Alex Prager







Alex Prager (อเลกซ์ พราเกอร์)

go to : Alex Prager 's official web

หากจะเข้าใจงานของเธอ..ในมิติที่ลึกขึ้น
ต้องย้อนกลับไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นในทศวรรษก่อนหน้า


ช่วงท้ายของทศวรรษ 1980 งานภาพถ่ายก้าวออกจากยุคโพสต์โมเดิร์น
สู่สิ่งที่เรียกกว้างๆว่า after postmodernism แม้ว่าอิทธิพลของโพสต์โมเดิร์น
ยังอยู่กับศิลปะภาพถ่ายตลอดทศวรรษ 1990 มาจนถึงปัจจุบัน (2012) แต่ได้
หลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมกระแสหลัก และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสหลัก
ไปโดยธรรมชาติ ..ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1990 เรื่อยมา เป็นช่วงเวลาที่ยากจะบ่งบอก
ชัดเจนว่า เราอยู่ในยุคอะไร กระแส..หรือรสนิยมของช่วงเวลาที่โดดเด่นนั้นเป็น
เช่นใด ดูเหมือนไม่มีคำตอบแน่นอน ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องสำหรับทุกคน เพราะ
ในห้วงเวลาดังกล่าว ศิลปะภาพถ่ายเต็มไปด้วยสไตล์หลากหลาย ไม่มีรูปแบบ..
และไม่ยึดติดรูปแบบใด นั่นเป็นสิ่งที่ภาพถ่ายศิลปะหลังสมัยใหม่ หรือโพสโมเดิร์น
(postmodern photography) ได้สร้างไว้ในทศวรรษ 1980 เป็นมรดกสืบทอด
มาจนถึงวันนี้ นั่นคือการหลอมรวมศาสตร์และศิลปะแขนงต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน ผสม
กลมกลืนกันเป็นเนื้อเดียว สิ่งสำคัญคือผู้คนยุคสมัยใหม่ (สังคมตะวันตกและญี่ปุ่น)
สามารถเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้โดยธรรมชาติเช่นกัน พวกเขาเติบโตมากับโทรทัศน์
ภาพยนตร์หลากหลายประเภท หลากรสนิยม เติบโตมากับวิดีโอเกม..รูปแบบต่างๆ
มาจนถึงยุคอินเตอร์เนต ตามด้วยการเกิดของ You Tube ในปี 2005

นั่นหมายถึง..ความเข้าใจในวัฒนธรรมทางภาพ หรือ visual culture
หลอมรวมสื่อชนิดต่างๆเข้าด้วยกันในหัวสมอง..และความทรงจำ

ภาพถ่ายของ อเลกซ์ พราเกอร์ (Alex Prager)
นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ค่อยเกิดขึ้นในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21
งานของเธอเป็นการทำซ้ำในแบบที่เรียกว่า approriation เพื่อนำไปสู่บริบทใหม่
สิ่งที่เห็นในงานของเธอมาจาก "ภาพลักษณ์" หรือ images ที่วนเวียนอยู่กับ
pop culture ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ส่วนมากมาจากภาพยนตร์ จากโฆษณา
ที่อยู่ตามสื่อกระแสหลัก เรื่องราวในภาพถ่ายของเธอเป็นจินตนาการ เป็นนิยาย
เป็นสไตล์แบบต่างๆที่เธอจับมาผสมกลมกลืน..อย่างสนุกสนาน วิธีทำงานเช่นนี้
ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่สำหรับศิลปะภาพถ่าย

ในทศวรรษ 1980 ศิลปินโพสโมเดิร์น ซินดี้ เชอร์แมน (Cindy Sherman)
เคยใช้วิธีทำซ้ำ (approriation) จากภาพลักษณ์ที่สังคมคุ้นเคยในภาพยนตร์
แล้วนำมาสร้างบริบทใหม่ งานของเชอร์แมน ถูกตีความทางการเมืองในประเด็น
บทบาทและสิทธิของสตรีในสังคมอเมริกัน อคติที่สังคมมีต่อความเป็นผู้หญิงใน
โลกตะวันตก

