานที่ต้องร่วมมือกับใครต่อใครอีกมากมาย เช่นชุด The Innocents (2003)
ที่ต้องทำงานร่วมมือกับองค์กรสิทธิมนุษยชนคือ The Innocence Project เป็นเวลานาน
ต้องพูดคุย ร่วมมือกับอดีตผู้ต้องขังคดีอาญา ที่เธอนำมาเป็นแบบในภาพถ่ายซีรี่ย์ดังกล่าว
ยิ่งงานชุด An American Index of the Hidden and Unfamiliar (ค.ศ.2007)
ยิ่งต้องทำงานร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชนจำนวนนับไม่ถ้วน ทารั่น ไซม่อนเคยกล่าว
ว่างานประเภทภาพข่าว หรือ street photography ไม่ใช่ทางของเธอแม้แต่น้อย
ในชีวิตส่วนตัวของเธอเต็มไปด้วยความระมัดระวัง หวาดระแวง ไม่เคยคิดนำตัวเองเข้าไปสู่
สถานการณ์อันตราย (ซึ่งต่างจากช่างภาพข่าวสงครามที่วิ่งเข้าหาลูกระเบิด) ขณะเดียวกัน
เมื่อเทียบการทำงานของมิรุ คิม ..มิรุ คิมทำงานอย่างรอบคอบ วางแผนล่วงหน้า
แต่มีบุคลิกที่แตกต่าง มิรุ คิมเหมือนศิลปินสาวหลอน สนุกสานกับการเข้าสู่พื้นที่รกร้าง
ซึ่งตัวเธอมองว่ามีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ความเป็นจริงคือพื้นที่เหล่านั้นคาดเดา
ไม่ได้ ไม่มีใครรู้ว่าในโรงงานร้างมีใคร..หรือมีอะไรซุกซ่อนอยู่ ในอุโมงค์รถไฟใต้ดินอายุ
นับร้อยปีของนิวยอร์ค..คงไม่ได้ร้างไร้ชีวิตอย่างที่ทุกคนคาดหวัง แต่ทว่ามิรุ คิมสนุกกับ
การตั้งกล้องราคาแพงในสถานที่เปลี่ยว ถอดเสื้อผ้าเปลือยเปล่า วิ่งไปวิ่งมาทั่วบริเวณ..
ตามลำพัง

อีกปรากฏการณ์หนึ่งช่วงปี 2011
งานของช่างภาพคนหนึ่งปรากฏอยู่บนอินเตอร์เนต ผู้คนสนใจและแชร์ภาพเหล่านั้น
ต่อกันไป จากญี่ปุ่นกระจายสู่โลกตะวันตก สื่อมวลชนต่างชาติเริ่มค้นหาว่าช่างภาพผู้นี้
คือใคร บทสัมภาษณ์ของเธอปรากฏในหนังสือพิมพ์ประเทศอังกฤษ อีกไม่นาน..งานของ
เธอถูกนำไปแสดงนิทรรศการในฝรั่งเศส ภาพถ่ายผลงานเธอตีพิมพ์รวมเล่มในไต้หวัน ญี่ปุ่น
ทั้งหมดเป็นระยะเวลาเพียงหนึ่งปีกว่าๆ หากเรียกว่าเป็นความสำเร็จชั่วข้ามคืน..คงไม่
เกินเลยจากความจริงเท่าใดนัก และดูเหมือนความสนุกสนาน ความเรียบง่ายในภาพถ่าย
ของเธอเริ่มมีอิทธิพลต่อผู้คนจำนวนไม่น้อย มีคนลอกเลียนสไตล์ของเธออย่างบันเทิงใจ
แล้วยังส่งรูปกลับไปให้เธอได้ดูอีกต่างหาก ช่างภาพสาวคนใหม่คนนี้ เธอมีชื่อว่า
นาสุมิ ฮายาชิ (Natsumi Hayashi) และในปี ค.ศ. 2011 เธอมีอายุเพียง 17 ปี ..
เด็กมัธยมคนหนึ่งที่ทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับศิลปิน-ช่างภาพ ฮิซาจิ ฮาระ (Hisaji Hara)
ในนครโตเกียว

