photo timeline






update : July 1, 2013 (for PHO 250)
นี่คือ timeline แบบเรียบง่าย พอให้เห็นความเป็นไปต่างๆ สำหรับวิชา PHO 364
แล้วเราค่อยๆมาเพิ่มเติมปรับปรุงกันอีกครั้ง..เรื่อยๆ ตามสถานการณ์ (ความขยัน :)
หรืออ่านทั้งหมดได้ตามลิ้งค์นี้
go to เรื่องของภาพถ่าย Untitled Photo History รวม 29 บท



ค.ศ. 1853 - 1856 Crimean War (สงครามไครเมียน) 
อังกฤษ ฝรั่งเศส ตุรกี ร่วมกันถล่มรัสเซีย -- 
โรเจอร์ เฟนตัน (Roger Fenton) และ 
เจมส์ โรเบิร์ตสัน (James Robertson) บันทึกภาพสงคราม

ค.ศ. 1861 - 1865 
สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา 

แมทธิว เบรดี้  (Mathew Brady) อเลกซานเดอร์ การ์ดเนอร์ 
(Alexander Gardner) ทิโมธี โอ ซันลิแวน (Timothy O' Sullivan) 
และคณะช่างภาพนิรนามที่ร่วมโครงการ 

ค.ศ. 1868 - 1878 
ภาพถ่ายสำรวจดินแดนตะวันตก (สหรัฐอเมริกา) 
หลังจากสงครามกลางเมืองผ่านไปไม่นาน 
ทิโมธี โอ ซันลิแวน ( Timothy O' Sullivan ) วิลเลี่ยม เฮนรี่ แจคสัน 
( William Henry Jackson) ได้งานใหม่จากรัฐบาลสหรัฐฯ 
ภาพถ่ายสำรวจดินแดนฝั่งตะวันตกของประเทศ (ค.ศ.1868-1878) 
โครงการนี้เป็นของหน่วยงานที่ชื่อว่า the United States Geological 
and Geographical Survey หรือ USGS เพื่อประกอบการพิจารณานโยบาย
ขยายประเทศไปให้สุดชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค ..ต้นแบบของภาพถ่าย 
landscape ในปัจจุบัน 

ปลายศตวรรษที่ 19

Pictorialism (พิคโทเรี่ยลลิสซึ่ม) ประมาณ ปี ค.ศ. 1886 
หมดความนิยมในยุโรปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914 - 1918)
หมดความนิยมในสหรัฐอเมริกา..ประมาณช่วงทศวรรษ 1930 

ค.ศ. 1890 
จาคอบ รีส ( Jacob Riis ) ตีพิมพ์หนังสือ
How the Other Half Lives: Studies among the Tenements 
of New York  จุดเริ่มของงานภาพข่าว (photojournalism) ภาพถ่าย
สารคดี (documentary photography) ในมิติที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ 
อันเป็นรากฐานทางความคิดของงานในประเภทนี้..ในยุคต่อมาถึงปัจจุบัน

ค.ศ. 1892 :
The Linked Ring หรือ The Brotherhood of the Linked Ring 
ก่อตั้งปี ค.ศ. 1892 โดยช่างภาพ เฮนรี่ พีช โรบินสัน (Henry Peach Robinson) 
เป็นเสมือนเสาหลักของศิลปะภาพถ่ายพิคโทเรี่ยลลิสต์ (ในยุโรป) มาหลายทศวรรษ 
และเป็นต้นแบบของโฟโต้ซีซีสชั่น (ในสหรัฐฯ) ..อยู่มาจนปี 1909 

เริ่มศตวรรษที่ 20

ค.ศ. 1902 : 
Photo Secession (โฟโต้ซีซีสชั่น) 
ความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เกิดขึ้นในนครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา 
จากกลุ่มช่างภาพ-ศิลปินรุ่นหนุ่มสาว งานส่วนใหญ่เป็นศิลปะภาพถ่าย 
และภาพถ่ายศิลปะในยุคนั้นคือพิคโทเรียลลิสต์ อย่างไรก็ตาม กิจกรรม
ของโฟโต้ซีซีสชั่นมิได้จำกัดที่ภาพถ่ายเท่านั้น แต่รวมไปถึงศิลปะแขนงอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะ
เป็นจิตรกรรม ประติมากรรม กวี วรรณกรรม ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้นี่เองที่นำ 
"ศิลปะสมัยใหม่" หรือ modern art จากยุโรปสู่สหรัฐอเมริกา

บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในช่วงนี้ (ไปจนถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) 
อัลเฟรด สติกกลิซ (Alfred Stieglitz) 
เอ็ดเวิร์ด สไตเค่น (Edward Steichen) 