จากยุคนั้น..ผ่านมาอีกยี่สิบปี งานของ อเลกซ์ พราเกอร์ ใช้วิธีคล้ายกัน..
แต่ไม่มีนัยทางการเมือง ภาพถ่ายของเธอเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน..ปัจจุบัน
ถึงแม้ว่ารูปแบบ..และสไตล์ที่เห็นในภาพของเธอนั้น จะเลียนแบบ images จากยุค
1950s , 60s, 70s, 80s ปนเปกันหลายทศวรรษ แต่ทั้งหมดเป็นแค่รูปแบบ..
หรือแค่ style เธอไม่ได้สร้างโลกอดีตขึ้นมาใหม่ ไม่ได้สร้างหนังย้อนยุคที่มีความ
แม่นยำทางประวัติศาสตร์ ..ถึงแม้ว่าแต่ละภาพถ่ายของเธอสามารถ "ทำซ้ำ" ฉาก
จากยุค 1960 หรือยุคต่างๆในอดีตได้อย่างสมจริง ไม่ว่าจะเป็นทรงผม วิธีแต่งหน้า
(ซึ่งแต่ละยุคสมัยจะมีสไตล์การแต่งหน้าไม่เหมือนกัน) ของใช้ประกอบฉาก รถยนต์
เสื้อผ้า อาคารบ้านเรือน ..ความสนใจในรายละเอียดทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ช่วยให้งาน
ของเธอมีเสน่ห์ มีพลังดึงดูดใจผู้คนอย่างมากมาย ทำให้งานดูยิ่งใหญ่อลังการ

แต่ทั้งหมดไม่ใช่การโหยหาอดีต
สไตล์เหล่านั้นถูกใช้ในลักษณะ "ภาพติดตา" และบันเทิงใจช่างภาพ

เธอเกิดในปี 1979 ดังนั้นความทรงจำวัยเด็กของเธอจะเริ่มในช่วงกลางทศวรรษ
1980 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่สำคัญของอารยธรรมตะวันตก โดยเฉพาะ
ในสหรัฐอเมริกา วิธีการตัดหนังแบบมิวสิควีดิโอ เพื่อนำมาแพร่ภาพโทรทัศน์ให้กับ
MTV ซึ่งเกิดขึ้นในยุคนั้น การวางหน้าเลย์เอ้าท์นิตยสารที่ต่างออกไปจากเดิม (และ
ใช้มาถึงทุกวันนี้) ดนตรี ภาพยนตร์ การเมืองที่มีฝ่ายอนุรักษ์นิยมจากพรรครีพับลิกัน
เป็นรัฐบาล แต่บทบาททางสังคมกลับอยู่กับฝ่ายเสรีนิยม มาจนถึงยุค 1990 พร้อม
การล่มสลายของสหภาพโซเวียด จุดจบของสงครามเย็น จุดเริ่มของสงครามแบบใหม่
ในยุคที่สหรัฐฯ..ในรัฐบาลของบิล คลินตัน นำประเทศสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจสูงสุด
ล่วงถึงทศวรรษปัจจุบัน..ศตวรรษที่ 21 เธออยู่ในวัยผู้ใหญ่เต็มตัว ผ่านประสบการณ์
ชีวิตโชกโชน ..และงานของเธอนั้น ไม่ใช่การโหยหาอดีต แต่เป็นการเล่นสนุกสนานกับ
สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทุกภาพย้อนยุคของเธอ.. สะท้อนกลับมาที่ชีวิตในทศวรรษนี้ทั้งสิ้น

ในงานศิลปะภาพถ่าย การเล่าเรื่องเชิงนิยายไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นงาน
พิคโทเรี่ยลลิสต์ปลายศตวรรษที่ 19 หรืองานเชิง biographical narrative (เล่า
เรื่องส่วนตัว) ในศตวรรษที่ 20 ..และเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า นิยายสามารถสะท้อน
ชีวิตจริงได้ในมิติที่ลึกกว่า เป็นนามธรรมมากกว่า ดังนั้นศิลปะภาพถ่ายจำนวนมากที่
เลือกเดินในแนวของนิยาย (fiction) คือเหมือนเรื่องจริง..แต่ไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด
เหมือนกำลังพูดถึงชีวิตตนเอง..แต่จริงแล้วกำลังเล่าเรื่องชีวิตคนอื่น นี่เป็นแค่ตัวอย่าง
บางส่วน ..และ อเลกซ์ พราเกอร์ เล่าเรื่องในลักษณะเดียวกัน