นาสุมิ ฮายาชิ ถ่ายภาพตัวเธอเอง..ในลักษณะของ self portrait และมิได้เป็น
สัญลักษณ์แทนค่าสิ่งอื่นใด แรงดึงดูดในงานของเธอนั้น นอกจากเป็นเด็กสาวมัธยมน่ารัก
แล้ว เด็กผู้หญิงคนนี้ไม่เคยเดินบนพื้นถนน ในทุกภาพ..นาสุมิ ฮายาชิจะล่องลอยไปตามที่
ต่างๆ ในทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะรอรถไฟ โทรศัพท์ที่ตู้สาธารณะ ทำความสะอาดบ้าน เปิดตู้
จดหมาย กระทั่งไปทำความเคารพในงานศพ งานชุดนี้ชื่อว่า Tokyo's Levitating Girl
ซึ่งหมายถึงเด็กผู้หญิงจากโตเกียวที่ลอยอยู่เหนือพื้นดิน งานของเธอถ่ายด้วยเทคนิคง่ายๆ
คือตั้งกล้องไว้แล้วใช้ชัตเตอร์สปีดความเร็วสูงพอที่จะจับภาพเคลื่อนไหวชัดเจน จากนั้นเธอ
จะกระโดดอยู่หน้ากล้องของเธอ ในท่วงท่าต่างๆที่ออกแบบไว้ จึงดูเหมือนเธอกำลังลอย
อยู่เหนือพื้น..และกำลังทำกิจกรรมประจำวัน ความน่าสนใจอีกอย่างคือส่วนมาก สิ่งนี้เกิด
ขึ้นในบริบทสังคมเมืองปกติ ผู้คนอื่นๆบนท้องถนนยังเดินผ่านไปมา ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ให้
ความสนใจกับสิ่งพิสดารที่เธอกำลังทำอยู่วินาทีนั้น เป็นภาพที่เหนือจริง..และเรียบง่าย
อย่างไรก็ตาม ความเรียบง่ายนี้มิได้เกิดขึ้นอย่างลงตัวกับทุกคน สิ่งเหล่านี้ผ่านกระบวนคิด
การวางแผน การทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ตัวเธอเองกว่าจะได้ภาพสักภาพหนึ่ง ต้องโดด
ซ้ำๆกว่าสามร้อยครั้ง

ทารั่น ไซม่อน และ มิรุ คิม ในวันนี้เป็นศิลปิน-ช่างภาพมีชื่อเสียง
พวกเธอสร้างชื่อในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่ทั้งสองมาจากพื้นฐานทางสังคมที่เกื้อหนุน
ต่อการทำงานศิลปะ เรียนหนังสือและอยู่อาศัยในศูนย์กลางทางศิลปะวัฒนธรรมตะวันตก
แน่นอนว่าเครือข่ายสังคมของพวกเธอย่อมเชื่อมโยงและเป็นประโยชน์ หากจะมีศิลปิน..
หรือนักศึกษาศิลปะจากถิ่นอื่น แม้จะอยู่อาศัยในสหรัฐฯ แต่ถ้าไม่ใช่นิวยอร์ค บอสตัน
แอลเอ ซานฟรานซิสโก ซีแอทเทิ้ล ..หากไม่ใช่เมืองใหญ่เหล่านี้ โอกาสที่จะเข้าสู่วงการ
ศิลปะกระแสหลักแทบจะไม่มีเลย หรืออย่างน้อยอาจต้องทำงานอยู่ในเมืองขนาดกลางเช่น
พอร์ตแลนด์ (ออเรกอน) ซึ่งเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกับซีแอทเทิ้ลอีกทีหนึ่ง บรรยากาศใน
ยุโรป หรือเอเชียอาจต่างบริบทไปบ้าง แต่โดยเนื้อหาแล้วคงไม่ผิดแผกไปมากกว่า
อย่างไรก็ตาม โลกศตวรรษที่ 21 ยังมีช่องทางอื่นๆที่คาดไม่ถึงอย่างเช่นการปรากฏตัวของ
นาสุมิ ฮายาชิ เด็กสาววัยสิบเจ็ด













Comments