วารสาร Camera Work ตีพิมพ์ระหว่างปีค.ศ. 1903 - 1917 
เวลาเดียวกัน..ก่อตั้งหอศิลป์ 291 (New York) 
งานศิลปะสมัยใหม่ (modern art) หลากหลายแขนงเริ่มแพร่ขยายในยุโรป 

ค.ศ. 1907 (1908 ?)
ลิวอิส ไฮน์ ( Lewis Hines ) 
ทำงานให้กับคณะกรรมาธิการการใช้แรงงานเด็ก 
(The National Child Labor Committee) 
เพื่อเก็บหลักฐานการกดขี่แรงงาน และการใช้แรงงานเด็กในสภาวะอันตราย

ค.ศ. 1911 : 
เอ็ดเวิร์ด สไตเค่น (Edward Steichen) เปิดมิติใหม่..งานภาพถ่ายแฟชั่น 
(modern fashion photography) เป็นชุดออกแบบโดย couturier Paul Poiret 
และตีพิมพ์ในนิตยสาร Art et Décoration ฉบับเมษายน 1911

ค.ศ. 1913 :
นิทรรศการ Armory Show หรือ International 
Exhibition of Modern Art ในนครนิวยอร์ค รวมผลงานศิลปะสมัยใหม่จาก
ยุโรป-สหรัฐอเมริกา 1250 ชิ้น จากศิลปิน 300 คน โดยมี Association of 
American Painters and Sculptors เป็นเจ้าภาพ

สงครามโลกครั้งที่ 1 (1914 - 1918) 

ค.ศ. 1915 :
ศิลปินชาวฝรั่งเศส มาเซล ดูชอม (Marcel Duchamp) 
เดินทางไปนครนิยอร์ค และได้รู้จักกับศิลปินชาวอเมริกันชื่อ แมน เรย์ 
(Man Ray) ทั้งสองสนิทสนมและร่วมทำงานศิลปะทดลองมากมายหลายโครงการ 
กิจกรรมของพวกเขาและเพื่อนศิลปินสมัยใหม่ วนเวียนอยู่ที่แกลเลอรี่ 291 ซึ่งมี 
อัลเฟรด สติกกลิซ (Alfred Stieglitz) เป็นผู้มีส่วนร่วมสนับสนุน (ในฐานะเจ้าของ
แกลเลอรี่ 291) - ช่วงเวลานี้ศิลปะเข้าสู่ยุคดาด้า (ซึ่งภาพถ่ายมีส่วนร่วมด้วย)

ค.ศ. 1916 - 1922 :
ลัทธิดาด้า (dadaism) เริ่มต้นที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเวอร์แลนด์ 
(Zürich, Switzerland) มีบทบาทและมีแนวคิดต่อต้านศิลปะประเพณีนิยม 
ต่อต้านสงครามและกระบวนคิดทางวัฒนธรรมที่จำกัดเสรีภาพ ศิลปะดาด้านำเสนอ
ด้วยวิธีการเย้นหยัน ประชด ล้อเลียน ด้อยค่ารูปแบบประเพณีเดิม กิจกรรมเหล่านี้
แฝงนัยการเมือง 

หลังสงครามครั้งที่ 1 ยุโรปกลับมาเป็นศูนย์กลางศิลปะวัฒนธรรมสมัยใหม่

ในญี่ปุ่น..ช่วงปี 1923 มีกลุ่มศิลปินดาด้าที่ใช้ชื่อว่า MAVO 

ค.ศ. 1920 :
เพกกี้ กุกเกนฮาม (Peggy Guggenheim) ย้ายไปปารีส 
ต่อมากลายเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของงานศิลปะสมัยใหม่ 

ค.ศ. 1924 :
อังเดร เบรตง (André Breton) เขียนคำประกาศว่าด้วยความเป็นศิลปะ
เซอเรียลลิสต์ (Surrealist Manifesto) 

ช่วงทศวรรษ 1920 - 1930 เป็นจุดหักเหสำคัญ 
ทั้งภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่ (modern photography) และ ศิลปะสมัยใหม่ 

เซอเรียลลิสต์ มีอิทธิพลทางความคิดกับศิลปะในยุโรปช่วงนั้นมากมาย 
ภาพถ่ายประเภทต่างๆ เช่น งานทดลอง แฟชั่น ภาพข่าว สารคดี ล้วนมีร่องรอย
ของเซอเรียลลิสต์ปรากฏให้เห็น ขณะที่ภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่ในสหรัฐอเมริกา 
กำลังเคลื่อนสู่แนวคิด straight photography (สเตรท โฟโตกราฟฟี่) 

ย่านมองปานาส (Montparnasse) ฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน นครปารีส 
ช่วงเวลานั้น..เป็นเสมือนศูนย์รวมของงานศิลปะศิลปินหลากหลายแขนง 