การผสมสไตล์ตั้งแต่ยุค 50s หรือยุคสมัยต่างๆเรื่อยมา เป็นเรื่องน่าบันเทิง
และยังไม่ใช่สิ่งยากเย็นในสังคมอเมริกัน นั่นเพราะผู้คนส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะใน
สังคมเมือง) จะเคยดูหนังตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งสอง มาจนถึงหนังที่เพิ่ง
ออกฉายเมื่อวานนี้ พวกเขาคุ้นเคย..รู้จักภาพเหล่านั้นเป็นอย่างดี ยิ่งปัจจุบันมี
You Tube แหล่งรวมของทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นภาพเคลื่อนไหว เปิดดูเมื่อใดก็ได้
นอกจากนั้น ชุมชนส่วนใหญ่ ร้านขายหนังสือการ์ตูนยังเป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญ
ด้าน pop culture เวียนวนสังสรรค์กันเป็นประจำ สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมเช่นนี้
ทำให้ง่ายกับการสร้างสรรค์ และสิ่งที่ อเลกซ์ พราเกอร์ สร้างขึ้น จึงมีผู้คนเข้าใจได้
ในทันทีเช่นกัน

อีกประเด็นที่น่าสนใจ อเลกซ์ พราเกอร์ไม่ได้หยุดอยู่แค่ภาพนิ่ง
ภาพนิ่งของเธอได้ขยายออกไปเป็นภาพเคลื่อนไหวด้วย เธอไม่ได้มองเป็นหนังสั้น
ไม่ได้คิดว่ากำลังสร้างภาพยนตร์ แต่เธอยังคงมองว่านี่คือภาพถ่าย.. ต่างแค่ภาพถ่าย
บางชุดของเธอเคลื่อนไหวได้ คำถามคือ..แล้วชุดภาพเคลื่อนไหวที่เธอทำ ต่างกับการ
ทำหนังสั้นอย่างไร ในกระบวนการผลิตคงไม่มีอะไรแตกต่าง แต่กระบวนคิดต่างหากที่
จะไม่เหมือนกัน การทำภาพยนตร์เป็นศาสตร์อีกแขนง มีหลักวิชา มีวิธีการมองเรื่องราว
อีกแบบหนึ่ง ..การทำงานภาพถ่าย(ที่เป็นภาพนิ่ง)ก็เช่นกัน มีมิติเฉพาะของตนเอง และ
ไม่เหมือนภาพยนตร์ คราวนี้..เมื่อช่างภาพ(นิ่ง) ขยับเข้าสู่มิติของภาพเคลื่อนไหว ที่
ไม่ใช่การสร้างภาพยนตร์ ..อเลกซ์ พราเกอร์ นำกระบวนคิดเฉพาะในแบบภาพถ่ายเข้า
มาใช้ทั้งหมด นั่นคือหลักการบางอย่างที่อาจมีในการสร้างภาพยนตร์ แต่ไม่สะดวก..หรือ
ขัดแย้งกับความต้องการในฐานะช่างภาพ(นิ่ง) จะถูกตัดทิ้งออกไป การเล่าเรื่องตาม
หลักของภาพยนตร์จะไม่สำคัญ สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีเพียงแค่ อเลกซ์ พราเกอร์ มองเห็นอะไร
เท่านั้น ปรากฏการณ์นี้น่าสนใจ ภาพถ่ายของเธอ มีภาพยนตร์เป็นแรงบันดาลใจ
ภาพถ่ายของเธอในที่สุด ขับเคลื่อนไปสู่ภาพเคลื่อนไหว..ในแบบเดียวกับภาพยนตร์
แต่มีมุมมอง มีกระบวนคิดที่แตกต่าง สิ่งนี้เกิดขึ้น.. และกำลังพัฒนาอยู่ น่าติดตามว่า
อนาคตจะคลี่คลายไปอย่างไร











Comments