ค.ศ. 1933 : 
บาวเฮ้าส์ (Bauhaus) ถูกรัฐบาลนาซี (ในประเทศเยอรมัน) บังคับให้ปิดโรงเรียน 
ศิลปิน / อาจารย์หลายคนถูกเนรเทศ หลายคนหนีไปปักหลักในสหรัฐฯ 

วันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1936 
เกิดสงครามกลางเมืองสเปน..(Spanish Civil War) 
เวลาใกล้เคียง..สงครามในประเทศจีน เมื่อญี่ปุ่นขยายดินแดนสู่แผ่นดินใหญ่ 
ปลายทศวรรษ 1930 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 

ค.ศ.1937 ถึง 1943 
โครงการภาพถ่ายสารคดีของ เอฟ เอส เอ 
( Farm Security Administration ) สนับสนุนโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา 
โครงการภาพถ่ายสารคดีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ช่างภาพ : อาเธอร์ รอทสไตน์ (Arthur Rothstein) 
มาเรียน โพสต์ วอลคอต (Marion Post- Walcott) แจ็ค เดอลาโน 
(Jack Delano) จอห์น วคอน (John Vachon) เบน ชาน (Ben Shahn) 
รัสเซล ลี( Russell Lee) วอคเกอร์ อีวาน (Walker Evans) โดโรเธีย แลงจ์ 
(Dorothea Lange) จอห์น คูลิเอ จูเนียร์ (John Collier Jr.) คาร์ล เมเดน 
(Carl Mydans) กอร์ดอน พาร์ค (Gordon Park)

คืนวันที่ 25 กันยายน 1940 
วอลเตอร์ เบนยามิน (Walter Benjamen) 
นักเขียนคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 ..เสียชีวิตลงอย่างมีเงื่อนงำ ระหว่างหลบหนี
การไล่ล่าของนาซี 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 
กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น (Cold War) และสงครามวัฒนธรรม 

หลังสงครามโลก กระแสความนิยมในงานประเภท Social Realism มีมากในยุโรป 
ขณะที่ศิลปะ Abstract Expressionism กำลังมีบทบาทมากในสหรัฐอเมริกา แต่
ช่วงเวลาเดียวกัน กระบวนคิดแบบ Social Realism กลับมีบทบาทอย่างสูงกับงาน
ภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่ (ทั้งยุโรป สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ) 

ทศวรรษ 1960 - 1970 
แนวคิดภาพถ่ายแบบพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ นิวยอร์ค (MOMA, New York) 
กลายเป็นแนวคิดกระแสหลัก ฝังรากลึกในระบบการศึกษาศิลปะระดับมหาวิทยาลัย 

ช่วงเวลาเดียวกัน เกิดกระแสต่อต้านสงครามเวียดนาม ทั่วทั้งยุโรป สหรัฐฯ และกลาย
เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่สุดของศตวรรษ งานภาพถ่าย
แบบ straight photography (สเตรท โฟโตกราฟฟี่) ซึ่งเป็นกระแสหลัก..เกิดความ
หลากหลายมากขึ้น แฝงนัยทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม 

ค.ศ. 1979 : 
ดักลาส คริม (Douglas Crimp) เขียนถึงภาพถ่ายศิลปะหลังสมัยใหม่ หรือ
postmodern photography จากนั้นเกิดกระแสภาพถ่ายศิลปะหลังสมัยใหม่ก่อตัว
กว้างขวาง สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายจนถึงปลายทศวรรษ 1980 

ในปีเดียวกัน (1979) ประมวญ บุรุษพัฒน์ กลับสู่ประเทศไทย 
ทำให้เกิดศิลปะภาพถ่ายเชิงความคิด ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศนี้

ทศวรรษ 1980 
ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่น ภาพถ่าย.. เชื่อมต่อและหลอมรวมแนวคิดศิลปะสมัยใหม่
ที่เป็นอยู่เดิม..เข้ากับศิลปะหลังสมัยใหม่ เป็นจุดสุดท้ายของสงครามเย็น 

ทศวรรษ 1990 
เริ่มทศวรรษด้วยการสิ้นสุดสงครามเย็น การล่มสลายของสหภาพโซเวียด จีนหันมาสู่
เศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ ฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมในสหรัฐอเมริกาสูญเสียเสียงข้างมาก
ทางการเมืองในประเทศ .. งานภาพถ่ายพ้นจากยุคศิลปะหลังสมัยใหม่ และกลายเป็น
สิ่งใหม่ที่ผสมระหว่างแนวคิดต่างๆ ทั้ง modernism และ postmodernism

เริ่มศตวรรษที่ 21 
ช่วงสิบปีแรก (2000 - 2010) ยังเป็นความต่อเนื่องมาจากทศวรรษ 1990 
แม้เทคโนโลยี digital มีบทบาทมากขึ้น แต่หลักการและแนวคิดต่างๆยังเชื่อมโยง
บนรากฐานเดิม (แค่มีเครื่องใหม่ๆมาให้ใช้)